- รัฐบาลจะลดเพดานจำนวนผู้อพยพย้ายถิ่นฐานเข้าประเทศรายปีลงจาก 190,000 เป็น 160,000 รายในช่วงสี่ปีข้างหน้านี้
- จะมีวีซ่าใหม่จำนวน 23,000 รายให้ลูกจ้างซึ่งมีทักษะอยู่อาศัยในพื้นที่ส่วนภูมิภาค (เพิ่มขึ้นมากกว่าสามเท่า) เป็นเวลาสามปีก่อนที่จะสามารถยื่นขอเป็นผู้อยู่อาศัยถาวรได้
- คาดว่ามีตำแหน่งงานที่ว่างอยู่ในพื้นที่ส่วนภูมิภาคของออสเตรเลียจำนวน 47,000 ตำแหน่ง
- จำนวนผู้อพยพย้ายถิ่นฐานซึ่งมีนายจ้างเป็นผู้สนับสนุนหรือสปอนเซอร์ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 39,000 ราย
- ไม่มีความเปลี่ยนแปลงต่อช่องทางด้านครอบครัวของโปรแกรม ซึ่งมีจำนวน 48,000 วีซ่า
- มีทุนการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยมูลค่า $15,000 มอบให้นักศึกษาท้องถิ่นและนักศึกษานานาชาติจำนวน 1,000 คนต่อปีเพื่อเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในพื้นที่ส่วนภูมิภาค
- นักศึกษานานาชาติจะสามารถทำงานในออสเตรเลียได้เพิ่มขึ้นกว่าเดิมอีกหนึ่งปี หลังจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค
โดยทางรัฐบาลคาดว่าการลดจำนวนดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบใดๆ ต่องบประมาณแผ่นดินสหพันธรัฐ
นายมอร์ริสันกล่าวว่าออสเตรเลียได้เจริญขึ้นจากการเพิ่มของประชากรที่คงที่ แต่ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาโครงสร้างพื้นฐานและบริการต่างๆ นั้นประสบความยากลำบากที่จะตามทัน
เขาชี้ไปที่ผู้อพยพย้ายถิ่นฐานส่วนใหญ่ ซึ่งได้ตั้งรกรากในนครหลวงต่างๆ ทำให้มีแรงกดดันที่มีนัยสำคัญต่อท้องถนนและการขนส่งมวลชน
เพื่อเป็นการยับยั้งแนวโน้มดังกล่าว รัฐบาลได้เริ่มต้นใช้วีซ่าใหม่ซึ่งให้ลูกจ้างที่มีทักษะจะต้องอยู่อาศัยในพื้นที่ส่วนภูมิภาคเป็นเวลาสามปีก่อนที่จะสามารถยื่นขอเป็นผู้อยู่อาศัยถาวรได้
โดยจะมีวีซ่าจำนวน 23,000 รายที่กันเอาไว้ให้วีซ่าส่วนภูมิภาคประเภทใหม่ ซึ่งจำนวนดังกล่าวนั้นมากกว่าสามเท่าของจำนวนผู้อพยพย้ายถิ่นซึ่งถูกบังคับให้ต้องใช้เวลาสองปีในพื้นที่ห่างไกลในขณะนี้
รัฐมนตรีด้านประชากร นายอลัน ทัดจ์ กล่าวว่า เมืองเล็กๆ นั้นต่างเรียกร้องเพื่อให้มีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น โดยคาดว่ามีตำแหน่งงานที่ว่างอยู่ในพื้นที่ส่วนภูมิภาคของออสเตรเลียจำนวน 47,000 ตำแหน่ง
“พื้นที่ส่วนภูมิภาคบางแห่งก็ไม่สามารถที่จะเติมเต็มตำแหน่งงานที่มีอยู่ได้” เขากล่าว
จำนวนผู้อพยพย้ายถิ่นฐานซึ่งมีนายจ้างเป็นผู้สนับสนุนหรือสปอนเซอร์ ถูกเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 39,000 ราย แต่จะไม่มีความเปลี่ยนแปลงต่อช่องทางด้านครอบครัวของโปรแกรม ซึ่งมีจำนวน 48,000 วีซ่า
ในขณะเดียวกัน ก็มีทุนการศึกษาระดับตติยภูมิ(ระดับมหาวิทยาลัย) มูลค่า $15,000 ที่จะมอบให้กับนักศึกษาท้องถิ่นและนานาชาติจำนวน 1000 คนต่อปีเพื่อเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยในพื้นที่ส่วนภูมิภาค
