เตือนนักการเมืองระวังวาทกรรมสร้างความเกลียดชัง

NEWS: นายกรัฐมนตรีและนักการเมืองหลายคนร่วมกิจกรรมทางศาสนาในวันอาทิตย์ เพื่อแสดงความสมานฉันท์ ต่อต้านวาจาสร้างความเกลียดชัง แต่บางคนกล่าวว่าที่จริงแล้ววาทกรรมทางการเมืองเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างปัญหา

You can read the full story in English

มีเสียงเรียกร้องให้นักการเมืองออสเตรเลียคำนึงถึงบทบาทของตนที่กระพือวาจาสร้างความเกลียดชังในชุมชนบางส่วน หลังเหตุการณ์การกราดยิงที่มัสยิดสองแห่งในประเทศนิวซีแลนด์

มีประชาชนราว 200 คนชุมนุมกันหน้าสถานกงสุลนิวซีแลนด์ ในซิดนีย์ เพื่อต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติและความเชื่อรุนแรงอย่างไม่มีเหตุผล

นางเมห์รีน ฟารุคี วุฒิสมาชิกพรรคกรีนส์ ของนิวเซาท์เวลส์ ได้เข้าร่วมการชุมนุนต่อต้านความกลัวอิสลามอย่างไร้เหตุผล เธอกล่าวว่าเพื่อนร่วมงานในวุฒิสภาบางคนที่เป็นต้นเหตุของปัญหา

“บางคนยกหยิบยกเรื่องการต่อต้านอิสลามและการต่อต้านผู้อพยพมาเพื่อจะชนะการเลือกตั้ง และฉันคิดว่านั่นน่าขยะแขยง” วุฒิสมาชิกฟารุคี บอกกับ เอสบีเอส นิวส์

“ชาวมุสลิมพูดมานานหลายปีแล้วว่าการใช้ภาษาลดทอนความเป็นมนุษย์พวกเราจะสร้างความเสียหาย และเราจะไม่เข้าไปเล่นเกมส์นี้ด้วย เกมส์ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ชีวิตของพวกเรา”
NSW Greens Senator Mehreen Faruqi at the anti-Islamophobia rally in Sydney. Twitter
NSW Greens Senator Mehreen Faruqi at the anti-Islamophobia rally in Sydney. Source: Twitter
นางฟารุคี ต้องการให้นักการเมืองให้คำมั่นจะประณามการเหยียดเชื้อชาติและความเชื่อรุนแรงอย่างไม่มีเหตุผล โดยบอกว่าเธอรู้สึกเศร้าใจและผิดหวังที่ต้องมีผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตไปถึง 50 คนจึงจะมีการมองเห็นความสำคัญของปัญหานี้

“ฉันหวังอย่างยิ่งว่าจากนี้นักการเมืองจะเริ่มรับฟังและเริ่มกระทำตามนั้น แต่ความจริงแล้วมันไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดเรื่องก่อนเลย เราควรทำได้ดีกว่านี้ตั้งนานแล้ว” นางฟารุคี กล่าว

นายชิน แทน กรรมธิการด้านการเหยียดเชื้อชาติ กล่าวว่า เขาเชื่อว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องกำหนดขอบเขตอย่างชัดเจนว่าจะไม่มียอมรับวาจาสร้างความเกลียดชังในทุกภาคส่วนของสังคม รวมทั้งในรัฐสภาด้วย

เขาบอกกับ เอสบีเอส นิวส์ ว่านักการเมืองควรเอาใจใส่เรื่องผลจากวาทกรรมของตนเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยและผู้อพยพย้ายถิ่น

“นักการเมืองก็เหมือนกันคนอื่นๆ ที่มีความรับผิดชอบ โดยเฉพาะบทบาทที่พวกเขามีเนื่องจากเป็นตำแหน่งที่ไม่เหมือนใครในรัฐสภา สิ่งที่พวกเขาพูดมีผลกระทบต่อสิ่งที่ประชาชนคิด” นายแทน กล่าว

มีการพุ่งความสนใจไปที่สื่อมวลชนด้วย ที่มีบทบาทเช่นกันในการเผยแพร่ความเห็นของผู้มีความคิดรุนแรงสุดโต่ง

“มีเพียงเส้นบางๆ กั้นระหว่างเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น กับการแพร่กระจายวาจาสร้างความเกลียดชัง คุณต้องชี้ว่าผิดทันทีที่นักการเมืองพูดและตรวจสอบพวกเขาอย่างละเอียด ตั้งคำถามพวกเขา และฉันคิดว่านั่นเป็นสิ่งที่ไม่ได้กำลังเกิดขึ้น”

“พวกเขาไม่ได้ตรวจสอบสิ่งที่คนอย่างพอลลีน แฮนสัน (หัวหน้าพรรควันเนชัน) และเฟรเซอร์ แอนนิง (นักการเมืองอิสระ) และแม้แต่ที่พรรคลิเบอรัลกำลังพูดถึง”

นายบิล ชอทเทน หัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน ที่ได้ไปร่วมพิธีที่มัสยิดแห่งหนึ่งในเมลเบิร์นเมื่อวันอาทิตย์ กล่าวว่า โซเชียลมีเดียปล่อยให้วาจาสร้างความเกลียดชังเผยแพร่ออกไปอย่างง่ายดาย

“โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมืออันยอดเยี่ยม แต่ไม่ควรถูกใช้เป็นปลักตมให้คนที่ทำผิดได้หลบซ่อน และคอยคลานออกมาทำความผิดอีก นายชอทเทน บอกกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันอาทิตย์”

นายแทน กล่าวว่า ควรมีการศึกษาวิจัยเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบของโซเชียลมีเดียในการแพร่กระจายการเหยียดเชื้อชาติ

“เราจำเป็นต้องคุยกับบริษัทผู้ให้บริการว่าพวกเขาจะรับผิดชอบอย่างไรในสิ่งที่พวกเขาแสดงให้เห็นและข้อมูลที่ปล่อยให้เผยแพร่ออกไปได้” นายแทน ระบุ
Archbishop of Sydney Anthony Fisher (left) greets Prime Minister Scott Morrison and wife Jenny Morrison during an Interfaith gathering at St Mary's Cathedral.
Source: AAP
ด้านนายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสัน ใช้เวลาในวันอาทิตย์เข้าร่วมพิธีทางศาสนาสำหรับผู้คนหลากความเชื่อที่โบสถ์คอปติก ในซิดนีย์

“ท่ามกลางเหตุการณ์โหดร้ายที่เลวร้ายที่เกิดขึ้น ยังมีความหวังว่าเราสามารถยึดมั่นในใจได้ นั่นคือมีผู้คนที่รักสันติอยู่ทั่วโลก” นายมอร์ริสัน กล่าว

“เราสามารถมาร่วมใจกันเพื่อต่อต้านความเกลียดชังและความรุนแรงเหล่านี้ และเราทุกคนยืนหยัดด้วยกันในฐานะบุคคลหลากหลายศาสนา หรือไม่มีศาสนาเลยก็ตาม เรายืนหยัดด้วยกัน เพื่อผู้บริสุทธิ์ เพื่อสันติภาพ และเพื่อความรัก ที่อยู่เหนือความเกลียดชัง”

ติดตามฟังรายการ เอสบีเอส ไทย ได้ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี เวลา 22.00 น.

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ ที่นี่




Share
Published 18 March 2019 10:54am
By Rosemary Bolger
Presented by Parisuth Sodsai


Share this with family and friends