ได้รับรายงานกรณีหลอกลวงต้มตุ๋นกว่า 6,415 รายงานที่กล่าวถึงไวรัสโคโรนา รวมความเสียหายมากกว่า 9,800,000 ดอลลาร์นับตั้งแต่โควิด-19 เริ่มระบาด
ประเด็นสำคัญ
- สแกมวอตช์รับรายงานกรณีหลอกลวงต้มตุ๋นเกี่ยวกับวัคซีน แอบอ้างหน่วยงานรัฐ เงินซูเปอร์ หลอกซื้อสินค้าออนไลน์ และสารพัดธุรกิจกลลวง
- เหยื่อต้มตุ๋นอาจเสี่ยงสูญเสียทรัพย์สินหรือถูกขโมยอัตลักษณ์
- มีหลายวิธีที่ช่วยปกป้องคอมพิวเตอร์ของคุณจากมัลแวร์ได้
นพ.สตีฟ แฮมเบิลตัน (Steve Hambleton) หัวหน้าคณะที่ปรึกษาทางคลินิกของ กล่าวว่า พบกรณีหลอกลวงหลายรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิดในออสเตรเลีย
“มีคนขายวันเวลานัดหมายฉีดวัคซีนที่ไม่มีอยู่จริง แน่นอนว่าการนัดหมายคุณต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวคุณ นั่นคือสิ่งที่พวกเขาต้องการ” นพ.แฮมเบิลตันอธิบาย
“หรือบางคนอาจขอให้คุณจ่ายเงินเพื่อส่งวัคซีนมาให้ ซึ่งคุณไม่ควรต้องจ่ายเงินให้ได้วัคซีน”
บางครั้งมิจฉาชีพขอให้เหยื่อลงทะเบียนเข้ารายชื่อรอรับวัคซีน หรือจ่ายเงินเข้ารับการตรวจเบื้องต้นก่อนฉีดวัคซีน ทั้งหมดนี้มุ่งลวงเอาข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อ
Source: Getty Images/Stefan Cristian Cioata
ใบรับรองวัคซีนปลอม
หน่วยงานด้านสุขภาพดิจิทัลของออสเตรเลียเตือนผู้บริโภค ระวังมิจฉาชีพเสนอออกใบรับรองการฉีดวัคซีนปลอมโดยใช้เครื่องมือออนไลน์
นพ.แฮมเบิลตันกล่าวว่า มีความเป็นไปได้สูงที่คนที่ต้องการใบรับรองการฉีดวัคซีนปลอมจะให้ข้อมูลส่วนตัวกับอาชญากรไซเบอร์ รวมถึงข้อมูลบัตรเครดิต จนเสี่ยงถูกโจรกรรมอัตลักษณ์หรือสวมรอยตัวบุคคล (identity theft)
“มีคนเสนอขายใบรับรองปลอมในตลาดมืด” นพ.แฮมเบิลตันกล่าว
“แน่นอนว่าการออกใบรับรอง[ปลอม]คือปัญหาหนึ่ง เพราะหมายความว่าคุณกำลังพาตัวเองและครอบครัวไปเสี่ยง แต่การจะได้ใบรับรองนั้น พวกเขาต้องขอข้อมูลส่วนตัวเกี่ยวกับคุณ และนั่นคือสิ่งที่พวกเขาต้องการอย่างแท้จริง”
พวกเขาต้องการข้อมูลระบุตัวตนบุคคล ต้องการข้อมูลสุขภาพ แน่นอนว่านี่เปิดช่องให้เขาขโมยอัตลักษณ์ของคุณได้
ข้อมูลด้านสุขภาพส่วนบุคคลเป็นสินค้ามีค่าอย่างหนึ่งในเว็บบอร์ดตลาดมืด เมื่อสูญเสียการควบคุมข้อมูลนี้ไปแล้วก็ยากจะกลับมาควบคุมได้อีก นพ.แฮมเบิลตันกล่าว
กลลวงแอบอ้างหน่วยงานรัฐ
นอกจากนี้ มิจฉาชีพยังแอบอ้างเป็นหน่วยงานรัฐ ทำทีให้ข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 ผ่านข้อความทางโทรศัพท์และอีเมลเพื่อหลอกขโมยข้อมูลผู้อื่น
นพ.แฮมเบิลตันอธิบายว่า ข้อความเหล่านี้มาพร้อมกับลิงก์และไฟล์แนบที่เป็นอันตราย สร้างขึ้นเพื่อขโมยข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลทางการเงินของเหยื่อ