นักศึกษานานาชาติยังจะสามารถทำงานในออสเตรเลียได้เพิ่มขึ้นกว่าเดิมอีกหนึ่งปี หลังจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค
“เรื่องนี้เกี่ยวกับการบริหารจัดการประชากร มันเกี่ยวกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน มันเกี่ยวกับการลดความแออัดบนท้องถนนของเรา” นายมอร์ริสันกล่าวกับรายการซันไรส์ทางช่องเจ็ดในวันนี้
ผู้นำฝ่ายค้านนายบิลล์ ชอร์เทน ยืนยันว่าพรรคแรงงานยินดีที่จะลดจำนวนการรับผู้อพยพย้ายถิ่นฐานรายปีลงเหลือ 160,000 แต่ก็เตือนไม่ให้มีการ “เป่านกหวีดสำหรับสุนัข” (การเหยียดเชื้อชาติโดยไม่พูดตรงๆ) ในเรื่องนโยบายประชากร
นายกรัฐมนตรีได้ปกป้องช่วงเวลาที่เขาทำการตัดสินใจลดจำนวนการอพยพย้ายถิ่นฐานเข้าประเทศลง 30,000 ราย ซึ่งเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังเกิดการก่อการร้ายในนครไครสต์เชิร์ช
มือปืนผู้ต้องหาในการจู่โจมเมื่อวันศุกร์ ถูกกล่าวหาว่าบ่มเพาะความเกลียดชังต่อผู้อพยพย้ายถิ่นฐานชาวมุสลิม แต่นายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสัน กล่าวว่ามันน่าผิดหวังที่เหตุการณ์ดังกล่าวถูกเชื่อมโยงเข้ากับการลดการอพยพย้ายถิ่นฐานเข้าประเทศ
“มันเกี่ยวกับการมีโครงการให้มีความเป็นปึกแผ่นทางสังคม ซึ่งก็จะยิ่งทำให้ชาวออสเตรเลียนั้นหันหน้าเข้าหากัน”
โครงการรับผู้อพยพย้ายถิ่นฐานเข้าประเทศประจำปีนั้นถูกลดจำนวนลง 30,000 ราย โดยเป็นความพยายามที่จะลดแรงกดดันด้านประชากรต่อนครหลวงต่างๆ ที่แออัด
นายมอร์ริสันกล่าวว่า เขาต้องการให้คนทำงานทั่วๆ ไปในนครหลวงต่างๆ ใช้เวลาในการเดินทางให้น้อยลง ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้ชุมชนห่างไกลและพื้นที่ส่วนภูมิภาคซึ่งประสบกับความยากลำบากนั้นมีชีวิตชีวาเพิ่มมากขึ้น
เขาปฏิเสธความวิตกกังวลที่ว่าความแออัดนั้นมีแรงขับดันมาจากการเหยียดเชื้อชาติ โดยกล่าวว่าผู้อพยพย้ายถิ่นฐานนั้นเป็นส่วนที่สำคัญของโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจของออสเตรเลีย
“เราจะไม่ไขว้เขวไปจากหน้าที่ซึ่งมีอยู่ ที่จะทำให้นครและเมืองต่างๆ ของออสเตรเลียนั้นน่าอยู่มากยิ่งขึ้นไปอีก” นายมอร์ริสันกล่าว
“ใครที่จะต้องการเล่นการเมืองหรือรณรงค์สร้างความตื่นกลัวจากการประกาศเหล่านี้ พวกเขาคิดว่าชาวออสเตรเลียนั้นหลอกได้ง่าย”
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
นายกฯมอร์ริสันยันการลดรับผู้อพยพไม่เกี่ยวกับการเหยียดเชื้อชาติ
ติดตามฟังรายการ เอสบีเอส ไทย ได้ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี เวลา 22.00 น.
ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ ที่นี่
เรื่องราวที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย
ดร. แพทริก จอรี เจาะการเมืองไทยโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง