นายจ้างเจ้าเล่ห์ทำลูกจ้างอดได้วีซ่า

NEWS: ตัวแทนดำเนินการด้านวีซ่าเผยกับเอสบีเอส ปัญจาบี ถึงตัวอย่างการฉ้อฉลของนายจ้างที่สปอนเซอร์วีซ่าให้ลูกจ้างผู้อพยพย้ายถิ่น ประกอบกับระยะเวลาการพิจารณาวีซ่าที่ยาวนาน ส่งผลให้ลูกจ้างหลายรายถูกปฏิเสธวีซ่าเนื่องจากธุรกิจปิดกิจการ

Australian Visa

Australian Visa Source: SBS

You can read the full story in English

“เหมือนใกล้จะเป็นจริง แต่แล้วก็ห่างไกลออกไปอีก” นี่คือสิ่งที่ เวย ‘มิรา’ เชน ลูกจ้างหญิงสาวชาวจีน กล่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ของเธอ หลังจากถูกปฏิเสธในสมัครขอวีซ่าถาวรของออสเตรเลียถึง 2 ครั้ง แม้ว่าจะได้รับการสปอนเซอร์การทำงานจากนายจ้างที่มีชื่อเสียงก็ตาม

เชน วัย 29  ได้งานทำในตำแหน่งรองหัวหน้า เชฟ ที่ร้านอาหาร เจมีส์ อิตาเลียน เรสเทอรองต์ ในซิดนีย์ ระหว่างที่ไปฝึกงานช่วงกำลังเรียนด้านนี้อยู่ และต่อมาเธอถูกย้ายไปทำงานที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งในเพิร์ท ซึ่งขาดแคลนเชฟที่มีประสบการณ์ ในเดือนธันวาคม 2015 บริษัทได้สปอนเซอร์เธอภายใต้โครงการวีซ่าการทำงานในพื้นที่ส่วนภูมิภาคโดยมีนายจ้างสปอนเซอร์ (Regional Sponsored Migration Scheme) หรือวีซ่าอาร์เอสเอ็มเอส เพื่อจะได้วีซ่าถาวร

ฉันบินไปยังเพิร์ทเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่นั่น เพียง 2 สัปดาห์หลังเรียนจบ เชน กล่าวกับ เอสบีเอส ปัญจาบี

ขณะที่รอการพิจารณาวีซ่าพีอาร์ที่เธอสมัครไปนั้น บริษัทคีสโตน กรุป ที่เป็นเจ้าของร้านอาหาร เจมีส์ อิตาเลียน เรสเทอรองต์ 6 สาขาในออสเตรเลีย เข้าสู่กระบวนการเลิกกิจการในช่วงกลางปี 2016 และไม่สามารถรับประกันการจ้างงานให้เชนได้เป็นเวลา 2 ปี อย่างที่เคยเสนอให้เธอ

“ระยะเวลาการพิจารณาวีซ่า อาร์เอสเอ็มเอส ซึ่งใช้เวลา 13 เดือนในขณะนั้น และหลังจาก 6 เดือนที่ฉันเริ่มทำงาน ใบสมัครวีซ่าของฉันก็ถูกกระทรวงตรวจคนเข้าเมืองปฏิเสธ เพราะงานของฉันไม่มั่นคง” เชน กล่าว

“ที่แย่ไปกว่านั้นอีกคือ เพิร์ท ถูกถอนออกจากพื้นที่ส่วนภูมิภาคในเดือนมีนาคม 2017 ซึ่งหมายความว่า วีซ่าอาร์เอสเอ็มเอส จะไม่ครอบคลุมถึงการทำงานในพื้นที่ของตัวเมืองเพิร์ทอีกต่อไป”
Restaurant
Pixabay Source: Pixabay
ขณะที่เชนทำงานที่ร้านอาหารดังกล่าวต่อไปในเพิร์ธ เครือร้านอาหาร เจมีส์ อิตาเลียน เรสเทอรองต์ ก็ถูกซื้อและกลับมาดำเนินกิจการอีกครั้ง และนายจ้างใหม่ก็เป็นสปอนเซอร์วีซ่าอาร์เอสเอ็มเอส ให้เชนย้ายไปทำงานที่สาขาของร้านในกรุงแคนเบอร์รา

แต่เชนก็ต้องพบกับอุปสรรคครั้งใหม่ในเดือนเมษายนปีที่แล้ว เมื่อร้านอาหารดังกล่าวในแคนเบอร์ราปิดตัวลง ก่อนที่จะเชนจะรู้ผลเรื่องวีซ่าที่เธอสมัครไป เธอกล่าวว่า พนักงานในร้านไม่ได้รับแจ้งใดๆ เลยจากนายจ้างถึงการปิดกิจการและเลิกจ้างงาน

แต่อย่างไรก็ตาม กระทรวงมหาดไทย ปฏิเสธที่จะออกวีซ่าให้เธอ แม้ว่าจะทราบว่าเชนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเธอก็ตาม

เธอได้รับผลร้ายจากการที่ธุรกิจสองแห่งซึ่งบริหารงานเครือร้านอาหารเข้าสู่กระบวนการเลิกกิจการในระยะเวลา 2 ปีครึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเหล่านี้ไม่อาจหักล้างข้อกำหนดที่ผู้ขอวีซ่าจะต้องมีนายจ้างเสนอตัวเป็นสปอนเซอร์ให้ได้ เจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทย กล่าว ขณะปฏิเสธวีซ่าของเชน

