รัฐบาลสหพันธรัฐเตรียมจะลดจำนวนการรับผู้อพยพย้ายถิ่นถาวรประจำปี โดยนายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสัน ปฏิเสธว่าความวิตกเกี่ยวกับความคับคั่งของเมืองใหญ่ไม่ได้ถูกผลักดันจากการเหยียดเชื้อชาติ
คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติการเปลี่ยนแปลงนี้แล้ว โดยจะตัดลดจำนวนการรับผู้อพยพย้ายถิ่นถาวรประจำปีลง 30,000 คน จากรายงานของ ดิ ออสเตรเลียน
เชื่อว่านายกรัฐมนตรีได้เลื่อนเวลาการประกาศเรื่องนี้ออกไปก่อน หลังเหตุการณ์การโจมตีก่อการร้ายที่เมืองไครเชิร์ช
นับตั้งแต่การโจมตีก่อการร้ายของผู้มีแนวคิดขวาจัดที่สังหารผู้คนไป 50 รายนั้น ผู้นำมุสลิมและพรรคกรีนส์กล่าวหานักการเมืองหัวอนุรักษ์นิยมบางคนว่า ส่งสารแบบมีความหมายแฝงไปยังคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ และโหมกระพือความหวาดกลัวเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยและผู้อพยพย้ายถิ่น
ในการกล่าวสุนทรพจน์ที่เมลเบิร์นเมื่อวันจันทร์ (18 มี.ค.) นายสกอตต์ มอร์ริสัน ประณามการใช้ความวิตกเรื่องการอพยพย้ายถิ่นมาเป็นข้ออ้างก่อเหตุก่อการร้าย ซึ่งเขากล่าวว่า “เป็นสิ่งที่ต่ำทราม”
“เช่นเดียวกันกับการสนับสนุนการลดจำนวนรับผู้อพยพ ซึ่งมีแรงผลักดันจากความเกลียดชังด้านเชื้อชาติ” นายมอร์ริสัน กล่าวในสุนทรพจน์เมื่อวันจันทร์
เขาเตือนเรื่อง “ความเชื่อเกี่ยวกับเผ่าพันธุ์ที่ไร้เหตุผล” และการปล่อยให้การอภิปรายเรื่องการปกป้องพรมแดนและการอพยพย้ายถิ่น ถูกคน “ฉวยโอกาส” นำไปใช้เป็นเครื่องมือสำหรับแบ่งแยกในสังคม
“เพียงเพราะชาวออสเตรเลียรู้สึกวิตกเกี่ยวกับการจราจรติดขัด และคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะในเมืองที่กำลังขยายตัวอย่างเมลเบิร์น ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาต่อต้านการรับผู้อพยพย้ายถิ่น หรือเหยียดเชื้อชาติ” นายมอร์ริสัน กล่าว
แผน “สะกัดความคับคั่ง” ที่ว่านี้ยังจะบังคับให้ผู้อพยพย้ายถิ่นที่มีทักษะการทำงานจำนวนหนึ่งต้องอาศัยอยู่ในเมืองอื่นนอกเหนือจากซิดนีย์และเมลเบิร์นเป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปี
นอกจากนี้ รัฐบาลจะให้สิ่งจูงใจสำหรับนักเรียนต่างชาติให้ไปเรียนในมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้ตั้งอยู่ในซิดนีย์และเมลเบิร์น โดยเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะลดความแออัดคับคั่งในเมืองใหญ่ทั้งสองแห่ง
รัฐมนตรีบางคนที่เชื่อมโยงผู้ลี้ภัยกับการก่อการร้าย
เมื่อถามว่าความหวาดกลัวคนอื่น ถูกใช้ไปเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองหรือไม่ในรายการโทรทัศน์ คิวแอนด์เอ ของเอบีซี นางลินดา เรย์โนลส์ สมาชิกใหม่ล่าสุดของคณะรัฐมนตรี ดูเหมือนจะเชื่อมโยงเรื่องการขอมารับการรักษาทางการแพทย์ของผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยกับผู้ก่อการร้าย
“สถานการณ์ที่คุณพูดถึงเป็นสิ่งที่ฉันได้ประสบมา เมื่อเดือนที่แล้ว ฉันได้กล่าวสุนทรพจน์ที่อาจจะยากลำบากที่สุดและเป็นส่วนตัวที่สุดเท่าที่ฉันเคยกล่าวในรัฐสภา และนั่นเป็นสุนทรพจน์ตอบโต้ร่างแก้ไขกฎหมายที่พรรคแรงงานเสนอสำหรับกฎหมายด้านการส่งตัวผู้ขอลี้ภัยเข้ามารับการรักษาตัวในออสเตรเลีย หรือเมเดแวก” วุฒิสมาชิกเรย์โนลส์ ตอบ“ฉันรู้สึกป่วยทางกายอย่างแท้จริง เมื่อได้เห็นเพื่อนร่วมวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฏรในห้องประชุมสภาส่งเสียงโห่ร้องแสดงความยินดีกันกับการผ่านร่างกฎหมายเหล่านั้น เพราะฉันเป็นหนึ่งในไม่กี่คนในห้องประชุมสภาที่มีชีวิตรอดจากการก่อการร้ายและผลกระทบที่เกิดขึ้น จากเหตุการณ์ระเบิดในบาหลี”
Liberal frontbencher Linda Reynolds linked refugees seeking medical treatment in Australia to the Bali bombings. Source: AAP
“ฉันอยู่ที่นั่น ฉันได้เห็น ฉันได้กลิ่น และฉันเกิดความเข้าใจในการมองมนุษย์เป็นสินค้า มีคนในชาติเรา และมีคนในต่างประเทศที่ต้องการทำร้ายพวกเรา พวกเขาไม่เคารพในความเห็นอกเห็นใจของเรา และแน่นอนพวกเขาไม่เคารพในวิถีการดำเนินชีวิตของพวกเรา”
เมื่อนายโทนี โจนส์ ผู้ดำเนินรายการ ถามวุฒิสมาชิกเรย์โนลส์ ว่าเธอกำลังชี้ว่ามีความเชื่อมโยงระหว่างเหตุระเบิดบาหลีกับผู้ขอลี้ภัยที่นาอูรูและเกาะมานัสใช่หรือไม่ เธอกล่าวว่า “สิ่งที่ฉันกำลังพูดถึงคือการที่เพื่อนร่วมสภาส่งเสียงโห่ร้องสนับสนุนนโยบายนี้ ซึ่งในที่สุดแล้วจะนำไปสู่การค้าที่นำผู้ลี้ภัยลงเรือเข้ามาอีกครั้ง”
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
รัฐบาลเผยแผนออกวีซ่าด่วนให้ผู้อพยพในส่วนภูมิภาค
ติดตามฟังรายการ เอสบีเอส ไทย ได้ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี เวลา 22.00 น.
ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ ที่นี่
เรื่องราวที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย
เตือนนักการเมืองระวังวาทกรรมสร้างความเกลียดชัง