แอพจีนส่งอาหารตามบ้านถูกกล่าวหาเอาเปรียบพนักงานในออสเตรเลีย

NEWS: กระเป๋าจัดส่งอาหารสีเหลืองของบริษัทนี้พบเห็นได้บ่อยขึ้นในออสเตรเลีย แต่ธุรกิจที่ถูกเรียกกันเล่นๆ ว่า “อูเบอร์อีทส์ จีน” กำลังเผชิญข้อกล่าวหาอย่างเดียวกับบริษัทออนไลน์ยักษ์ใหญ่หลายๆ แห่งที่ให้บริการส่งอาหารตามบ้าน

Kiet is a delivery rider for Easi. (SBS News)

เคียต พนักงานขี่จักรยานส่งอาหารให้ Easi Source: SBS News

You can read this full article in English on SBS News 

เคียต เดินทางมายังออสเตรเลียเพื่อเรียนภาษาอังกฤษ แต่เรามักจะเห็นเขาผลุบๆ โผล่ๆ ตามร้านอาหารในย่านไชนาทาวน์ ของซิดนีย์ เพื่อรับอาหารไปส่งให้ลูกค้าตามบ้าน

การทำงานเป็นพนักงานส่งอาหารตามบ้านเป็นงานที่ยืดหยุ่นได้สูงสำหรับนักเรียนจากประเทศมาเลเซียผู้นี้ แต่งานนี้ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นงานที่ให้ค่าตอบแทนอย่างดี เนื่องจากว่าหลังส่งอาหารไปแล้วแต่ละครั้ง เขาต้องรอคอยนานมากจึงจะได้รับมอบหมายงานครั้งต่อไป โดยฐานค่าจ้างที่เขาได้รับนั้นเพียงแค่ 6 ดอลลาร์ ต่อการนำอาหารไปส่ง 1 ครั้ง ซึ่งหมายความว่าในการทำงานทั้งวัน เขาอาจได้รับเงินค่าจ้างรวมทั้งหมดไม่ถึง 150 ดอลลาร์ ซึ่งต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย

“บางครั้งผมต้องรอนาน 1-2 ชั่วโมง” เขาบอกกับ เอสบีเอส นิวส์ พร้อมเสริมว่าบ่อยครั้งที่เขาถูกบีบให้ต้องเสี่ยงขี่จักรยานส่งอาหารไปตามถนนที่มีรถพลุกพล่าน

 “ผมไม่มีประกันอะไรเลย ถ้ามีอะไรเกิดขึ้น ผมก็ขอเคลมประกันไม่ได้ งานนี้มันอันตรายมากด้วย” เคียต เล่า
An Easi delivery bike in Sydney's Chinatown.
จักรยานส่งอาหารตามบ้านของ Easi ในย่านไชนาทาวน์ ของซิดนีย์ Source: SBS
เคียตรับงานส่งอาหารจาก ซิดนีย์ เดลิเวอรี (Sydney Delivery) ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ของแอพพลิเคชันจัดส่งอาหารตามบ้านในนครซิดนีย์ ที่เป็นธุรกิจดำเนินการภายใต้บริษัทแม่คือ ออสเตรเลียน เดลิเวอรี ยูไนเตด กรุป (Australian Delivery United Group) ซึ่งรู้จักกันอีกชื่อหนึ่งว่า อีซี (EASI)

อีซี (EASI) อ้างว่ามีผู้ดาวน์โหลดแอพพลิเคชันของตนราว 200,000 คน พนักงานส่งอาหารตามบ้านของ อีซี ขี่จักรยานสีเหลืองพร้อมสวมชุดเครื่องแบบสีเหลืองสะดุดตาด้วย ซึ่งตามห้องสนทนาออนไลน์มักจะเรียกบริการของอีซีว่า เป็น “อูเบอร์อีทส์ จีน” ขณะนี้ พนักงานส่งอาหารตามบ้านของอีซีนั้นพบเห็นได้มากขึ้นเรื่อยๆ ในพื้นที่ชั้นในของนครหลวงต่างๆ ของออสเตรเลีย ควบคู่ไปกับบริการจาก อูเบอร์อีทส์ (UberEATS) และเดลิเวอรู (Deliveroo)

แต่ผู้วิพากษ์วิจารณ์ระบบเศรษฐกิจแบบรับงานเป็นครั้งคราวและผู้ทำงานไม่ได้เป็นลูกจ้างของธุรกิจ หรือที่เรียกกันว่า กิก อีโคโนมี (gig economy) กล่าวว่า การปฏิบัติของบริษัทยักษ์ใหญ่ออนไลน์ที่ครองตลาดด้านการส่งอาหารตามบ้าน ที่ก่อให้เกิดความอื้อฉาว อันนำไปสู่การประท้วงของลูกจ้าง และกรณีการฟ้องร้องในศาลนั้น ขณะนี้ แนวทางการปฏิบัติเหล่านี้กำลังถูกนำไปเป็นแบบอย่างโดยผู้ประกอบการขนาดเล็ก หรือธุรกิจที่เจาะกลุ่มลูกค้าเฉพาะ ซึ่งขณะนี้ธุรกิจเหล่านี้กำลัง “เล็ดรอดสายตา” ของสาธารณะ

“เพราะขนาดของผู้ประกอบการบางแห่ง พวกเขาจึงหลบเลี่ยงไปได้สำหรับการเอารัดเอาเปรียบพนักงานในลักษณะเดียวกัน แต่แตกต่างจากผู้ประกอบการใหญ่ๆ ตรงที่พวกเขาไม่ถูกตรวจพบ” นายโทนี เชลดอน เลขาธิการแห่งชาติ ของสหภาพแรงงานลูกจ้างการขนส่ง (TWU) กล่าว
Kiet is a delivery rider for Easi.
เคียต พนักงานขี่จักรยานส่งอาหารตามบ้านของ Easi Source: SBS
พนักงานขี่จักรยานส่งอาหารตามบ้าน โดยรับงานจากแอพพลิเคชันออนไลน์ โดยมากแล้ว จะเป็นผู้ประกอบการอิสระ ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติที่กำลังถูกจับตาดูและถูกวิพากษ์วิจารณ์ เพราะนั่นหมายความว่า พนักงานเหล่านั้นจะไม่ได้รับสิทธิที่ลูกจ้างพึงได้รับ เช่น ค่าจ้างตามที่อุตสาหกรรมกำหนด เงินสะสมหลังเกษียณ และค่าชดเชยสำหรับลูกจ้าง

เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อการจ้างงานที่เป็นธรรม หรือ Fair Work Ombudsman ได้ดำเนินการทางกฎหมายต่อบริษัท ฟูดโดรา (Foodora) ซึ่งมีบริษัทแม่อยู่ที่กรุงเบอร์ลิน โดยกล่าวหาบริษัทว่าทำสัญญาอำพรางขึ้นมา เพื่อจะได้ไม่ต้องจ่ายค่าจ้างพนักงานตามกฎหมายกำหนด

ด้านคณะกรรมการด้านการแข่งขันและผู้บริโภคแห่งออสเตรเลีย หรือ ACCC ยังได้ดำเนินการสอบสวนที่แยกออกไปต่างหาก ถึงพฤติกรรมของ อูเบอร์อีทส์ (UberEATS) และสัญญาการจ้างงานพนักงานส่งอาหารของบริษัทด้วย

ในเดือนกันยายนนี้เอง ทาง ผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อการจ้างงานที่เป็นธรรม หรือ Fair Work Ombudsman ได้ล้มเลิกกรณีการฟ้องร้องบริษัท ฟูดโดรา (Foodora) หลังบริษัทเข้าสู่กระบวนเบื้องต้นของการเลิกกิจการคือเข้าสู่กระบวนการชำระบัญชีตามความสมัครใจของบริษัทเอง

แม้ฟูดโดรา จะตัดสินใจถอนตัวออกจากตลาดในออสเตรเลีย แต่สหภาพสหภาพแรงงานลูกจ้างการขนส่ง (TWU) ยังคงติดตามดำเนินการฟ้องร้องฟูดโดรา จากกรณีการเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมของพนักงานผู้หนึ่งที่ถูกไล่ออกเมื่อเดือนมีนาคม

“ฟูดโดรา ซึ่งออกจากประเทศนี้ไปเพราะพวกเขากำลังถูกบีบให้ต้องแสดงความรับผิดชอบ พวกเขาขโมยค่าจ้างลูกจ้างในประเทศนี้ และยังติดหนี้ภาษีรัฐบาลของเราอีกก้อนโต” นายเชลดอน ระบุ

เขากล่าวต่อไปว่า “ขณะนี้ บริษัทที่เล็กกว่าแต่มีความสำคัญ ซึ่งกำลังดำเนินธุรกิจในเมืองใหญ่ต่างๆ ของเรา กำลังดำเนินการในลักษณะเดียวกัน”
A food delivery cyclist in the tunnel where speeds can reach 80km/h.
A food delivery cyclist in the tunnel where speeds can reach 80km/h. Source: Supplied
ลี ชาวจีนที่เดินทางมาทำงานในออสเตรเลียด้วยวีซ่าทำงานและท่องเที่ยว เป็นพนักงานส่งอาหารตามบ้านในเมลเบิร์นให้กับ อูเบอร์อีทส์ และอีซี (EASI) ผ่านแอพพลิเคชัน เพื่อหารายได้เสริม

สำหรับการทำงานเต็มเวลาลีจะมีรายได้รวม 800 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์ ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าค่าจ้างขั้นต่ำไม่มากนัก และบ่อยครั้งที่รายได้ของลีก็ต่ำกว่านั้นเสียอีก

รายได้ของเธอสำหรับการส่งอาหาร 24 ครั้งแรก จะถูกนำไปจ่ายเป็นค่าเช่าจักรยานรายสัปดาห์ สำหรับจักรยานส่งอาหารของบริษัทเมลเบิร์น เดลิเวอรี (Melbourne Delivery) โดยเรียกเก็บเป็นจำนวน 180 ดอลลาร์ ซึ่งลีกล่าวว่า “แพงเกินไป”