ตัวอย่างเช่น ข้อความดูเหมือนมาจากระบบ myGov พร้อมแนบลิงก์น่าสงสัยที่อ้างว่าเป็นข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโควิด-19
อย่าคลิกลิงก์เป็นอันขาด นั่นไม่ใช่วิธีที่ myGov ติดต่อคุณ โปรดไปที่เว็บไซต์หน่วยงานโดยตรง
การลวงขโมยข้อมูล หรือ Phishing
มิจฉาชีพอาจโทรศัพท์หาคุณ หรือติดต่อคุณผ่านโซเชียลมีเดีย อีเมล หรือข้อความทางโทรศัพท์มือถือ
นพ.แฮมเบิลตันแนะนำว่า ควรพิจารณาให้รอบคอบก่อนตัดสินใจคลิกลิงก์ในอีเมลหรือข้อความที่ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้รับ
“ทุกวันนี้เราต่างได้รับอีเมลที่บอกว่าพัสดุส่งไม่ได้ [แล้วมีข้อความบอกว่า] ‘กรุณาคลิกลิงก์นี้’”
ถ้าคุณไม่ได้คาดว่าจะมีพัสดุมาส่ง อย่าคลิกลิงก์เด็ดขาด
“หลายครั้งมาพร้อมโลโก้องค์กรใหญ่ ๆ เช่น Amazon หรือผู้ให้บริการช็อปปิ้งออนไลน์อื่น ๆ ที่ดูเหมือนของจริง แล้วมาขอข้อมูลจากคุณ”
นพ.แฮมเบิลตันแนะนำให้กลับไปตรวจสอบรายการสั่งสินค้าบนเว็บไซต์ที่ซื้อ แทนที่จะคลิกลิงก์แนบมากับข้อความ
นอกจากนี้ มิจฉาชีพยังสร้างหน้าร้านปลอมออนไลน์ แอบอ้างขายสินค้าที่ไม่มีอยู่จริง เช่น ยาหรือวัคซีนรักษาโรคโควิด-19 หรือผลิตภัณฑ์อย่างหน้ากากอนามัย
ลิงก์ติดตั้งมัลแวร์
ดร.สุรันกา เซเนวิรัตนี (Suranga Seneviratne) อาจารย์สาขาความมั่นคงปลอดภัยจากคณะวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยซิดนีย์ อธิบายว่า หากคลิกลิงก์น่าสงสัยในข้อความจากมิจฉาชีพ อาจส่งผลติดตั้งโปรแกรมไม่พึงประสงค์ที่เป็นอันตราย หรือ มัลแวร์ (malware) ที่ขโมยข้อมูลของผู้ใช้อุปกรณ์
“[มิจฉาชีพ]อาจสร้างลิงก์ขึ้นมา แล้วลิงก์นี้มีมัลแวร์หรือซอฟต์แวร์ที่เป็นอันตราย ดังนั้น เมื่อคุณคลิกลิงก์นั้น มัลแวร์ก็จะเข้ามาติดตั้งในเครื่องคอมพิวเตอร์ของคุณ” ดร.เซเนวิรัตนีกล่าว
ซอฟต์แวร์นี้บันทึกทุกอย่างที่คุณพิมพ์ แล้วมีช่องทางสื่อสารส่งข้อมูลทั้งหมดไปให้ ‘คนร้าย’
Source: Getty Images/boonchai wedmakawand
การโจรกรรมอัตลักษณ์กับ “ดาร์กเว็บ”
ศาสตราจารย์แชนตัน จาง (Shanton Chang) อาจารย์คณะระบบข้อมูลสารสนเทศและคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น กล่าวว่า มิจฉาชีพมักพยายามล้วงข้อมูลส่วนตัวของบุคคล
ถ้าพวกเขาได้ชื่อของคุณ ที่อยู่ วันเกิด อาจรวมถึงหมายเลขโทรศัพท์ด้วย พวกเขาสามารถไปที่ธนาคารที่คุณใช้บริการแล้วแอบอ้างเป็นคุณได้
“ข้อมูลเหล่านี้เป็นวิธีที่องค์กรทางการมักใช้ระบุตัวว่าคุณเป็นใคร” ศาสตราจารย์จางกล่าว
