ก่อนหน้านี้ รัฐบาลมอร์ริสันออกมาเตือนให้ใช้ความระมัดระวังในการพิจารณาข้อเสนอปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำของออสเตรเลีย โดยอ้างอิงข้อกังวลเรื่องการสร้างตำแหน่งงาน
รัฐบาลตั้งข้อสังเกตถึงแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังไม่มีความแน่นอนทั้งภายในประเทศและทั่วโลก โดยระบุในเอกสารที่ยื่นต่อคณะกรรมาธิการด้านการจ้างงานที่เป็นธรรม หรือ แฟร์เวิร์ก (Fair Work Commission) เพื่อประกอบการพิจารณาทบทวนรายปีว่า
“ต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้นในช่วงเวลาอันท้าทายเช่นนี้ อาจสร้างข้อจำกัดอย่างยิ่งต่อการฟื้นฟูธุรกิจรายย่อย และอาจทำให้การจ้างงานในภาคส่วนนี้ยิ่งซบเซาลง”
รัฐบาลเสนอให้ใช้แนวทาง “ระมัดระวัง” ที่ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างตำแหน่งงานและความสามารถในการอยู่รอดของธุรกิจผ่านแผนดำเนินงานฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤตไวรัสโคโรนา
“ความเสี่ยงจากการระบาดในประเทศและอุปสรรคขัดขวางที่เกิดขึ้นกับหลายประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ หมายความว่า สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจยังคงไม่มีความแน่นอน” รัฐบาลระบุ
“แม้จะเริ่มกระจายวัคซีนแล้ว แต่การระบาดของโควิด-19 ที่อาจทำให้ต้องใช้มาตรการควบคุมเพิ่มเติมนั้นยังคงเป็นความเสี่ยงที่สำคัญ”
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
ธุรกิจและลูกจ้างเผชิญความไม่แน่นอนหลังเงิน JobKeeper ยุติ
สภาสหภาพแรงงานแห่งออสเตรเลีย (Australian Council of Trade Unions: ACTU) ซึ่งผลักดันการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มอีก 26 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์ ออกมาโจมตีเอกสารท่าทีของรัฐบาล
นายสกอตต์ คอนนอลลี (Scott Connolly) ผู้ช่วยเลขาธิการสภาสหภาพแรงงาน กล่าวว่า บริษัทห้างร้านมีกำไรเพิ่มขึ้น แต่พรรคร่วมรัฐบาลกลับต้องการให้อัตราค่าจ้างถดถอยลงในทางปฏิบัติ
“อย่าหลงเข้าใจผิดไป ถึงรัฐบาลจะไม่กล้ากล่าวออกมาตรง ๆ แต่วันนี้รัฐบาลไฟเขียวให้คณะกรรมาธิการแฟร์เวิร์กแช่แข็งค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งเป็นที่พึ่งพิงของแรงงานกว่า 1 ใน 5” นายคอนนอลลีกล่าวเมื่อวันอังคาร (6 เม.ย.)
“[รัฐบาลบอกว่า]เลิกโครงการจ๊อบคีพเปอร์ได้เพราะเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว แต่แรงงานกลับไม่ควรได้ค่าจ้างเพิ่มเพราะเศรษฐกิจยังคงสั่นคลอน พวกเขาจะเหมาเอาทั้งสองทางแบบนี้ไม่ได้”
ค่าจ้างขั้นต่ำของออสเตรเลียปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.75 มาอยู่ที่ 753.80 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์ หลังการพิจารณาทบทวนเมื่อปีที่แล้ว แต่สำหรับแรงงานส่วนใหญ่การปรับเพิ่มเป็นไปโดยล่าช้า บ้างไม่ต่ำกว่าสามเดือน
เมื่อปี 2019 ค่าแรงขั้นต่ำปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ซึ่งลดลงจากอัตราปีก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
หวั่นสิ้นสุดจ๊อบคีพเปอร์ซ้ำเติมปัญหาความรุนแรงในครอบครัว
สหพันธ์เกษตรกรแห่งชาติ (National Farmers Federation) ต้องการให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไว้เท่าเดิมจนกว่าเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นและตลาดมีความผันผวนลดลง โดยเน้นย้ำว่า การฟื้นฟูเศรษฐกิจจำเป็นต้องมาควบคู่กับการกระจายวัคซีนไวรัสโคโรนา
แรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนักจากสถานการณ์โรคระบาด ได้แก่ ธุรกิจค้าปลีก ร้านอาหาร โรงแรมและที่พัก ศิลปะ นันทนาการ การท่องเที่ยว และการบิน ปีที่แล้วต้องรอปรับค่าจ้างเพิ่ม โดยเพิ่งได้รับอัตราใหม่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
สมาคมผู้ค้าปลีกแห่งออสเตรเลีย (National Retail Association) ยังเรียกร้องให้ชะลอการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับแรงงานในภาคธุรกิจค้าปลีกไปจนถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน
ส่วนสมาคมอุตสาหกรรมร้านอาหารและธุรกิจจัดเลี้ยงแห่งออสเตรเลีย (Restaurant & Catering Industry Association of Australia) เสนอว่า คณะกรรมาธิการแฟร์เวิร์กควรคงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเดิมไว้ หากตัดสินใจประกาศเริ่มใช้นโยบายใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องราวที่น่าสนใจจากเอสบีเอส ไทย
ออสฯ เล็งเพิ่มคลินิกฉีดวัคซีนอีกเท่าตัวสัปดาห์นี้