ระยะเวลารอคอยวีซ่าผู้อยู่อาศัยถาวรที่เพิ่มขึ้น กำลังส่งผลให้ลูกจ้างผู้อพยพย้ายถิ่นในออสเตรเลีย มีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะถูกนายจ้างเอาเปรียบและถูกเนรเทศ สหภาพแรงงานและตัวแทนดำเนินการด้านวีซ่า ระบุ
ผู้อพยพที่ต้องพึ่งพานายจ้างในการสปอนเซอร์พวกเขาให้ได้เป็นผู้อยู่อาศัยถาวรในออสเตรเลีย ต้องเผชิญกับช่วงเวลาที่ไม่รู้อนาคตถึง 2 ปี ระหว่างที่รอการพิจารณาวีซ่าหลังยื่นใบสมัครไปแล้ว
และสองปีนั้นเป็นระยะเวลาที่นานเช่นกันสำหรับธุรกิจ
เมื่อธุรกิจล้ม ซึ่งเกิดขึ้นค่อนข้างบ่อย โดยเฉพาะในบางอุตสาหกรรม ซึ่งทิ้งความเสียหายไว้เบื้องหลัง และสร้างความยากลำบากโดยเฉพาะกับลูกจ้างที่ถือวีซ่าอยู่ คุณลินดัล ไรอัน เลขาธิการของสหภาพแรงงานยูไนเตดวอยซ์ สาขาเอซีที กล่าว
ผู้สมัครวีซ่าถูกทิ้งให้ต้องวิ่งเต้นหาสปอนเซอร์ใหม่และต้องเริ่มกระบวนการสมัครที่มีค่าใช้จ่ายสูงอีกครั้ง
แต่หากพวกเขาล้มเหลว หรืออย่างที่เกิดขึ้นกับบางคนคือ มีการเปลี่ยนแปลงกฎในระหว่างนั้น พวกเขาก็จะต้องเดินทางกลับประเทศบ้านเกิด
มันมลายหายไปหมด
เหวย ‘มิรา’ เชง ลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นฐานชาวจีน เกือบได้สถานะผู้อยู่อาศัยถาวรในออสตรเลียสองครั้ง เธอได้อาศัยอยู่ที่นี่กับสามีของเธอมาแล้ว 5 ปี
แต่ทั้งสองครั้ง บริษัทสปอนเซอร์ที่เลิกกิจการทำให้เธอหมดโอกาส
“เราเคยคิดว่าเรามีอนาคตในออสเตรเลีย แต่ตอนนี้มันมลายหายไปหมด” เชง วัย 30 ปี บอกกับ เอสบีเอส นิวส์
เชง ซึ่งทำงานในตำแหน่งเชพ จูเนียร์ สมัครวีซ่าถาวรครั้งแรกโดยมีสปอนเซอร์เป็นเจ้าของร้านอาหาร เจมีส์ อิตาเลียน ในเพิร์ธ ซึ่งเป็นร้านสาขาที่ตั้งขึ้นโดยเจมี โอลิเวอร์ เชพคนดังชาวอังกฤษ
เมื่อบริษัทคีย์สตันกรุปบริษัทเจ้าของร้านประกาศล้มละลาย เจ้าของใหม่ของร้าน เจมีส์ อิตาเลียน ในกรุงแคนเบอร์รา เสนองานให้เชง และเป็นสปอนเซอร์วีซ่าให้ ดังนั้น เธอจึงย้ายข้ามประเทศไปอยู่ที่แคนเบอร์รา และยื่นสมัครวีซ่าใหม่โดยเสียค่าสมัคร 3,500 ดอลลาร์แต่ในเดือนเมษายนปีที่แล้ว เธอได้รับโทรศัพท์ที่ทำให้เธอต้องวิตก จากหัวหน้าเชพขอให้เธอเข้าไปที่ร้านในวันที่ปกติแล้วเป็นวันหยุดของเธอ
Wei 'Mira' Chen Avustralya'da bir gelecek planlıyordu. Source: SBS News
“เขาบอกว่า ‘ไม่จำเป็นต้องเอาผ้ากันเปื้อนมานะ’ ฉันก็เลยเริ่มรู้ว่ามีบางอย่างผิดปกติ และเมื่อฉันไปถึง พวกเขาก็บอกว่า ‘เราจะปิดกิจการตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป’ ”
“ฉันรู้สึกว่า นี่เกิดขึ้นกับฉันอีกครั้งหนึ่งแล้วได้อย่างไรในระยะเวลา 2 ปี?”
