เลือกแพทย์จีพีอย่างไรให้ถูกใจเรา

พญ.ศิราภรณ์ ทาเกิด แพทย์ไทยในออสเตรเลีย แนะนำว่า แพทย์จีพีหรือแพทย์ทั่วไปประจำตัวเรานั้นควรมีคุณสมบัติอย่างไร บริการแพทย์จีพีแบบไหนที่ต้องเสียเงิน และไม่ต้องเสียเงิน และข้อควรทำเมื่อถามคำถามแพทย์

Doctor

Doctor Source: Pixabay

เนื้อหาสำคัญในบทความนี้

  • แพทย์จีพีในออสเตรเลียให้คำปรึกษาเรื่องใดได้บ้าง
  • เหตุใดเราไม่สามารถไปพบแพทย์เฉพาะทางได้เลย แต่ต้องไปหาแพทย์จีพีก่อน
  • หลักในการเลือกแพทย์จีพีประจำตัวให้ถูกใจเรา
  • ระบบ bulk billing และ private billing
  • การถามคำถามเมื่อพบจีพี และวิธีทำให้จำคำตอบจากแพทย์ได้เมื่อกลับถึงบ้าน

 

  • แพทย์จีพีหรือแพทย์ทั่วไปในออสเตรเลียให้คำปรึกษาเรื่องใดได้บ้าง
พญ.ศิราภรณ์ ทาเกิด: แพทย์จีพีในออสเตรเลียสามารถให้คำปรึกษาแก่คนไข้ได้ทุกเรื่อง ที่หมอได้เห็นบ่อยๆ คือคนไข้ที่มาหาหมอมักเริ่มจากตอนเป็นนักเรียนถือวีซ่านักเรียนก่อน แต่พอได้วีซ่าพีอาร์ (วีซ่าผู้อยู่อาศัยถาวรในออสเตรเลีย) เมื่อมีเมดิแคร์แล้ว เขากลับไม่ค่อยอยากมาหมอ เพราะกลัวเรื่องค่าใช้จ่าย แต่ความจริงแล้ว ในออสเตรเลียการไปพบแพทย์จีพี ถ้ามีบัตรเมดิแคร์ ส่วนใหญ่จะได้รับการดูแลรักษาพยาบาลจากรัฐบาลฟรี

แพทย์จีพีสามารถให้คำปรึกษาแก่คนไข้ได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพ เรื่องโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เรื่องปัญหาครอบครัว เรื่องการเลี้ยงลูก เรื่องปัญหาในที่ทำงาน ปัญหาภาวะทางจิต เช่นภาวะซึมเศร้า ก็สามารถพูดคุยกับแพทย์จีพีได้ เพราะจีพีที่นี่เป็นลักษณะของแพทย์ทั่วไปหรือแพทย์ประจำครอบครัว จึงสามารถพูดคุยได้ทุกเรื่อง

  • ในออสเตรเลีย เมื่อป่วย เราจะไม่สามารถไปหาแพทย์เฉพาะทางเลยได้ ต้องไปหาแพทย์จีพีก่อน แล้วให้แพทย์จีพีมีจดหมายส่งตัวต่อไปหาแพทย์เฉพาะทาง เหตุใดจึงต้องทำเช่นนั้น
พญ.ศิราภรณ์: เพราะว่าในออสเตรเลีย แพทย์จีพีเป็นแพทย์เฉพาะทางอย่างหนึ่ง จุดนี้คนไทยส่วนใหญ่ค่อนข้างสับสน เนื่องจากในเมืองไทย แพทย์จีพีจะเป็นแพทย์จบใหม่ เมื่อเรียนจบจากโรงเรียนแพทย์แล้ว ก็สามารถเป็นหมอได้เลย ซึ่งเรียกตัวเองว่าเป็นแพทย์จีพี แต่ในออสเตรเลียแพทย์จีพีเป็นแพทย์เฉพาะทางอย่างหนึ่ง ที่เทียบเท่ากับแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว คือเมื่อเรียนจบหมอแล้ว ต้องเข้าไปทำงานในโรงพยาบาลสัก 1-2 ปี แล้วจึงไปเรียนต่อในสาขาแพทย์ทั่วไปอีก 3 ปีก่อนที่จะเป็นแพทย์จีพีในออสเตรเลียได้