“แต่เมื่อเทียบกับร้านอาหารจีนต่างๆ ค่าจ้างก็ไม่ได้เลวร้ายนัก” ลี บอกกับ เอสบีเอส นิวส์

ลี ที่เก็บค่าส่งอาหารเป็นเงินสดโดยตรงจากลูกค้าของเมลเบิร์น เดลิเวอรี และได้รับเงินค่าจ้างผ่านการโอนเงินทางธนาคารจากอูเบอร์อีทส์ ยอมรับว่าเธอไม่รู้แม้แต่น้อยว่าเธอต้องเสียภาษีหรือไม่

ลี กล่าวว่า สิ่งที่เธอกังวลที่สุดคือเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน เนื่องจากเมลเบิร์น เดลิเวอรี ไม่มีประกันภัยให้สำหรับพนักงานส่งอาหารตามบ้านของตน ซึ่งแตกต่างจากอูเบอร์อีทส์

“บางครั้ง ฉันก็เกือบถูกรถยนต์ชน มันเกิดขึ้นบ่อยมาก เพราะชาวออสเตรเลียขับรถกันเร็ว” ลี เล่า

เธอกล่าวว่า เธออยากเห็นบริษัทต่างๆ ดูแลเรื่องความปลอดภัยมากกว่านี้ พร้อมเล่าถึงอีกเหตุการณ์หนึ่งที่เธอติดอยู่ที่บันไดของอพาร์ทเมนท์ โดยไม่มีสัญญาณโทรศัพท์มือถือและไม่มีทางอื่นใดที่จะขอความช่วยเหลือได้
ผู้ขี่จักรยานส่งอาหารท่านหนึ่งในนครซิดนีย์
ผู้ขี่จักรยานส่งอาหารผู้หนึ่งในนครซิดนีย์ Source: AAP
ในแถลงการณ์จาก ออสเตรเลียน เดลิเวอรี ยูไนเตด กรุป (Australian Delivery United Group) บริษัทปฏิเสธข้อกล่าวหาใดๆ ที่ว่าบริษัทปฏิบัติกับพนักงานอย่างไม่เหมาะสม โดยบอกว่า พนักงานขี่จักรยานส่งอาหารเหล่านั้นเป็นผู้รับเหมาช่วง หรือที่เรียกว่าซับ-คอนแทรกเตอร์ (sub-contractor) มากกว่าจะเป็นลูกจ้างของบริษัท ดังนั้น พวกเขาจึงต้องรับผิดชอบในเรื่องหน้าที่ทางภาษีและเรื่องประกันภัยเอง

นอกจากนี้ พนักงานส่งอาหารตามบ้านเหล่านั้น ยังทำงานตามเวลาที่ตนสะดวก และสามารถทำงานให้กับหลากหลายบริษัท ดังนั้น “ความสามารถในการหารายได้ของพวกเขาไม่ได้จำกัดอยู่แค่การให้บริการแก่เราเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องโดยตรงกับจำนวนชั่วโมงการทำงานของพวกเขาด้วย”

โฆษกของบริษัทกล่าวว่า บริษัทไม่ทราบถึงค่าเช่าจักรยานสำหรับส่งอาหาร โดยพนักงานสามารถเลือกจะเช่าหรือไม่เช่าก็ได้ ซึ่งบริษัทระบุว่าเรื่องนี้ดำเนินการโดยบริษัทผู้รับเหมาอีกบริษัทหนึ่ง

ในแถลงการณ์ยังบอกด้วยว่า “บริษัทผู้รับเหมาได้รับแจ้งนโยบายที่เข้มงวดของบริษัท และได้ให้การอบรม (ทั้งในห้องเรียนและบนถนน) แก่ผู้รับช่วงสัญญาต่อก่อนที่จะให้พวกเขาดำเนินการให้บริการสำหรับบริษัทเรา”

ด้าน อูเบอร์อีทส์ (UberEATS) กล่าวว่า พนักงานส่งอาหารตามบ้านของตนทุกคน ได้รับข้อมูลเรื่องความปลอดภัย เมื่อทำสัญญาทำงานกับบริษัท และมีแผนที่จะขยายข้อมูลเหล่านี้ภายในแอพพลิเคชันด้วย

“โอกาสในการทำงานที่ยืดหยุ่น ซึ่งคุณสามารถปรับให้เหมาะสมกับชีวิตของคุณได้นั้น ปกติแล้วยากที่จะหาได้ และสิ่งที่หุ้นส่วนของเราบอกกับเราคือ ความยืดหยุ่นได้ที่อูเบอร์ แอพ ให้แก่พวกเขา คุณสามารถ ล็อกอิน เข้าระบบ และล็อกออฟ ออกจากระบบได้ทุกเมื่อที่คุณต้องการ ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างความแตกต่างสำหรับพวกเขา” อูเบอร์อีทส์ (UberEATS) ระบุ


Share
Published 17 September 2018 3:13pm
Updated 17 September 2018 3:25pm
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS News


Share this with family and friends