สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงมีพระราชโองการ ระบุว่า การลงชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทยของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ ในเดือนมีนาคมนั้น "ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง" และขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึี่งน่าจะทำให้การเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ของพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งเป็นพรรคประชานิยมฝ่ายตรงข้ามนั้น ต้องฝันสลายไป
ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี พระชันษา 67 ปี สร้างความตกตะลึงให้แก่คนไทยทั้งชาติเมื่อท่านได้ทรงประกาศเมื่อวันศุกร์ (8 ก.พ.) ว่าจะเป็นแคนดิเดตชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวของพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งเป็นพรรคที่ภักดีต่ออดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร
การที่พรรคไทยรักษาชาติ เสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ ลงแข่งขันช่วงชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ปะทะกับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ได้ก่อให้เกิดฉากทางการเมืองใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย
สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย เป็นสถาบันที่ได้รับความยกย่องเทิดทูนและได้รับการปกป้องจากการถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยกฎหมายป้องกันการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และตามธรรมเนียมแล้ว สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกมองว่าต้องอยู่เหนือการเมือง แม้ว่าในบางครั้งพระบรมราชวงศ์ได้ทรงแทรกแซงบ้างเมื่อมีวิกฤติทางการเมือง
การลงชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ พลิกความคาดหมายสำหรับการเลือกตั้งครั้งแรกของไทยนับตั้งแต่มีรัฐประหารในปี พ.ศ.2557 ซึ่งได้ขับไล่รัฐบาลที่ภักดีต่อนายทักษิณออกไป โดยนายทักษิณ ชินวัตร เป็นบุคคลที่อยู่ใจกลางของความปั่นป่วนทางการเมือง และการประท้วงตามท้องถนน อันนำไปสู่การแบ่งแยกเป็นฝักฝ่ายในสังคมไทยด้วยแต่การที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงมีพระราชโองการ ระบุว่า การลงชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทยของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ ในเดือนมีนาคมนั้น "ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง" นั้น มีแนวโน้มว่าจะทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ตัดสิทธิ์ทูลกระหม่อมหญิงฯ
Thai Raksa Chart Party leader Preechapol Pongpanich (R) shows a document nominating Princess Ubolratana Mahidol as candidate for prime minister. Source: AP
ในพระราชโองการดังกล่าวที่ประกาศเมื่อวันศุกร์ (8 ก.พ.) มีใจความส่วนหนึ่งระบุว่า "การนำสมาชิกชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์มาเกี่ยวข้องกับระบบการเมือง ไม่ว่าจะโดยทางใดก็ตาม จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อโบราณราชประเพณี ขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรมของชาติ ถือเป็นการกระทำที่มิบังควร ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง"
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงชี้ไปที่รัฐธรรมนูญที่ระบุว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องอยู่เหนือการเมือง และเป็นกลางทางการเมือง
"พระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์ จึงอยู่ในหลักการเกี่ยวกับการดำรงอยู่เหนือการเมือง และความเป็นกลางทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ด้วย และไม่สามารถดำรงตำแหน่งใดๆ ทางการเมืองได้ เพราะจะเป็นการขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ"
วันศุกร์ที่ผ่านมานั้นเป็นวันสุดท้ายที่พรรคการเมืองต่างๆ จะประกาศผู้ที่พรรคจะส่งชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ที่นำการก่อรัฐประหารในปี พ.ศ.2557 และปัจจุบันเป็นผู้นำสูงสุดของรัฐบาล คสช. ได้ประกาศว่าจะลงชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเช่นกัน โดยเป็นแคนดิเดตของพรรคพลังประชารัฐ
การเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคมนี้ ถูกมองว่าเป็นการฟาดฟันกันตรงๆ ระหว่างฝ่ายฝ่ายประชานิยมของทักษิณและพันธมิตรของเขา กับอีกฝ่ายซึ่งภักดีต่อทหารและสถาบันพระมหากษัตริย์
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
ทูลกระหม่อมหญิงฯ จะทรงสู้เลือกตั้งในฐานะนายกฯ บัญชีรายชื่อ
ติดตามฟังรายการ เอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี เวลา 22.00 น.
เรื่องราวที่น่าสนใจจากเอสบีเอส ไทย
รัฐบาลเผยแผนออกวีซ่าด่วนให้ผู้อพยพในส่วนภูมิภาค