ปมผวาโควิด-19 ทำแพทย์ไอซียูในซิดนีย์ถูกไล่จากบ้านเช่า

แพทย์ไอซียูในซิดนีย์ถูกไล่ออกจากบ้านเช่า จากความหวาดกลัวสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 เรียกร้องความชัดเจนของนโยบายรัฐ ในการจัดสรรที่อยู่อาศัยฟรีสำหรับคนทำงานด้านสุขภาพ

Hannah's was asked to leave her share house because of coronavirus fears.

Hannah was asked to leave her share house because of coronavirus fears. Source: SBS News

แฮนนา (ชื่อสมมุติ) ตกใจอย่างมาก เมื่อผู้ปล่อยบ้านแชร์ให้เช่าซื่งเธออยู่อาศัยมาเป็นเวลา 9 เดือน เรียกเธอไปพบ ระหว่างที่กำลังดูข่าวภาคค่ำ เพื่อที่จะบอกเธอให้ย้ายออกไปจากที่นี่

“ฉันรู้สึกว่าไม่ได้ทันตั้งตัว ฉันไม่เคยมีปัญหาอะไรระหว่างอยู่ที่นี่เลย ก่อนหน้านี้ความสัมพันธ์ของฉันกับผู้ปล่อยเช่าก็ยังดีอยู่” เธอกล่าวกับเอสบีเอส นิวส์

“เธอพูดอย่างเดียวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาแย่ลงจริง ๆ ฉันคิดว่าเธอคงอยู่ที่นี่ต่อไปไม่ได้”

เธอเชื่อว่า ความหวาดกลัวของผู้ปล่อยเช่านั้นมาจากงานที่เธอทำ ในฐานะเจ้าหน้าที่แพทย์แผนกผู้ป่วยหนัก (ไอซียู)

ตั้งแต่เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เธอไม่เคยพบกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 แต่ความไม่แน่นอนของการแพร่กระจายของไวรัสนี้ ประกอบกับข่าวสารต่าง ๆ ที่แสดงให้เห็นว่า ​สถานการณ์มีความตึงเครียดเพียงใดในประเทศอื่น ๆ อย่างเช่น อิตาลี และสหรัฐฯ ทั้งหมดนี้เติมเชื้อไฟให้เกิดความกังวล

“ในวันถัดมา ฉันนั่งคุยกับเธอ เพื่ออธิบายให้เธอฟังว่า ฉันต้องทำอะไรบ้าง เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อหรือการปนเปื้อน ทุกขั้นตอนที่ฉันทำ เพื่อให้แน่ใจว่าเธอจะปลอดภัย รวมถึงคนอื่น ๆ และตัวฉันเองด้วย เธอบอกว่า เธอก็รู้สึกดีคำตอบของฉัน ซึ่งทำให้ฉันสามารถอยู่ต่อได้” คุณแฮนนาเล่า 

“แต่สัปดาห์ถัดมา ฉันได้รับข้อความทางโทรศัพท์ เธอถามฉันว่า ทำไมยังไม่ย้ายออกไปอีก เธอต้องการให้ฉันย้ายออกไปจากที่นี่ทันที”
Health workers have been offered temporary accommodation in NSW.
Health workers have been offered temporary accommodation in NSW. Source: AAP
คุณแฮนนาบอกว่า เธอรู้สึกผิดหวัง

“ฉันไม่เข้าใจว่าทำไมเธอถึงทำแบบนี้ ฉันจะเข้าใจเธอมากกว่านี้ ถ้าหากเธอ หรือเพื่อนบ้านคนอื่น ๆ อยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยง แต่ถึงกระนั้น เพื่อนบ้านของฉันก็ยังอายุน้อย แล้วก็ทำงานเต็มเวลา ซึ่งเป็นงานที่ต้องติดต่อกับผู้คนแปลกหน้าทุกวันด้วย” คุณแฮนนากล่าว

“ตอนแรกฉันรู้สึกว่าฉันได้งานที่มั่นคงที่สุด เพราะฉันทำงานในแผนกที่มีความมิดชิด ผู้ป่วยทุกคนที่มาในแผนกนี้ผ่านการคัดกรองเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว”

นโยบายห้ามไล่ผู้เช่าก็ไม่ครอบคลุม

คุณแฮนนากล่าวว่า การหาที่อยู่ใหม่ในช่วงกลางเดือนเมษายน คือประสบการณ์ที่เลวร้ายที่สุดในเส้นทางอาชีพของเธอ

