รัฐนิวเซาท์เวลส์ยืนยันการติดเชื้อรายที่ 2 ของโรคคอตีบในรอบ 100 ปี ซึ่งได้ส่งผลต่อเด็กด้วย
เด็กวัย 6 ขวบจากพื้นที่ตอนเหนือของรัฐนิวเซาท์เวลส์ เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดกับสมาชิกในครอบครัวของผู้ติดเชื้อรายแรกซึ่งเป็นเด็กเล็กที่ยังคงรักษาตัวอยู่ภายในห้องไอซียูในขณะนี้
เด็กซึ่งเพิ่งได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อรายที่ 2 ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน และกำลังได้รับการดูแลอยู่ในหน่วยงานสุขภาพท้องถิ่นแห่งหนึ่งซึ่งรับเด็กคนดังกล่าวเข้ารักษาเพื่อป้องกันไว้ก่อนล่วงหน้า
โรคคอตีบเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียที่แพร่กระจายได้และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต มีผลต่อลำคอและต่อมทอลซิลในรูปแบบที่รุนแรงที่สุด ส่งผลให้เกิดเนื้อเยื่อสีขาวอมเทาบริเวณอวัยวะดังกล่าว ทำให้การกลืนและการหายใจลำบาก
การติดเชื้อดังกล่าวยังทำให้เกิดอาการคอบวมอีกด้วย ข้อมูลจากหน่วยงานสาธารณสุขรัฐนิวเซาท์เวลส์ระบุว่า สารพิษที่สร้างโดยเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวจะทำให้เกิดการอักเสบที่กล้ามเนื้อหัวใจและเส้นประสาท ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตสำหรับผู้ติดเชื้อร้อยละ 5-10
ผู้สัมผัสใกล้ชิดอีกรายหนึ่งของเด็กเล็กทั้งสองรายได้รับการรักษาเพื่อป้องกันโรคหลังสัมผัสเชื้อแล้ว เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อ ซึ่งการรักษาดังกล่าวนั้นรวมถึงการให้ยาปฏิชีวนะ และการสร้างภูมิคุ้มกัน
พอล โดกลัส (Paul Douglas) ผู้อำนวยการสาธารณสุขพื้นที่นอร์ทโคสต์ (North Coast Public Health) กล่าวว่า การติดเชื้อของเด็กทั้ง 2 รายไม่มีความเสี่ยงอย่างต่อเนื่องไปยังชุมชนวงกว้าง แต่ครอบครัวต่าง ๆ ควรตื่นตัวและทบทวนสถานะการฉีดวัคซีนของบุตรหลาน
“โรคคอตีบเกิดขึ้นได้ยากมากในออสเตรเลีย เนื่องจากโครงการสร้างภูมิคุ้มกันในวัยเด็กที่ยาวนานของเรา อย่างไรก็ตามโรคติดต่อนี้ส่งผลร้ายแรงมากและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต” นายโดกลัส กล่าว
“วัคซีนป้องกันโรคคอตีบไม่มีค่าใช้จ่ายและมีให้พร้อมจากแพทย์จีพีของคุณสำหรับทุก ๆ คนที่อายุตั้งแต่ 6 สัปดาห์ขึ้นไป”
หน่วยงานสาธารณสุขรัฐนิวเซาท์เวลส์ได้ปรับปรุงเกี่ยวกับโรคคอตีบ โดยให้คำแนะนำว่า ตามปกติการติดเชื้อจะแพร่กระจายจากละอองฝอยในระบบทางเดินหายใจหลังจากที่ผู้ติดเชื้อไอหรือจาม
ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยคอตีบรายอื่น ๆ ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ในช่วงศตวรรษนี้ แต่ก็ได้มีรายงานการติดเชื้อในกรณีที่ไม่รุนแรงมากอยู่ในบางโอกาส ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อทางผิวหนัง
ข้อมูลจากหน่วยงานสาธารณสุขรัฐนิวเซาท์เวลส์ ระบุว่า โรคคอตีบเป็นสาเหตุหลักในการเสียชีวิตของเด็กจนกระทั่งช่วงปี 1940 แต่ในปัจจุบันพบได้บ่อยในประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนในระดับต่ำ โดยเชื้อจะแพร่กระจายผ่านการไอหรือจาม และอาจแพร่กระจายได้โดยการสัมผัสกับพื้นผิวที่ปนเปื้อน
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย
วิกฤตผักขาดแคลนทำอาหารฟาสต์ฟู้ดในออสฯ รสชาติเปลี่ยนไป