Man receiving a back massage
Man receiving a back massage
This article is more than 2 years old

ซูซาน เป็นนักนวดบำบัดคนไทย เธอถูกลูกค้าขอ "happy ending" บ่อยๆ

สตรีผู้ย้ายถิ่นในออสเตรเลียกำลังต้องพยายามเอาตัวรอดจากการล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน โดยผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมกล่าวว่า มีเรื่องเชื้อชาติเป็นปัจจัยเบื้องหลังเรื่องนี้

Published 19 September 2022 2:58pm
By Charis Chang
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS
ประเด็นสำคัญในบทความ
  • สตรีผู้ย้ายถิ่นในออสเตรเลียกำลังต้องพยายามเอาตัวรอดจากการล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน
  • ซูซาน (ไม่ใช่ชื่อจริงของเธอ) เป็นคนไทยที่เป็นนักนวดบำบัดในออสเตรเลียมากว่าสิบปี
ซูซาน (ไม่ใช่ชื่อจริงของเธอ) เดินทางมาที่ออสเตรเลียในฐานะนักเรียนต่างชาติจากประเทศไทยเมื่อกว่าสิบปีก่อน และเธอทำงานเป็นนักนวดบำบัดมืออาชีพมาเกือบตลอด

ภายใต้เงื่อนไขวีซ่าของเธอ เธอได้รับอนุญาตให้ทำงาน 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และได้งานเป็นพนักงานทำความสะอาด รวมทั้งทำงานเป็นนักนวดบำบัดแบบเป็นกะในซิดนีย์ เธอกล่าวว่า งานนวดอาจเป็นงานที่หาง่ายกว่าสำหรับคนที่พูดภาษาอังกฤษไม่เก่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไปเธอก็ชอบอาชีพนี้

เธอได้เรียนนวดแผนไทยมาจากกรุงเทพฯ และได้ศึกษาจนได้รับประกาศนียบัตรสาขาการนวดบำบัดจากวิทยาลัยด้านการนวดแห่งออสเตรเลีย (Australian College of Massage) แม้ว่าซูซานจะรักงานของเธอ แต่การถูกคุกคามทางเพศก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับเธอเป็นประจำ

"ร้อยละ 95 เป็นลูกค้าที่ดี" ซูซานกล่าว "เมื่อเราได้รับคำติชมที่ดี ฉันก็รู้สึกดี ... ฉันรักงานของฉัน" แต่ลูกค้าผู้ชายหลายคนที่ซูซานพบปะ โดยเฉพาะในซิดนีย์และในธุรกิจนวดที่ดำเนินการโดยคนไทย มีความคิดที่ว่า 'แฮปปี เอ็นดิง' (happy ending) สามารถเป็นส่วนหนึ่งของบริการได้

A man receiving back massage
Susan (not pictured) has received inappropriate requests throughout her career. Source: Getty / Caia Image
“ในช่วงแรกๆ มันน่ากลัวมาก” ซูซานกล่าว "เมื่อฉันมีประสบการณ์น้อยและไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้อย่างถูกต้อง"

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโมนาชกำลังพยายามทำความเข้าใจประสบการณ์และการโต้ตอบต่อการคุกคามทางเพศของผู้อพยพย้ายถิ่นและผู้ลี้ภัยในออสเตรเลียเช่นซูซาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาวิจัยร่วมกับ Harmony Alliance และ National Women's Alliance ซึ่งเป็นหน่วยงานกระบอกเสียงให้ผู้หญิง โดยการศึกษาวิจัยครั้งนี้ได้รับทุนจาก ANROWS หน่วยงานวิจัยที่ศึกษาผลกระทบของความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก

รองศาสตราจารย์ มารี เซเกรฟ หัวหน้าผู้เขียนรายงานการวิจัยครั้งนี้ กล่าวว่า "สตรีผู้อพยพและผู้ลี้ภัยยังคงถูกบดบังในการศึกษาระดับชาติที่สำคัญต่างๆ และในความมุ่งมั่นระดับชาติในการยุติการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน"
การคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศที่ซูซานประสบนั้นหลากหลาย ซูซานเล่าว่า ผู้ชายบางคนพยายามจับขาของเธอหรือส่วนอื่นของร่างกายของเธอ ขณะที่เธอกำลังนวดให้พวกเขา ตอนที่เธอทำงานในซิดนีย์นั้น สิ่งเหล่านี้มักเกิดขึ้นทุกวัน