“ฉันถูกปฏิเสธวีซ่าถึงสองครั้ง ขณะทำงานให้ธุรกิจเจ้าเดียวกันที่ฉันมางานมานาน 3 ปี ใน 3 เมือง จากพื้นที่ตะวันออกไปถึงตะวันตก ตอนนี้ ฉันกลับตกอยู่ในสถานการณ์ที่ฉันถูกบีบบังคับให้ต้องออกจากประเทศโดยไม่ได้รับเงินค่าจ้างตามสิทธิที่มีเลย” เชน กล่าวอย่างไม่พอใจ

ซามูแอล เลา เป็นชายชาวมาเลเซีย ที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกับเชน ใบสมัครขอวีซ่า อาร์เอสเอ็มเอส ที่เขาสมัครไป ในเดือนมิถุนายน ปี 2016 ถูกปฏิเสธ หลังจากร้านอาหารแห่งหนึ่งในเพิร์ทที่เป็นสปอนเซอร์ให้เขาปิดกิจการลงในเดือนมีนาคม 2018 ขณะที่กำลังมีการพิจารณาวีซ่าของเขาอยู่
Samuel
นายซามูแอล เลา ที่ถูกปฏิเสธวีซ่า อาร์เอสเอ็มเอส หลังนายจ้างขายกิจการ (Image: Supplied) Source: Supplied
นายเลาวัย 37 ปี ขณะนี้ หาเลี้ยงชีพด้วยการขับรถรับจ้างกับอูเบอร์ กล่าวว่า ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เขาหวาดหวั่นกับการขอวีซ่าโดยต้องขึ้นอยู่กับนายจ้างเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

“มันไม่ยุติธรรมเลย ผมทำทุกอย่างถูกต้อง แต่นายจ้างเกิดขายกิจการ แล้วผมก็เลยแย่ไปด้วย” นายเลา กล่าว “ผมไม่อาจจะทำผ่านกระบวนการแบบนี้ได้อีกแล้ว เพราะนายจ้างเจ้าเล่ห์คนอื่นอาจทำเหมือนกันอีก”

นายเลา ขออุทธรณ์การตัดสินใจเรื่องวีซ่าของเขากับเอเอที (Administrative Appeals Tribunal) และยังขอให้รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของออสเตรเลียเข้าแทรกแซงการตัดสินใจในกรณีของเขาด้วย

นายจูจ์ฮาร์ บาจวา ตัวแทนดำเนินการด้านวีซ่า กล่าวว่า กระบวนการขอวีซ่าทุกวันนี้นั้นกินระยะเวลานานมาก

“จนกระทั่งเมื่อ 4-5 ปีก่อน วีซ่าประเภทนี้อนุมัติกันภายใน 1 เดือน แต่เมื่อเร็วๆ นี้กระทรวงมหาดไทยแสดงให้เราเห็นว่ากระทรวงวิตกเรื่องการทุจริตเกี่ยวกับวีซ่าประเภทนี้” นายบาจวา กล่าว

เขากล่าวต่อไปว่าวีซ่าที่ต้องมีนายจ้างเสนอตัวเป็นสปอนเซอร์ให้นั้นมีความเสี่ยง

“วีซ่าเหล่านี้ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับนายจ้าง เราได้เห็นมาหลายกรณีแล้วที่ธุรกิจขายกิจการขณะที่กำลังอยู่กระบวนการพิจารณาการขอเป็นสปอนเซอร์ลูกจ้าง” นายบาจวา ยกตัวอย่าง

เขากล่าวว่า อัตราการปฏิเสธวีซ่า อาร์เอสเอ็มเอส นั้นสูงมาก

“เกือบ 7 ใน 10 ของใบสมัครของวีซ่า อาร์เอสเอ็มเอส ถูกปฏิเสธไม่ให้วีซ่า เนื่องจากมีความเป็นห่วงเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านการเงินของธุรกิจ และความสามารถในการจ่ายค่าจ้างลูกจ้างได้เป็นเวลา 2 ปีอย่างต่อเนื่อง”

เชน ลูกจ้างร้านอาหารชาวจีน กล่าวว่า ระยะเวลาการพิจารณาวีซ่าที่ยาวนาน ส่งผลต่อชะตากรรมของเธอที่เกิดขึ้นจากการที่นายจ้างปิดกิจการ

“ยิ่งใช้เวลานานมากเท่าไร ก็ยิ่งเสี่ยงต่อผู้สมัครมากเท่านั้น ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่สามารถเข้าไปควบคุมธุรกิจได้ ฉันไม่ได้ทำอะไรผิด แต่กลับลงเอยด้วยการต้องเสียเวลา เสียเงิน และทำงานหนักไปโดยไร้ประโยชน์ แล้วฉันก็ทำอะไรไม่ได้เลยเกี่ยวกับเรื่องนี้” เชน กล่าว

ติดตามฟังรายการ เอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี เวลา 22.00 น.

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 



Share
Published 21 January 2019 3:32pm
By Shamsher Kainth
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS Punjabi


Share this with family and friends