วิธีเป็นผู้บริจาคอวัยวะในออสเตรเลีย

ผู้บริจาคอวัยวะหนึ่งคน อาจสามารถให้ชีวิตใหม่แก่ผู้อื่นได้ถึง 10 คน แต่ยังคงมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการบริจาคที่ขัดขวางไม่ให้ผู้คนบริจาคอวัยวะ เอสบีเอส มีข้อเท็จจริงที่จะขจัดความเชื่อผิดๆ เหล่านี้

girl with a heart

Source: Getty Images/cristinairanzo

การบริจาคอวัยวะเปลี่ยนชีวิตของผู้คนหลายร้อยคนในออสเตรเลียทุกๆ ปี ผู้บริจาคอวัยวะแต่ละคนมีโอกาสจะช่วยชีวิตผู้อื่นถึง 10 คน และช่วยให้ชีวิตของคนไม่น้อยดีขึ้น แต่ยังคงมีความเข้าใจผิดอยู่เกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะและเนื้อเยื่อ ซึ่งอาจทำให้ผู้คนไม่กล้าไปลงทะเบียนเป็นผู้บริจาคอวัยวะ ข้อมูลต่อไปนี้เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้


เนื้อหาสำคัญของเรื่อง

  • ขณะนี้ มีชาวออสเตรเลียกว่า 1,600 คนที่กำลังรอคอยการปลูกถ่ายอวัยวะใหม่
  • เนื่องจากการระบาดใหญ่ของเชื้อโควิด-19 โครงการปลูกถ่าย หรือเปลี่ยนไต จึงถูกระงับไว้ ขณะที่โครงการปลูกถ่ายอวัยวะอื่นๆ ถูกจำกัดให้ทำได้เฉพาะกรณีฉุกเฉินเท่านั้น
  • การบริจาคอวัยวะและเนื้อเยื่อควรเป็นสิ่งที่ผู้ต้องการทำได้รับข้อมูลอย่างครบถ้วนก่อนตัดสินใจ

 สัปดาห์แห่งการบริจาคชีวิต ถูกจัดขึ้นในออสเตรเลียทุกปี เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของการลงทะเบียนเป็นผู้บริจาคอวัยวะและเนื้อเยื่อ ปีนี้ สัปดาห์แห่งการรณรงค์เรื่องนี้ มีขึ้นระหว่างวันอาทิตย์ ที่ 26 กรกฎาคม ถึงวันอาทิตย์ ที่ 2 สิงหาคม

ดร.เฮเลน ออฟแดม เป็นผู้อำนวยการด้านการแพทย์แห่งชาติ ขององค์กรด้านอวัยวะและเนื้อเยื่อ หรือ OTA ซึ่งดูแล ระเบียนผู้บริจาคอวัยวะของออสเตรเลีย (Australian Organ Donor Register)

เธอกล่าวว่า ขณะที่ชาวออสเตรเลียส่วนใหญ่ ยินดีเป็นผู้บริจาค แต่ไม่ทุกคนที่ดำเนินการในขั้นตอนที่จำเป็นเกี่ยวกับเรื่องนี้

จะเป็นผู้บริจาคได้อย่างไร

ขั้นแรกคือ ลงทะเบียนเป็นผู้บริจาคอวัยวะและเนื้อเยื่อผ่าน ที่เว็บไซต์ DonateLife โดยใช้หมายเลขเมดิแคร์ของคุณ

ขั้นที่สองคือ หารือเรื่องการตัดสินใจนี้ของคุณกับคนที่คุณรักและแจ้งให้พวกเขาทราบว่าคุณได้ลงทะเบียนเป็นผู้บริจาคอวัยวะและเนื้อเยื่อ ครอบครัวของคุณหรือญาติที่ใกล้ชิดที่สุดของคุณจำเป็นต้องยืนยันการตัดสินใจเกี่ยวกับการบริจาคของคุณที่โรงพยาบาล ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่พวกเขาจะต้องรู้ถึงสิ่งที่คุณเลือก
สิ่งที่ยากลำบากที่สุดคือ หากครอบครัวไม่รู้ว่าคนที่พวกเขารักต้องการอะไร บ่อยครั้ง ที่พวกเขาจะลงเอยด้วยการปฏิเสธไม่ให้มีการบริจาคเกิดขึ้น
แม้ว่าการบริจาคอวัยวะและเนื้อเยื่ออาจดูเหมือนเป็นหัวข้อการสนทนาที่ยากจะหยิบยกมาพูดคุยกับครอบครัวของคุณ แต่สำคัญมากที่จะต้องพูดคุยกับครอบครัวเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะมีความเป็นไปได้สูงที่สมาชิกในครอบครัวอาจต้องเป็นผู้อนุญาตให้มีการบริจาคอวัยวะเกิดขึ้นได้ หากพวกเขารู้ถึงการตัดสินใจของคุณ