“พวกเขาพยายามสัมผัสร่างกายของเรา ตอนที่เราเผลอ”

"พวกเขาอาจพยายามสัมผัสเรา หรือพวกเขาอาจพยายามพูดคุยกับเราและถาม ... หรือพูดเป็นนัยถึงเรื่องอนาจาร"
พวกเขาพยายามสัมผัสร่างกายของเรา ตอนที่เราเผลอ
ซูซาน นักนวดบำบัดคนไทย
ลูกค้าบางคนพยายาม "ต่อรองราคา" สำหรับสิ่งที่พวกเขาต้องการ บางคนก็พยายามหาข้ออ้างเปิดผ้าที่ปกปิดตัว และ “โชว์ร่างกายของพวกเขา" ให้เธอดู

เมื่อหลายปีผ่านไป ซูซานเกิดความเชี่ยวชาญที่จะสามารถระบุได้ว่า ลูกค้ารายใดอาจต้องการบริการพิเศษ สิ่งที่เป็นสัญญาณเตือนถึงความไม่ชอบมาพากลคือ หากลูกค้าผู้ชายขอบริการนวดแบบ ฟูลบอดี (full-body massage)

“จากประสบการณ์ของฉัน เมื่อผู้ชายขอบริการนวดแบบฟูลบอดี ฉันรู้ดีว่าหหมายถึงอะไร” ซูซาน กล่าว
A man getting a stone massage
Susan is a specialist in warm stone massage. Source: Getty / Yuri Arcurs
ทุกวันนี้ ซูซาน ซึ่งตอนนี้อายุ 40 ปีเศษแล้ว ทำธุรกิจนวดของตัวเองในเมืองแห่งหนึ่ง ในส่วนภูมิภาคของรัฐควีนส์แลนด์

แต่ถึงแม้จะโฆษณาว่าเธอเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการนวดแผนไทย ที่ได้รับการรับรองจากบริษัทประกันสุขภาพส่วนบุคคล รวมทั้งให้บริการนวดกล้ามเนื้อชั้นลึก และนวดด้วยหินร้อน แต่ซูซานกล่าวว่าเธอยังคงได้รับโทรศัพท์หรือข้อความอย่างน้อย 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ เพื่อสอบถามเกี่ยวกับ 'happy ending'

เธอปฏิเสธอย่างหนักแน่นแต่สุภาพ โดยขอให้ผู้ชายเหล่านั้นเกรงใจเธอบ้าง และเธอจะเตือนพนักงานให้เตรียมตัวรับมือลูกค้าคนที่เธอระบุว่าต้องระวัง หากลูกค้าพูดจาแทะโลมหรือลวนลามในห้องนวด เธอจะถอยห่างออกมา และเธอยังบอกกับพนักงานในร้านด้วยว่า หากพบพฤติกรรมเช่นเดียวกัน พนักงานก็ควรออกจากห้องนวดทันที

ซูซานกล่าวว่า จากประสบการณ์แล้ว เธอพบว่าเรื่องนี้มักเกิดกับพนักงานที่อายุน้อยๆ ที่มีประสบการณ์น้อยและพูดภาษาอังกฤษได้ไม่ดีนัก ซึ่งตกเป็นเป้าของการคุกคามและล่วงละเมิด "เพราะพวกเธอไม่รู้ว่าจะร้องเรียนอย่างไร"

“ตอนที่ฉันอายุน้อยกว่านี้ ฉันก็รู้สึกกลัว ฉันเคยร้องไห้ด้วยเมื่อก่อนนี้”
คุณรีเบ็กกา บาร์เนตต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของสมาคมนักนวดบำบัด (Association of Massage Therapists) กล่าวว่า ยากที่จะพบนักนวดบำบัดในออสเตรเลีย รวมทั้งที่เป็นผู้ชายด้วย ที่ไม่เคยถูกขอให้ให้บริการทางเพศในช่วงใดช่วงหนึ่งของการประกอบอาชีพนี้ แต่เธอเชื่อว่าพฤติกรรมดังกล่าวมุ่งเป้าไปที่ผู้หญิงที่มีภูมิหลังเป็นชาวเอเชียโดยเฉพาะ