แพทย์จีพีในออสเตรเลียต้องมีความรู้ของแพทย์เฉพาะทางเกือบทุกแขนง ที่เมืองไทย เราปวดกระดูก ปวดเข่า เราก็ไปหาหมอโรคกระดูก ปวดหัว ก็ไปหาหมอเกี่ยวกับประสาท แต่ในออสเตรเลีย โรคเหล่านั้นแพทย์จีพีสามารถรักษาได้ และปกติจะไม่มีความจำเป็นต้องไปหาแพทย์เฉพาะทางเลย แต่เมื่อถึงจุดที่จีพีรู้สึกว่าเกินขอบเขตที่ทำได้แล้ว จึงจะส่งต่อไปยังแพทย์เฉพาะทาง นอกจากนี้ สำหรับบัตรเมดิแคร์ ถ้าคนไข้ไม่มาหาหมอจีพีก่อน แล้วเข้าไปหาหมอเฉพาะทางเลย คนไข้จะต้องเสียค่ารักษาพยาบาลที่มากกว่าการที่จีพีส่งตัวไป
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

สมองขาดเลือดต้องทำยังไง

  • เราควรเลือกแพทย์ประจำตัว หรือแพทย์ประจำครอบครัวอย่างไร จึงจะถูกใจเรา
พญ.ศิราภรณ์: หมอคิดว่า ความประทับใจเมื่อแรกพบ (First Impression) เป็นสิ่งสำคัญ คือพอเราเข้าไปหาหมอ ถ้าเราพูดคุยกับหมอแล้ว เรารู้สึกถูกคอ รู้สึกเชื่อใจหมอคนนั้น นอกจากนี้ ต้องดูว่าหมอให้คำปรึกษาแนะนำที่ถูกต้อง ไม่รำคาญที่เราจะถามคำถาม และให้เวลากับเราในการที่เราเข้าไปปรึกษา เหล่านี้เป็นสิ่งที่คนไข้ต้องคำนึงถึงในการเลือกแพทย์จีพี

ในออสเตรเลีย เมื่อย้ายบ้านคนก็มักพยายามไปหาว่าแถวๆ บ้านว่า มีหมอคนไหนบ้าง จากประสบการณ์ของหมอคือ คนไข้จะเข้ามาหาที่คลินิก มาแนะนำตัวเองกับหมอ โดยบอกว่า เขาเพิ่งย้ายมาอยู่ใหม่แถวนี้ จึงอยากมีแพทย์จีพีคนใหม่ที่อยู่ใกล้บ้าน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่เราควรคำนึงถึงเมื่อย้ายบ้านด้วยเช่นกัน

  • หากเรามีแพทย์ประจำตัวอยู่แล้ว แต่คิดว่ายังไม่ถูกใจ อยากเปลี่ยนจีพีเป็นคนอื่น ต้องทำอย่างไร
พญ.ศิราภรณ์: หากเรารู้สึกว่าไม่ชอบหมอจีพีที่เราไปหา หรือรู้สึกว่าการรักษาไม่ได้เป็นไปในทิศทางที่เราคาดหวัง เราสามารถเปลี่ยนหมอจีพีได้ โดยที่เราอาจไปติดต่อกับหมอคนใหม่ก่อน แล้วขอใหม่หมอคนใหม่ขอประวัติเดิมจากหมอคนเก่าให้เรา ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ คือคนไข้มีสิทธิเลือก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น อยากแนะนำให้เราหาหมอจีพีที่อยู่ใกล้บ้าน เป็นหมอที่พูดคุยกับเรารู้เรื่อง คุยกันถูกคอ คนไข้มีความเชื่อใจหมอคนนั้นๆ หมอมีความรู้ ให้คำแนะนำที่ถูกต้อง และหมอให้เวลากับเรา อันนี้คือสิ่งสำคัญในการเลือกจีพี
แพทย์จีพีในออสเตรเลียสามารถให้คำปรึกษาแก่คนไข้ได้ในหลายๆ เรื่อง
แพทย์จีพีในออสเตรเลียสามารถให้คำปรึกษาแก่คนไข้ได้ในหลายๆ เรื่อง Source: Pixabay
  • ระบบบัลก์ บิล (bulk bill) คืออะไร
พญ.ศิราภรณ์: คำว่า บัลก์ บิล (bulk bill) ในที่นี้คือ หากคนไข้มีบัตรเมดิแคร์ การรักษาพยาบาลทั่วไป คนไข้ถือแค่บัตรเมดิแคร์ไปที่คลินิก หลังจากพบจีพีแล้ว ก็เอาบัตรเมดิแคร์ให้ที่รีเซฟชันของคลินิก คนไข้จะไม่ต้องเสียเงินเลยในการเข้าไปตรวจรักษาที่คลินิกนั้น เพราะรัฐบาลจ่ายให้ทั้งหมดเลย ส่วนไพรเวท บิลลิง คือแม้ว่าคนไข้จะมีบัตรเมดิแคร์ หมอจะมีการคิดค่ารักษาพยาบาลมากกว่าที่รัฐบาลกำหนด บางคลินิกจะเก็บค่าบริการเต็มจากคนไข้ เช่น คิดค่าบริการ 80 เหรียญ ให้คนไข้จ่ายก่อน แล้วคนไข้ค่อยเอาใบเสร็จไปเบิกกับเมดิแคร์ คนไข้อาจได้เงิน 40 เหรียญกลับเข้ามาในบัญชีของตนเอง คือจ่ายเพิ่มไปเอง 40 เหรียญ แต่บางคลินิกจะให้คนไข้จ่ายเฉพาะส่วนต่าง เช่น มีเมดิแคร์ ก็จ่ายแค่ 40 เหรียญ

