ประเด็นสำคัญในข่าว
- นักวิจัยชาวสหรัฐกลุ่มหนึ่งกล่าวว่า พวกเขารู้เหตุผลว่าทำไมยุงถึงชอบกัดบางคนเป็นพิเศษ
- การที่ยุงชื่นชอบคนบางคนเป็นพิเศษกว่าคนอื่นนั้นเป็นปรากฏการณ์ที่สังเกตเห็นได้ แต่ไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้มากนัก
นักวิจัยสหรัฐกลุ่มหนึ่งเชื่อว่า พวกเขาได้ค้นพบสาเหตุว่าทำไมบางคนถึงเป็นแม่เหล็กดึงดูดยุงให้มารุมกัดพวกเขา ขณะที่คนอื่น ๆ นั้นยุงไม่สนใจ
การที่ยุงชื่นชอบคนบางคนเป็นพิเศษกว่าคนอื่นนั้นเป็นปรากฏการณ์ที่สังเกตเห็นได้ แต่ไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้มากนัก งานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสารทางวิทยาศาสตร์ Cell notes ระบุ
นักวิจัยกลุ่มหนึ่งจากมหาวิทยาลัย ร็อกคีเฟลเลอร์ (Rockefeller University) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยระดับบัณฑิตศึกษาในนครนิวยอร์กระบุว่า กรดคาร์บอกซิลิก (carboxylic acid) บนผิวหนังเป็นสารดึงดูดที่สามารถล่อยุงให้มากัดได้
มนุษย์ผลิตกรดคาร์บอกซิลิกผ่านทางซีบัม (sebum) หรือต่อมไขมันใต้ผิวหนัง ซึ่งช่วยให้ผิวของเราชุ่มชื้นและช่วยป้องกันอันตรายจากสิ่งต่างๆ เช่น รังสียูวี แบคทีเรีย และเชื้อรา
การวิจัยพบว่าผู้ที่มีกรดคาร์บอกซิลิกในระดับที่สูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญนั้นจะดึงดูดยุงให้ไปกัดพวกเขาได้มากกว่าคนอื่น
แม้แต่ยุงกลายพันธุ์ที่ไม่มีตัวรับกลิ่นของกรดคาร์บอกซิลิก ก็ยังชื่นชอบผู้ที่มีกรดชนิดนี้บนผิวหนังในระดับที่สูงกว่าผู้อื่น
"นี่แสดงให้เห็นว่าแม้แต่ยุงที่ไม่มีตัวรับกลิ่นสำหรับกรดนี้ ก็ยังสามารถบอกความแตกต่างระหว่างแต่ละคนได้" การวิจัยระบุ
นักวิจัยได้กำหนด 'คะแนนความดึงดูดยุง' เพื่อชี้วัดว่าเหตุใดยุงจึงชอบกัดบางคนมากกว่าคนอื่น Source: AAP
'คะแนนการดึงดูดยุง'
ความดึงดูดใจอาจแตกต่างกันอย่างมาก
นักวิจัยกลุ่มนี้ได้กำหนด "คะแนนความดึงดูดใจ" โดยพิจารณาจากการที่ยุงบินไปรุมกัดแต่ละบุคคล โดยพบว่าคนที่น่าดึงดูดใจที่สุดสำหรับยุงนั้นทำคะแนนได้สูงกว่าคนที่น่าดึงดูดใจลำดับที่สองถึง 4 เท่า
เมื่อเทียบกับคนที่น่าดึงดูดใจน้อยที่สุด คะแนนของพวกเขาสูงกว่า 100 เท่า
นักวิจัยกลุ่มนี้เชื่อว่าการค้นพบของพวกเขาให้เหตุผลทางวิทยาศาสตร์ที่อธิบายสาเหตุของปรากฏการณ์การดึงดูดยุงมากกว่าทฤษฎีที่มีอยู่เดิม ที่บอกว่ามาจากกรุ๊ปเลือด หรือการบริโภควิตามินบี หรือการบริโภคกระเทียมเป็นยาไล่ยุงตามความเชื่อ
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่
การวิจัยระบุว่า ยังคงไม่มีใครรู้แน่ชัดเกี่ยวกับกลไกเฉพาะทางเคมีที่แยกแยะความน่าดึงดูดใจที่ยุงมีต่อแต่ละบุคคล ในขณะที่ไม่มีใครรู้แน่ชัดเกี่ยวกับความสม่ำเสมอของกลิ่นผิวหนังเมื่อเวลาผ่านไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "กลิ่นผิวหนังที่รุนแรงน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัดซึ่งถูกปล่อยออกมาจากบริเวณร่างกายที่มักถูกยุงกัด"
การวิจัยยังไม่ได้ให้คำตอบว่าทำไมคนบางคนจึงผลิตกรดคาร์บอกซิลิกในระดับที่สูงกว่าคนอื่นๆ
การวิจัยดังกล่าวสามารถให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับการคิดค้นและพัฒนายาไล่แมลงที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ
"ไข้สมองอักเสบญี่ปุ่น" กำลังระบาดในออสเตรเลีย