"นักนวดบำบัดที่มีภูมิหลังเป็นชาวเอเชียถูกคุกคามทางเพศบ่อยครั้ง" คุณบาร์เนตต์ กล่าว "นักนวดบำบัดชาวไทยมีประสบการณ์การถูกคุกคามทางเพศมากเป็นพิเศษ เพราะคนคิดเอาดื้อๆ ว่า การนวดแผนไทยต้องมีองค์ประกอบทางเพศ”

"แน่นอนว่าเรื่องเชื้อชาติถูกนำไปเป็นปัจจัยเกี่ยวข้อง"
แน่นอนว่าเรื่องเชื้อชาติถูกนำไปเป็นปัจจัยเกี่ยวข้อง
รีเบ็กกา บาร์เนตต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของสมาคมนักนวดบำบัด

ศ.เซเกรฟ เห็นด้วย

"ประสบการณ์ (ของซูซาน) อยู่ที่จุดตัดของทั้งการล่วงละเมิดทางเพศ และสิ่งที่ฉันคิดว่าเป็นทัศนคติแบบเหมารวมเกี่ยวกับเชื้อชาติและความคาดหวังเกี่ยวกับเชื้อชาติ" ศ.เซเกรฟ กล่าว

ชาวต่างชาติบางคนมองประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง 'การท่องเที่ยวทางเพศ' ซึ่งมีการค้าประเวณีเกิดขึ้น แม้จะผิดกฎหมายก็ตาม คาดกันว่าอุตสาหกรรมนี้จะมีส่วนสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศราว 8,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี
คุณบาร์เนตต์ กล่าวว่าเธอเคยถูกขอบริการ 'happy ending' เช่นกันขณะทำงานเป็นนักนวดบำบัด แต่ไม่เคยมีประสบการณ์ที่จะถูกสัมผัสร่างกายอย่างที่ซูซานประสบ

“สำหรับฉันแล้ว นั่นฟังดูเหมือนความไม่สมดุลของอำนาจอย่างแท้จริง”

"การคุกคามทางเพศที่ฉันประสบนั้นเป็นเหมือนการชี้นำ มากกว่าที่จะสันนิษฐานเอาเองว่า ไม่เป็นไรที่จะทำสิ่งเหล่านั้น"

มีนักนวดบำบัดมากกว่า 18,000 คนที่กำลังทำงานอยู่ในออสเตรเลีย จากข้อมูลของ Labour Market Insights ของ National Skills Commission จากสถิติของสำนักงานสถิติแห่งออสเตรเลียในปี 2016 ชี้ว่า นักนวดบำบัดราวร้อยละ 46 เกิดในต่างประเทศ ประมาณร้อยละ 31 มาจากประเทศในเอเชีย และประมาณร้อยละ 12 มาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ซูซานกล่าวว่าปัญหาเพิ่มเติมประการหนึ่งก็คือ ร้านนวดบางแห่งในออสเตรเลียยังให้บริการเป็นเหมือนสถานค้าประเวณีด้วย

“บางคนเปรียบเทียบงานของเรากับซ่องโสเภณี” ซูซานกล่าว "บางคนมีทัศนคติต่อพนักงานนวดแผนไทยเหมือนคนขายบริการทางเพศ"

"มันทำให้ผู้ชาย ... พยายามต่อรองกับพนักงานนวดผู้หญิงชาวเอเชียทุกคน หรือขอบริการนวดทุกรูปแบบ"
An electric sign reading 'massage'
A flashing sign spruiks massage for sale Source: SBS / SBS Thai
สถานค้าประเวณีนั้น ถูกกฎหมายในรัฐนิวเซาท์เวลส์และวิกตอเรีย และยังถูกยกเลิกจากการเป็นสิ่งผิดกฎหมายในระดับหนึ่งในนอร์เทิร์นเทร์ริทอรี ควีนส์แลนด์ และเอซีที และยังคงผิดกฎหมายในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย เซาท์ออสเตรเลีย และแทสเมเนีย

กฎเฉพาะที่ใช้กับร้านนวดที่ให้บริการทางเพศขึ้นอยู่กับที่ตั้ง ในซิดนีย์ร้านนวดเหล่านี้ถูกกฎหมาย แต่ต้องระบุอยู่ในประเภทเดียวกับสถานค้าประเวณี ตามรายงานของ Criminal Defense Lawyers Australia การกระทำทางเพศใด ๆ จะต้องได้เป็นการสมยอมด้วยกันทั้งสองฝ่าย
คุณบาร์เนตต์กล่าวว่า แม้แต่ธุรกิจที่โฆษณาในเชิงรุกว่ามีคุณวุฒิทางวิชาชีพเพื่อบ่งชี้ว่าพวกเขาไม่ได้ให้บริการทางเพศ ก็ยังอาจถูกร้องขอบริการทางเพศได้ เนื่องจากลูกค้าบางคนความคิดที่ว่า “ลองขอดู เผื่อจะได้”

“ฉันคิดว่าอาจมีตื่นเต้นเล็กน้อยที่จะพยายามหลอกล่อนักนวดบำบัดที่มีคุณวุฒิให้ให้บริการทางเพศ และนั่นก็นำไปสู่การคุกคามและล่วงละเมิดอย่างแท้จริงเกิดขึ้นบนเตียงนวด”

ความไม่มั่นคงของวีซ่า

ศ.เซเกรฟ กล่าวว่า การจ้างงานที่ไม่มีความมั่นคง เช่น การทำงานอย่างผิดกฎหมาย เนื่องจากวีซ่าไม่อนุญาตให้ทำงาน หรือทำงานติดต่อกันเป็นเวลายาวนานหลายชั่วโมง อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการถูกคุกคามหรือล่วงละเมิดทางเพศได้

ซูซานกล่าวว่า เธอรู้จักผู้หญิงที่ไม่มีวีซ่าถาวรในออสเตรเลีย ซึ่งถูกกดดันให้ให้บริการทางเพศ เพื่อจะได้มีงานทำต่อไปและมีเงินจ่ายบิลค่าใช้จ่ายต่างๆ

ในกรณีของธุรกิจร้านนวดนั้น ศ.เซเกรฟกล่าวว่า ลูกค้าอาจรู้สึกว่าตนเองมีอำนาจมากกว่า เพราะพวกเขาเป็นลูกค้าที่จ่ายเงิน

"เรื่องยากอย่างยิ่งในบริบทของลูกค้า เพราะนั่นเป็นความสัมพันธ์ที่ต่างออกไป เมื่อเปรียบเทียบกับ เช่น ในที่ทำงานขนาดใหญ่ ที่อาจมีระบบทรัพยากรบุคคลที่ดี ที่อาจช่วยให้คุณร้องขอการแทรกแซงพฤติกรรมเหล่านั้นได้"
ไม่ใช่ว่าข้อกล่าวหาการคุกคามหรือล่วงละเมิดทั้งหมดจะถูกแจ้งไปยังผู้จัดการ และไม่ใช่ว่าธุรกิจทุกแห่งจะรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแก่ตำรวจ

“ดังนั้นจึงค่อนข้างซับซ้อน เพราะเราติดอยู่ตรงที่ ไม่มีระบบที่ชัดเจนในการดึงผู้คนให้มีส่วนร่วมหรือตอบโต้ต่อเรื่องนี้ในลักษณะที่ช่วยเหลือธุรกิจ … ดังนั้นจึงสำคัญที่จะต้องดึงให้ผู้คนหันมาสนใจในเรื่องนี้” ศ.เซเกรฟ กล่าว

คุณ แพดมา รามัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ ANROWS กล่าวว่า การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสตรีผู้อพยพย้ายถิ่นและผู้ลี้ภัยครั้งนี้จะให้หลักฐานต่อรัฐบาล นายจ้าง และกลุ่มอุตสาหกรรม

“เราทราบดีว่ากลุ่มผู้หญิงเหล่านี้กำลังประสบปัญหาการถูกคุกคามหรือล่วงละเมิดทางเพศในระดับสูง และงานวิจัยชิ้นนี้จะช่วยให้เราพัฒนากลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพและเหมาะกับทางวัฒนธรรมมากขึ้น ในการป้องกันและรับมือกับเรื่องนี้”

หากคุณหรือใครก็ตามในที่ทำงานของคุณตกอยู่ในอันตรายและต้องการความช่วยเหลือในทันที โปรดโทร 000

1800RESPECT ให้บริการให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศหรือถูกคุกคามทางเพศ ให้โทรศัพท์ไปหมายเลข 1800 737 732 หรือ

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งออสเตรเลียให้ข้อมูลเกี่ยวกับการรายงานการล่วงละเมิดทางเพศในสถานที่ทำงาน และ

————————————————————————————————————————————————
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share