องค์กรชุมชนแนะสร้างการตระหนักรู้การหลอกลวงต้มตุ๋นในกลุ่มเปราะบาง

กลุ่มชุมชนเรียกร้องการสร้างความตระหนักรู้การหลอกลวงต้มตุ๋นระดับรากหญ้า หลังผู้ไม่หวังดีมุ่งเป้าหลอกลวงผู้อพยพย้ายถิ่น และชนพื้นเมืองออสเตรเลีย

Online scams has increased.

Consumer groups have issed warnings about increasing scams during the pandemic. Source: GettyImages-Tom Werner

ผู้ที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักและชนพื้นถิ่นของออสเตรเลีย ต้องสูญเสียเงินไปนับสิบล้านดอลลาร์ให้กับขบวนการหลอกลวงต้มตุ๋นในรอบ 10 เดือนที่ผ่านมา

สแกมวอตช์ (Scamwatch) บริการรายงานการหลอกลวงต้มตุ๋น ของคณะกรรมาธิการด้านการแข่งขันและการค้าของออสเตรเลีย (ACCC) พบข้อมูลล่าสุดที่น่าน่ากังวล ระบุว่า การหลอกลวงต้มตุ๋นได้ขโมยเงินจากผู้ที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ 2 ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. – 31 ต.ค. เป็นจำนวนเงิน $36.2 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 93 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันนี้เมื่อปีก่อน

ขณะที่ชนพื้นถิ่นของออสเตรเลียก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักด้วยเช่นกัน โดยมีรายงานการสูญเสียทั้งหมดจากการหลอกลวงต้มตุ๋นที่คิดเป็นจำนวนเงินราว $4.6 ล้านดอลลาร์ในระยะเวลาเดียวกัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 138 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกัน

ข้อมูลดังกล่าวยังเปิดเผยอีกว่า การหลอกลวงต้มตุ๋นรูปแบบใดที่ส่งผลกระทบมากที่สุดในชุมชนเหล่านี้

ชนพื้นถิ่นออสเตรเลีย และผู้ที่พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง ได้รายงานการหลอกลวงทางอินเตอร์เน็ต (phishing) จำนวน 3,067 ครั้ง ซึ่งเป็นขบวนการที่ผู้ประสงค์ร้ายจะลวงเหยื่อเพื่อให้บอกข้อมูลส่วนบุคคลต่าง ๆ เช่น ข้อมูลบัญชีธนาคาร

และยังพบการรายงานเกี่ยวข้องกับสแกมอีกเกือบ 2,090 ครั้ง ซึ่งผู้ก่อเหตุจะขอเงินจากเหยื่อ และขู่หากเหยื่อไม่ให้ความร่วมมือ

นอกจากนี้ สแกมวอตช์ ยังได้พบรายงานการขโมยอัตลักษณ์บุคคล (Identity theft) 1,674 ครั้งจากชุมชนเหล่านี้ รวมถึงการหลอกลวงในการซื้อของออนไลน์อีก 1,454 ครั้ง และรายงานการออกใบเรียกเก็บค่าบริการปลอมอีก 1,062 ครั้ง ซึ่งเป็นขบวนการที่นักลงต้มตุ๋นจะเรียกเก็บเงินใบเรียกเก็บที่ถูกปลอมขึ้นมา

‘จี้จุดที่คนกังวล’ เทคนิคที่ได้ผลของนักต้มตุ๋น

โมฮัมหมัด อัล-คาฟาจี (Mohammad Al-Khafaji) ประธานบริหารสมาพันธ์สภาชุมชนชาติพันธุ์แห่งออสเตรเลีย (FECCA) ระบุถึงเลขดังกล่าวว่า ‘เป็นเรื่องน่ากังวลอย่างมาก’ และกล่าวอีกว่า ชุมชนพหุวัฒนธรรมเป็นกลุ่มที่อยู่ในความเสี่ยงต่ออาชญากรรมในลักษณะนี้เป็นพิเศษ

“วันนี้ผมเพิ่งได้รับโทรศัพท์จากใครคนหนึ่งที่อ้างว่ามาจากหน่วยงานพิทักษ์พรมแดนออสเตรเลีย ลองจินตนาการว่า ถ้าครอบครัวผู้อพยพย้ายถิ่น โดยเฉพาะผู้ที่เพิ่งเดินทางมาถึง หรือผู้ที่ไม่เคยอยู่ในออสเตรเลียมาเป็นเวลานาน ได้รับโทรศัพท์หรืออีเมลที่อ้างว่ามาจาก Centrelink หรือจากรัฐบาล พวกเขาก็คงจะไม่คิดโดยอัตโนมัติว่าเป็นการหลอกลวง และจะปฏิบัติกับมันอย่างจริงจัง” คุณอัล-คาฟาจี กล่าว