“มันเลวร้ายมาก เพราะฉันต้องทำงานหลายชั่วโมง แล้วก็มีมาตรการจำกัดไม่ให้ไปดูบ้านเนื่องจากการระบาดใหญ่ ฉันรู้สึกถึงแรงกดดันในการต้องย้ายออกไปอย่างรวดเร็ว เพราะฉันรู้สึกว่าที่นี่ไม่ต้อนรับ ฉันหมดหวัง” คุณแฮนนากล่าว

คุณลีโอ แพทเทอร์สัน รอส (Leo Patterson Ross) ที่ปรึกษาด้านนโยบายอาวุโส จากสหภาพผู้เช่ารัฐนิวเซาท์เวลส์ บอกกับเอสบีเอส นิวส์ ว่า ความเป็นอยู่ของแฮนนานั้น หมายถึง การไม่ได้รับการคุ้มครองในฐานะ “ผู้เช่า” ดังนั้น นโยบายคุ้มครองผู้เช่าใด ๆ เช่น นโยบายห้ามไล่ผู้เช่าที่เพิ่งประกาศเมื่อไม่นานมานี้ จะไม่มีผลสำหรับเธอ

“หากคุณอาศัยอยู่กับผู้ปล่อยเช่านั้น สรุปได้ว่า คุณไม่ใช่ผู้เช่า คุณก็ไม่มีข้อตกลงระหว่างผู้เช่าที่พักอาศัยและผู้ปล่อยเช่น และคุณก็ไม่ได้รับความคุ้มครอง ตามประมวลกฎหมายผู้เช่าที่พักอาศัย (Residential Tenancies Act) และคุณก็จะไม่ได้รับการปกป้องใด ๆ เลย” คุณรอส ที่ปรึกษาด้านนโยบายอาวุโสจากสหภาพผู้เช่ารัฐนิวเซาท์เวลส์กล่าว

“ทั่วออสเตรเลีย มีคนนับหมื่นที่อาศัยอยู่โดยไม่มีข้อตกลงระหว่างผู้ปล่อยเช่าและผู้เช่าที่พักอาศัยอย่างถูกต้อง และถึงแม้ในกรณีของเธอจะได้รับการพิจารณาว่าเป็นผู้เช่า นโยบายห้ามไล่ผู้เช่าก็ไม่สามารถช่วยเธอได้ เนื่องจากเธอถูกไล่ออกจากสถานที่ให้เช่าด้วยเหตุผลอื่น นอกเหนือจากความเดือดร้อนทางการเงิน อันเป็นผลกระทบการแพระบาดของไวรัสโควิด-19”

เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา รัฐบาลรัฐนิวเซาท์เวลส์ ได้ประกาศว่า จะจัดเตรียมที่พักให้กับคนทำงานด้านสุขภาพในแนวหน้า ซึ่งปฏิบัติหน้าที่เพื่อต่อสู้กับวิกฤตไวรัสโคโรนา เช่น แพทย์ พยาบาล หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน รวมถึงเจ้าหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องในโรงพยาบาล และรถพยาบาลฉุกเฉิน ซึ่งยังจะช่วยปกป้องครอบครัวของพวกเขาให้ปลอดภัยจากวิกฤตไวรัสอีกด้วย

นางแกลดีส์ เบเรจิเกลียน มุขมนตรีรัฐนิวเซาท์เวลส์ กล่าวว่า รัฐบาลจะใช้จ่ายงบประมาณจำนวนกว่า $60 ล้านดอลลาร์ ในการจัดหาที่พักสำหรับคนทำงานด้านสุขภาพซึ่งมีความกังวลว่า อาจทำให้ชีวิตของคนรอบข้างตกอยู่ในความเสี่ยง แต่คุณแฮนนาบอกว่า เธอได้รับการจัดสรรที่พักเพียงระยะสั้นในโรงพยาบาล และเธอต้องจ่ายถึงคืนละ $220 ดอลลาร์

“ฉันไม่คิดว่านั้นจะเป็นสิ่งที่คุ้มค่า ในการย้ายไปอยู่ที่ใดสักแห่งเป็นเวลาชั่วคราวด้วยราคาแบบนั้น มันจะดีกว่าถ้าฉันหาที่อยู่อื่นในระยะยาว” คุณแฮนนากล่าว

“ฉันเคยได้ยินเกี่ยวกับเรื่องการสนับสนุนที่พักอาศัยฟรี เพื่อนของฉันเคยส่งบทความจากสื่อให้ฉันอ่านอยู่หลายครั้ง แต่ไม่มีใครรู้ว่าจะเข้าถึงบริการนี้ได้อย่างไร”
A for lease sign is displayed in front of a house in Sydney on Wednesday, April 26, 2017. (AAP Image/Paul Miller) NO ARCHIVING
Source: AAP
เอสบีเอส นิวส์ ได้ติดต่อสอบถามไปยังหน่วยงานสาธารณสุขรัฐนิวเซาท์เวลส์ โดยได้รับคำตอบกลับมาว่า หน่วยงานดังกล่าว ได้ส่งข้อมูลเกี่ยวกับข้อเสนอที่พักอาศัยชั่วคราว และอาหารฟรี เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (5 พ.ค.) ซึ่งเป็นเวลาหนึ่งเดือน หลังจากรัฐบาลรัฐนิวเซาท์เวลส์ประกาศนโยบายดังกล่าว

“เจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพที่ต้องการที่พักอาศัยชั่วคราว ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ควรติดต่อหน่วยงานด้านสุขภาพที่ตนทำงานอยู่ เพื่อจัดการสำรองที่พักอาศัยในพื้นที่ท้องถิ่น” แถลงการณ์จากโฆษกหน่วยงานด้านสาธารณสุขรัฐนิวเซาท์เวลส์ระบุ 

“เขตสุขภาพท้องถิ่นจะประเมินคำร้องจากเจ้าหน้าที่ซึ่งสังกัดในหน่วยงานในการจัดสรรที่พักอาศัยชั่วคราว โดยใช้การประเมินบนพื้นฐานของความเสี่ยง ซึ่งจะพิจารณาจากกรณีต่าง ๆ ของผู้ปฏิบัติงานรายนั้น”

โฆษกหน่วยงานด้านสาธารณสุขรัฐนิวเซาท์เวลส์ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพเริ่มรับข้อเสนอในการจัดสรรที่พักอาศัยฟรี ซึ่งได้รับการจองไว้ผ่านระบบบริการจัดการเดินทางที่มีอยู่แล้ว

แต่คุณแฮนนา กล่าวว่า เธอยังรู้สึกไม่ชัดเจนเกี่ยวกับการเข้าถึงข้อเสนอดังกล่าว

“ฉันรู้สึกว่า มันจะต้องเชื่อมโยงระหว่างตัวโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพ รวมถึงรัฐบาลซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายเหล่านี้ แต่ความเชื่อมโยงในการทยอยทำให้แพทย์ที่ประสบเหตุการณ์เดียวกันนี้ ได้รับการจัดสรรที่อยู่นั้นอยู่ที่ไหนกัน ไม่ได้มีเพียงฉันเพียงคนเดียวที่พบเจอเหตุการณ์ในลักษณะนี้” คุณแฮนนากล่าว

คุณแดเนียล แม็กมัลเลน (Daniel McMullen) จากสมาคมเจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพแห่งออสเตรเลีย รัฐนิวเซาท์เวลส์ ได้ออกมากระตุ้นให้คนทำงานด้านสุขภาพที่ต้องการที่พักอาศัยในลักษณะเดียวกับโครงการนี้ ออกมายื่นขอรับการจัดสรร

“ถ้าพวกเขามีความยากลำบาก พวกเขาสามารถติดต่อหน่วยงาน อย่างเช่น สมาคมเจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพแห่งออสเตรเลีย (AMA) เราสามารถช่วยเหลือในขั้นตอนเหล่านี้ได้” คุณแม็กมัลเลนกล่าว

“การได้มันมาอาจดูคลุมเครือ แต่อย่างไรแล้ว มันก็ยังมีหนทางในการรับความช่วยเหลือในส่วนนี้”

ประชาชนในออสเตรเลียต้องอยู่ห่างกับผู้อื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร ให้ตรวจสอบข้อจำกัดในรัฐของคุณเกี่ยวกับการรวมกลุ่มกัน

การตรวจเชื้อไวรัสโคโรนาขณะนี้สามารถทำได้ทั่วออสเตรเลีย หากคุณมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้ติดต่อขอรับการตรวจเชื้อได้ด้วยการโทรศัพท์ไปยังแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลข 1800 020 080

รัฐบาลสหพันธรัฐออสเตรเลียยังได้มีแอปพลิเคชัน COVIDSafe เพื่อติดตามและแจ้งเตือนผู้ที่พบปะใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งคุณสามารถดาวน์โหลดมาใช้ได้จากแอปสโตร์ (app store) สำหรับโทรศัพท์มือถือของคุณ

เอสบีเอสมุ่งมั่นให้ข้อมูลข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อโควิด-19 แก่ชุมชนหลากหลายภาษาในออสเตรเลีย เรามีข่าวและข้อมูลเป็นภาษาต่างๆ 63 ภาษาที่เว็บไซต์ 

คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Published 7 May 2020 6:00pm
Updated 7 May 2020 6:27pm
By Lin Evlin
Presented by Tinrawat Banyat


Share this with family and friends