ศาสตราจารย์จางเสริมว่า ข้อมูลส่วนตัวอาจถูกขายในตลาดมืดจนเกิดการสวมรอยตัวบุคคลได้
“ข้อมูลส่วนตัวของคุณมีค่ามาก และใช้ทำเงินได้”
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
องค์กรชุมชนแนะสร้างการตระหนักรู้การหลอกลวงต้มตุ๋นในกลุ่มเปราะบาง
หากข้อมูลส่วนตัวหลุดไปอยู่ในมือผู้ไม่ประสงค์ดี ข้อมูลส่วนตัวเหล่านั้นอาจถูกนำไปใช้ต่ออีกนาน
ข้อมูลส่วนตัวมีค่ามาก คุณเอาไปสมัครบัตรเครดิตใบใหม่ได้ ซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้ ทำได้ทุกอย่างทั่วโลก
ทำงานจากบ้านยิ่งเสี่ยงมิจฉาชีพ
ดร.ปริยาดาร์ซี นันดา (Priyadarsi Nanda) จากคณะวิศวกรรมศาสตร์และไอที มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีซิดนีย์ กล่าวว่า การทำงานจากบ้านเพิ่มความเสี่ยงตกเป็นเหยื่อกลลวงต้มตุ๋นเมื่อเปรียบเทียบกับการทำงานประจำสำนักงาน
“เราทำงานจากบ้าน จึงไม่มีมาตรการความปลอดภัยที่จำเป็นใด ๆ เกี่ยวกับวิธีที่เราเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ขณะที่ในองค์กรมีมาตรการความปลอดภัยมากมายช่วยคุ้มครองคุณ”
Source: Pexels/Anna Shvets
ปกป้องคอมพิวเตอร์จากมัลแวร์
ดร.นันดาอธิบายว่า คุณอาจปกป้องคอมพิวเตอร์ให้ปลอดภัยจากมัลแวร์ได้หลายวิธี
“ใช้โปรแกรมป้องกันไวรัสป้องกันมัลแวร์ สแกนไฟล์ทั้งหมดของคุณเป็นระยะ” ดร.นันดากล่าว
หากเชื่อว่าอาจเผลอคลิกลิงก์น่าสงสัยไปแล้ว อาจเอาเครื่องคอมพิวเตอร์ไปพบผู้เชี่ยวชาญให้ตรวจสอบว่ามีมัลแวร์หรือซอฟต์แวร์อันตรายไม่พึงประสงค์ใด ๆ หรือไม่
“อีกประการคือ ผู้ค้าซอฟต์แวร์ เช่น ไมโครซอฟต์หรือแอปเปิล ส่งแพตช์ (patch) ปรับปรุงระบบเป็นระยะอยู่แล้ว โดยขอให้คุณติดตั้งแพตช์แล้วรีสตาร์ตเครื่องคอมพิวเตอร์”
ดร.นันดาย้ำว่า การติดตั้งอัปเดตเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญมาก
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ระวังภัยเว็บมืดขายของหลอกลวงรักษาโควิด-19
รายงานกรณีหลอกลวง
นพ.แฮมเบิลตันกล่าวว่า ผู้ตกเป็นเหยื่อต้มตุ๋นหลอกลวงควรรายงานเหตุไปยังทางการ
“มีรายงานกรณีหลอกลวงหลายพันกรณี มีผู้คนที่สูญเงินจริง บางคนรู้สึกอับอายเลยไม่รายงานเหตุที่เกิดขึ้น ผมคิดว่าถ้าคุณถูกหลอก คุณควรต้องเล่าให้ใครสักคนฟัง”
รายงานกรณีหลอกลวงต้มตุ๋นต่อคณะกรรมาธิการด้านการแข่งขันและการค้าของออสเตรเลีย (ACCC) ได้ผ่านเว็บไซต์ Scamwatch
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด
หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เตือนภัยขบวนการหลอกให้เช่าที่พักระบาดหนักช่วงโควิด
เรื่องราวที่น่าสนใจจากเอสบีเอส ไทย
VIC เริ่มโครงการทดลองให้สิทธิ์ลาป่วยลูกจ้างแคชวล