การไปหาหมอเฉพาะทางในออสเตรเลียส่วนใหญ่จะเป็นระบบ ไพรเวท บิลลิง แต่คนไข้สามารถสอบถามกับหมอจีพีของตนได้ว่าหมอเฉพาะทางคนไหนที่รับบัลก์ บิล คือไม่ต้องจ่ายเพิ่ม แล้วให้ส่งต่อไปยังแพทย์เฉพาะทางผู้นั้นได้

ฉะนั้น ถ้ามีบัตรเมดิแคร์ และไม่อยากเสียเงิน ให้พยายามไปที่คลินิกที่มีป้ายบอกไว้ว่า bulk billing

บางคลินิกจะให้ระบบมิกซ์ บิลลิง (mixed billing) คือมีทั้งลักษณะบัลก์ บิลลิง และไพรเวท บิลลิง โดยจะใช้ระบบบัลก์ บิลลิง สำหรับผู้ถือบัตรผู้รับเงินบำนาญ (pensioner card) หรือผู้ถือบัตรผู้มีรายได้น้อย ที่เรียกกันว่าบัตรเฮลท์ แคร์ คาร์ด (health care card) สำหรับกลุ่มผู้ที่สูงอายุ ผู้มีรายได้น้อย และเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี ขณะที่จะเก็บค่าบริการด้วยระบบไพรเวท บิลลิง สำหรับบุคคลที่สามารถมีรายได้ และไม่มีบัตรบุคคลรายได้น้อยจากรัฐบาล

คนไข้สามารถตรวจสอบข้อมูลนี้ได้ เมื่อโทรศัพท์ไปนัดคิวเพื่อพบแพทย์ ก็สามารถสอบถามได้ว่าเป็นคลินิกที่รับบัลก์ บิล หรือเป็นแบบไพรเวท บิลลิง

  • ทำอย่างไรจึงจะจำคำแนะนำของแพทย์ที่ให้แก่เราในระหว่างการไปปรึกษาแพทย์จีพีได้
พญ.ศิราภรณ์: อยากแนะนำว่า เวลาไปหาหมอจีพี เราไม่ควรถามหมอมากกว่าเรื่องใหญ่ๆ เพียงเรื่องเดียว หรือ 2 เรื่องเล็ก เนื่องจากการวิจัยพบว่า คนไข้ส่วนใหญ่ไม่สามารถจำเรื่องทุกอย่างที่ถามหมอจีพีได้ โดยส่วนใหญ่จำได้แค่ 20-30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เพราะฉะนั้น เราไม่ควรถามหลายอย่างเกินไป เพราะสุดท้ายแล้ว เราก็จะจำไม่ได้ แต่อยากแนะนำให้เราลองเขียนไว้ว่า อยากถามอะไรหมอบ้างในวันนั้น เรื่องไหนที่จำเป็นที่สุดที่ควรถามก่อน

หากมีเรื่องสำคัญหลายเรื่อง อาจแจ้งล่วงหน้าเวลาโทรศัพท์ไปจองเวลาพบหมอ โดยบอกว่าอยากจองเวลาปรึกษาที่นานกว่าปกติ (long consultation) แทนที่จะเป็น 15 นาที ก็จะขอเป็น 30 นาทีแทน ก็อาจเป็นสิ่งที่ช่วยได้ เวลาคุยกับคุณหมอ ให้ลองจดไว้ว่าคุณหมอแนะนำอะไรบ้าง แต่ปกติ ถ้าเป็นสิ่งที่ต้องมีการอธิบายมากและซับซ้อน หมอจีพีมักมีข้อมูลให้เรากลับไปอ่านต่อที่บ้านด้วย

แต่อย่าถามเยอะ อย่าถามทุกอย่าง ให้ถามเฉพาะสิ่งที่สำคัญ ให้จดไว้เราอยากจะถามอะไร และจดคำอธิบายของหมอไว้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรทำเมื่อไปหาหมอจีพี
รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 


 

 

 

 


Share
Published 17 February 2020 2:58pm
Updated 17 February 2020 3:01pm
By Parisuth Sodsai
Source: SBS Thai

Share this with family and friends