หากคุณไม่แน่ใจว่าจะเริ่มการพูดคุยเกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะและเนื้อเยื่อของคุณอย่างไรกับครอบครัว ให้เป็นภาษาอังกฤษ และคำแนะนำที่สามารถนำไปใช้ได้
organ donation, liver transplant scar
Böbrek nakli ameliyatının bıraktığı iz. Source: Getty Images/Capuski

ผลกระทบจากโควิด-19

ในปี 2019 มีประชาชนในออสเตรเลีย 1,444 คนที่ได้รับการบริจาคอวัยวะที่ได้ช่วยชีวิตพวกเขาไว้ จากผู้บริจาค 548 คนและครอบครัวของผู้บริจาคเหล่านั้น มีประชาชนอีก 12,000 คนที่ได้รับประโยชน์จากการบริจาคดวงตาและการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อต่างๆ จากผู้บริจาค

ขณะนี้ มีประชาชนในออสเตรเลียกว่า 1,600 คนที่กำลังรอการบริจาคอวัยวะและผู้คน 12,000 ที่กำลังต้องใช้เครื่องฟอกไตอยู่ในขณะนี้ คาดว่าคนเหล่านี้จำนวนมากจะต้องได้รับการเปลี่ยนไตเพื่อจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความวิตกถึงความปลอดภัยของคนไข้ระหว่างการระบาดใหญ่ของเชื้อโควิด-19 การเปลี่ยนถ่ายอวัยวะในออสเตรเลียมีจำนวนลดลง ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2020 โครงการเปลี่ยนถ่ายไตได้ถูกระงับไว้ทั้งหมด

คุณคริส โทมัส ผู้อำนวยการบริหารขององค์กร ทรานส์แพลนต์ ออสเตรเลีย (Transplant Australia) กล่าวว่า การตัดสินใจระงับโครงการเปลี่ยนถ่ายไต กำลังได้รับการพิจารณาทบทวนทุกสัปดาห์

“ความเสี่ยงในช่วงนี้มีน้ำหนักมากกว่าประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ”

เขาชี้ว่า มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง หากผู้ได้รับการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะติดเชื้อไวรัสโคโรนา ขณะที่ระบบภูมิคุ้มกันของพวกเขากำลังอยู่ระหว่างการฟื้นตัว
family holding hands in hospital
Source: Getty Images/boonchai wedmakawand
คณะกรรมาธิการหลักด้านการปกป้องสุขภาพแห่งออสเตรเลีย เผยว่า การบริจาคต่างๆ ที่ทำได้ขณะที่ผู้บริจาคยังมีชีวิตอยู่ ถูกระงับไปด้วย เนื่องจากความกดดันที่เพิ่มสูงขึ้นต่อห้องผู้ป่วยวิกฤต (ICU) ในระหว่างการระบาดใหญ่ของเชื้อโควิด-19

โครงการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ เช่น ตับ หัวใจ ปอด การเปลี่ยนถ่ายอวัยวะสำหรับเด็ก และเปลี่ยนถ่ายอวัยวะหลายๆ อย่างพร้อมกัน ยังคงสามารถทำได้ แต่จำกัดเฉพาะกรณีที่ฉุกเฉินจริงๆ เท่านั้น
มันสำคัญมาก ที่จะต้องย้ำว่า เรายังคงต้องการให้ชาวออสเตรเลียสนับสนุนการบริจาค
คุณโทมัส กล่าวว่า ผู้คนที่กำลังรอรับการบริจาคหัวใจ ตับ หรือปอด ต้องการทั้งความหวังและความมั่นใจว่า เมื่อการระบาดใหญ่ของเชื้อโควิด-19 บรรเทาเบาบางลงแล้ว โครงการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะและเนื้อเยื่อทั้งหมดจะกลับมาเริ่มทำได้อีกครั้งในทันที
surgeons, organ and tissue donation
Source: Getty Images/Westend61

ความเชื่อผิดๆ และความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง

บางครั้ง ความเชื่อผิดๆ และความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะและเนื้อเยื่อ กีดกันไม่ให้ประชาชนได้รับชีวิตใหม่หนที่สองจากเพื่อนร่วมประเทศออสเตรเลีย ต่อไปนี้เป็นข้อเท็จจริงที่จะขจัดความเชื่อผิดๆ 5 ประการ ที่พบบ่อยเกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะ

ความเชื่อผิดๆ: การบริจาคอวัยวะขัดต่อหลักศาสนาของฉัน

ข้อเท็จจริง: ศาสนาส่วนใหญ่ในออสเตรเลีย รวมทั้งศาสนาคริสต์ อิสลาม พุทธ ฮินดู และยิว ส่งเสริมการบริจาคอวัยวะและเนื้อเยื่อ โดยถือว่าเป็นการกระทำที่เป็นกุศลและแสดงความความเมตตาต่อผู้อื่น นอกจากนี้ จะมีการทำตามข้อกำหนดทางศาสนาและวัฒนธรรมสำหรับวาระสุดท้ายของชีวิต เพื่อพยายามทำให้แน่ใจได้ว่าทุกคนรู้สึกสะดวกใจ

ความเชื่อผิดๆ: เมื่อฉันลงทะเบียนเป็นผู้บริจาคอวัยวะแล้ว ฉันจะสามารถบริจาคอวัยวะได้โดยอัตโนมัติเมื่อฉันเสียชีวิตลง

ข้อเท็จจริง: แม้ว่าคุณจะลงทะเบียนไว้กับระเบียนผู้บริจาคอวัยวะของออสเตรเลีย (Australian Organ Donor Register) คุณยังคงต้องหารือเรื่องการตัดสินใจของคุณกับครอบครัว การบริจาคจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากพวกเขาไม่อนุญาต นอกจากนี้ ผู้บริจาคจะต้องเสียชีวิตในห้องผู้ป่วยวิกฤต (ไอซียู) ของโรงพยาบาล ที่จะสามารถดูแลอวัยวะได้อย่างเหมาะสมจนกว่าอวัยวะนั้นจะสามารถนำไปปลูกถ่ายให้ผู้รับบริจาคได้ เนื่องจากอาการป่วยที่มีอยู่ก่อนแล้ว มีผู้ที่เสียชีวิตในโรงพยาบาลเพียงร้อยละ 2 เท่านั้น ที่เสียชีวิตลงในสถานการณ์ที่ยังคงสามารถบริจาคอวัยวะได้ แต่คนจำนวนมากยังคงสามารถบริจาคดวงตาและเนื้อเยื่อได้

ความเชื่อผิดๆ: แพทย์จะไม่พยายามช่วยชีวิตฉัน หากพวกเขารู้ว่าฉันลงทะเบียนเป็นผู้บริจาคอวัยวะ

ข้อเท็จจริง: ไม่จริงเลย การช่วยชีวิตคุณเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกสำหรับเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ หน้าที่แรกของพวกเขาคือ รักษาชีวิตคุณ และจะมีการพิจารณาเรื่องการบริจาคอวัยวะและเนื้อเยื่อเมื่อการเสียชีวิตเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แล้วเท่านั้น

ความเชื่อผิดๆ: ฉันไม่ต้องการให้ศพของฉันไม่สวย หรือผิดรูปร่าง

ข้อเท็จจริง: ร่างของผู้บริจาคจะได้รับการปฏิบัติด้วยอย่างเคารพและให้เกียรติ และครอบครัวจะสามารถจัดพิธีศพโดยเปิดโลงให้เห็นร่างของผู้บริจาคได้หากพวกเขาต้องการ การบริจาคอวัยวะจะไม่ทำให้ศพผิดรูปร่างไป และจะไม่แตกต่างจากการผ่าตัดอื่นๆ ที่ทำโดยทีมศัลยแพทย์ที่มีทักษะสูง

ความเชื่อผิดๆ: ฉันมีโรคประจำตัว ฉันจึงไม่สามารถบริจาคอวัยวะและเนื้อเยื่อได้

ข้อเท็จจริง: ไม่มีใครควรปิดโอกาสของตนเอง เนื่องจากอายุ อาการป่วย หรือทางเลือกในการใช้ชีวิต มีโอกาสสูงมากที่อวัยวะและเนื้อเยื่อของคุณบางอย่างจะเหมาะสมสำหรับการบริจาค ขอให้เป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ที่จะตัดสินว่า คุณจะสามารถให้ชีวิตใหม่แก่ผู้อื่นได้อย่างไร

ลงทะเบียนแจ้งความจำนงบริจาคอวัยวะของคุณ หรือขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Published 28 July 2020 2:32pm
Updated 28 July 2020 2:54pm
By Josipa Kosanovic
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS Radio


Share this with family and friends