“พวกเขาจะพยายามปฏิบัติตาม เนื่องจากนักหลอกลวงต้มตุ๋นได้จี้จุดที่พวกเขากังวล”
Chief Executive Officer of FECCA Mohammad Al-Khafaji speaking via Skype.
โมฮัมหมัด อัล-คาฟาจี ประธานสมาพันธ์สภาชุมชนชาติพันธุ์แห่งออสเตรเลีย (FECCA) Source: SBS
อเล็กซ์ วอลเตอส์ (Alex Walters) ทนายความด้านกฎหมายแพ่งและแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชน จากศูนย์บริการกฎหมายชาวอะบอริจินรัฐวิกตอเรีย (Victorian Aboriginal Legal Service) กล่าวว่า ลูกค้าของเขาโดยส่วนมากได้รับความเดือนร้อนจากนักหลอกลวงต้มตุ๋นที่อ้างว่ามาจากสำนักงานสรรพากรของออสเตรเลีย (ATO)

“สิ่งที่พบบ่อยคือ โรโบคอล (robocall) ที่อ้างว่ามาจากเอทีโอ โดยมีข้อความที่แจ้งว่ามีหนี้ภาษีค้างชำระ และขู่ว่าจะมีโทษจำคุก” คุณวอลเตอส์ กล่าว

“ส่วนลูกค้าอีกหลายคนแจ้งว่า ได้รับสายโทรศัพท์โรโบคอลที่อ้างว่า อัตลักษณ์บุคคลของพวกเขาได้ถูกขโมยไป และมีหมายในการจับกุมผู้ก่อเหตุ”

“ผลกระทบที่มาจากการหลอกลวงเหล่านี้ ส่วนหนึ่งมาจากการกล่าวอ้างเรื่องกระบวนการยุติธรรม และสำหรับชนพื้นเมืองออสเตรเลียที่ได้รับความยุติธรรมอย่างไม่สมส่วนในระบบนี้ ผมมองว่านั่นอาจเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้มันเป็นเรื่องอันตรายสำหรับลูกค้าของผม” คุณวอลเตอส์ กล่าวเสริม

จะต้องทำอย่างไรให้ผู้คนตระหนักรู้

คุณอัล-คาฟาจี กล่าวว่า การแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 ได้เน้นให้เห็นถึงความสำคัญของการสร้างความตระหนักรู้ในหมู่ชุมชนที่มีความหลากหลายในเรื่องของสุขภาพในระดับรากหญ้า ขณะเดียวกันก็ควรที่จะสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องการหลอกลวงต้มตุ๋นให้ได้ในระดับเดียวกัน

“เรารู้ว่าองค์กรอย่างสแกมวอตช์ และสำนักงานสรรพากรออสเตรเลีย (ATO) มีสื่อที่ได้รับการแปลแล้วในเรื่องนี้ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องดีและเป็นสิ่งที่ควรมี แต่การที่เก็บเอาไว้ลึกในเว็บไซต์ ถ้าผู้คนไม่สามารถจะเข้าถึงมันได้ มันก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีสำหรับทุกคน” คุณอัล-คาฟาจี กล่าว

เขากล่าวว่า ควรสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรภายในชุมชน และจัดเตรียมแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ให้กับพวกเขา เนื่องจากพวกเขา “รู้จักชุมชนดีกว่าใคร”

“แม้ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการหลอกลวง หรือเรื่องเกี่ยวกับการไปฉีดวัคซีน จากประสบการณ์ของเรา สิ่งที่เป็นความสำเร็จอย่างแท้จริงนั่นคือการลงทุนในการพัฒนาชุมชน และทำให้แน่ใจว่าคุณจัดสรรงบประมาณอย่างเพียงพอให้กับองค์กรภายในชุมชนต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ส่งสารที่มีความน่าเชื่อถือสามารถส่งสารที่น่าเชื่อถือออกไปได้” คุณอัล-คาฟาจี กล่าว

คุณวอลเตอส์ เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าวว่าเป็นสิ่งสำคัญ

“การกระจายข้อมูลในลักษณะนี้มักเป็นวิธีที่ได้ผลมากที่สุด เมื่อคุณเข้าไปในชุมชนและพูดคุยกับผู้คน” คุณวอลเตอส์ กล่าว

คุณวอลเตอส์ กล่าวอีกว่า การมีประมวลกฎหมายอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และการรักษาความเป็นส่วนตัวที่เหมาะสมที่สามารถปิดกั้นสายโทรศัพท์และข้อความหลอกลวงนั้น ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีเช่นกัน


คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Published 10 November 2021 6:34pm
Updated 11 November 2021 12:40pm
By David Aidone
Presented by Tinrawat Banyat
Source: SBS News


Share this with family and friends