ขณะที่กระทรวงมหาดไทยของออสเตรเลียยังไม่ได้ตัดสินใจใดๆ เกี่ยวกับใบสมัครขอวีซ่าถาวรของเชง เธอก็เผชิญกับการถูกปฏิเสธและต้องถูกเนรเทศออกจากประเทศภายใน 28 วันหลังมีคำตัดสินจากกระทรวง
นับตั้งแต่เธอได้ยื่นใบสมัครขอวีซ่าถาวรครั้งล่าสุดไป ได้มีการเปลี่ยนแปลงกฎซึ่งหมายความว่า หากเชนได้เปลี่ยนงานใหม่ เธอจะไม่มีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะได้วีซ่า เนื่องจากเธอขาดประสบการณ์ไป 1 ปี จากข้อกำหนดที่ต้องมีประสบการณ์การทำงาน 3 ปี
“มันน่าอึดอัดใจมาก และก็น่าผิดหวังมาก” เชง กล่าว
หากเธอถูกบีบให้ต้องเดินทางออกจากออสเตรเลีย เธอวางแผนที่จะกลับไปยังประเทศจีนกับสามี และจะเปิดร้านกาแฟที่นั่น
เชงเขียนจดหมายถึงเจมี โอลิเวอร์ เกี่ยวกับสถานการณ์ของเธอเมื่อปีที่แล้ว แต่ไม่ได้รับคำตอบใดๆ ด้านเจมี โอลิเวอร์ เรสเตอรองต์ กรุป ไม่มีคำตอบใดๆ หลังเอสบีเอส นิวส์ สอบถามเกี่ยวกับเรื่องนี้
ทำให้ล่าช้าอย่างจงใจ
บรรดาตัวแทนดำเนินการด้านวีซ่า กล่าวว่า เชง เป็นเหยื่อของระยะเวลาพิจารณาออกวีซ่าที่ยาวนานเกินความจำเป็น ซึ่งระยะเวลารอวีซ่าโดยเฉลี่ยสำหรับวีซ่าซับคลาส 187 ที่เธอสมัครไปนั้นขณะนี้อยู่ที่ 21 เดือน
คุณนิโคลัส ฮูสตัน ผู้อำนวยการของวิสออสเตรเลีย บริษัทตัวแทนดำเนินการด้านวีซ่าในกรุงแคนเบอร์รา กล่าวว่า ผู้สมัครขอวีซ่าถูกทิ้งให้รอคอยโดยถือบริดจิงวีซ่าในระหว่างรอ และเผชิญความเสี่ยงต่างๆ
“จากมุมมองของผู้สมัครขอวีซ่า นั่นสามารถก่อให้เกิดความกลัดกลุ้มใจ ความอกสั่นขวัญแขวน และความเครียดได้” เขาบอกกับ เอสบีเอส นิวส์
“หากไม่มีตำแหน่งงาน บุคคลนั้นก็ไม่ควรได้รับวีซ่าถาวรสำหรับตำแหน่งงานที่ไม่มีอยู่จริง ซึ่งนั่นก็ยุติธรรมดี แต่กรอบเวลาในการพิจารณาวีซ่าและวิธีการพิจารณาใบสมัครเหล่านี้ ที่เราคิดว่าปัญหา”
คุณฮูสตันกล่าวหากระทรวงมหาดไทยว่าจงใจปล่อยให้ระยะเวลารอคอยวีซ่ายืดเยื้อออกไป เพื่อชะลอการรับอพยพย้ายถิ่นฐาน โดยเขาอ้างว่าแม้แต่วีซ่าสำหรับพ่อแม่และคู่ครองก็ต้องรอคอยนานขึ้นด้วย
“พวกเขากำลังใช้คิว เพื่อควบคุมจำนวนการรับผู้อพยพย้ายถิ่น ดังนั้น แทนที่จะเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่จำกัดความสามารถของนายจ้างในการสปอนเซอร์ลูกจ้างผู้อพยพ พวกเขาปล่อยให้กรอบเวลายืดเยื้อออกไป”
เขากล่าวว่าระยะเวลารอคอยวีซ่ายาวนานขึ้นเป็นสองเท่า จากเดิม 18 เดือนเป็น 36 เดือนสำหรับวีซ่าพ่อแม่
คุณเคิร์ก ยาน ตัวแทนดำเนินการด้านวีซ่าในเมลเบิร์น เห็นด้วยว่าระยะเวลารอคอยวีซ่ายาวนานขึ้นอย่างมาก และโควต้าการรับผู้อพยพถาวรของรัฐบาลนั้นไม่ได้สูงตามเป้า
หลังรัฐบาลประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ว่าจะลดจำนวนสูงสุดการรับผู้อพยพย้ายถิ่นให้น้อยลง 30,000 คน คุณยาน กล่าวว่า เขาไม่ประหลาดใจเลยที่กระทรวงจะไม่เร่งรีบในการพิจารณาวีซ่าที่ยื่นสมัครเข้ามาแล้วก่อนหน้านี้จากเอกสารที่คุณยานได้รับมาผ่านเสรีภาพทางข้อมูล สิ่งที่เกิดขึ้นได้ทำให้แค่จำนวนผู้รอคอยวีซ่าพ่อแม่ที่ลูกเป็นสปอนเซอร์นั้นเลย 43,000 ใบสมัครไปแล้ว สำหรับแค่ถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้
Migration agent Yan Kirk predicts it will take six or seven years for parent visa applications to be processed. Source: SBS News
“ผู้อพยพย้ายถิ่นฐานใหม่จำนวนมากมาจากประเทศจีน พวกเขาลูกคนเดียว จึงต้องการให้พ่อแม่มาอยู่ด้วยกับพวกเขา” คุณยาน กล่าว
รัฐบาลอ้างความต้องการวีซ่าที่เพิ่มมากขึ้น การตรวจสอบใบสมัครที่เพิ่มขึ้น และการตรวจสอบที่จำเป็นต้องทำต่างๆ ทำให้ระยะเวลาในการพิจารณาวีซ่านั้นยาวนานขึ้น
“ระยะเวลาการพิจารณาวีซ่าถูกผลักดันจากปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งรวมไปถึง ปริมาณของใบสมัครที่เราได้รับ ความสมบูรณ์ของใบสมัครเหล่านั้น ผู้สมัครให้ข้อมูลตามที่กระทรวงร้องขอไปอย่างรวดเร็วเพียงใด ความซับซ้อนในการประเมินด้านความซื่อสัตย์ ด้านสุขภาพ ความประพฤติ และข้อกำหนดความมั่นคงของชาติ” โฆษกกระทรวงมหาดไทยของออสเตรเลีย ระบุในแถลงการณ์ที่ให้แก่เอสบีเอส นิวส์
กระทรวงยังได้กำหนดวีซ่าชั่วคราวสำหรับพ่อแม่ ซึ่งอนุญาตให้พ่อแม่ของผู้สมัครสามารถอยู่ในออสเตรเลียได้จนถึง 5 ปี ทำให้ง่ายขึ้นที่ครอบครัวจะได้อยู่ด้วยกัน
Junior chef Wei 'Mira' Chen is facing deportation after two businesses willing to sponsor her collapsed. Source: SBS News
สิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับหายไป
เช่นเดียวกับค่าสมัครขอวีซ่าที่สูญเปล่าไป เชงยังพลาดโอกาสได้รับสิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้างพึงได้รับ อันเนื่องมาจากธุรกิจทั้งสองแห่งที่ปิดกิจการไป
ขณะที่ลูกจ้างทั่วไปสามารถขอรับเงินชเชยผ่านโครงการของรัฐบาลได้ แต่เชงไม่มีสิทธิที่จะขอรับเงินชดเชยกว่า 13,000 ดอลลาร์ จากสิทธิลางานที่นายจ้างไม่ได้จ่ายให้เธอ เนื่องจากเธอไม่ใช่ผู้อยู่อาศัยถาวรในออสเตรเลีย
สหภาพแรงงานยูไนเตดวอยซ์เชื่อว่าระบบนั้นไม่ยุติธรรมเนื่องจากให้ทำให้ธุรกิจมีอำนาจมากเกินไปเหนือลูกจ้างที่ถือวีซ่า
“ลูกจ้างต่างเกรงกลัวที่จะร้องเรียน ... เพราะหากนายจ้างเลิกจ้างพวกเขา พวกเขาอาจถูกเนรเทศได้”
ติดตามฟังรายการ เอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี เวลา 22.00 น.
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
ออสฯ ลดผู้ย้ายถิ่นลง 30,000 มีทุนฯ ให้นร. ต่างชาติและผู้มีทักษะต้องอยู่นอกเมือง