มีการวิเคราะห์ล่าสุดที่ระบุว่า ระบบการจ้างงานในออสเตรเลียนั้น “ไม่มีประสิทธิภาพ”
ภาพรวมตำแหน่งงานว่างในออสเตรเลียปี 2019 ที่จัดทำโดยแองกลิแคร์ (Anglicare Australia’s Jobs Availability Snapshot 2019) พบว่า 1 ใน 7 ของผู้หางานพบอุปสรรคในการหางาน เช่น ผู้ที่ไม่สำเร็จการศึกษาในระดับปีที่ 12 (มัธยมศึกษาตอนปลาย) และการที่คนทำงานสูงอายุถูกเลิกจ้างในช่วงหลังของชีวิต ทั้งสองกรณีใช้เวลาเฉลี่ยราว 5 ปี กว่าจะสามารถหางานได้
การวิเคราะห์ยังพบอีกว่า ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีตำแหน่งงานที่ประกาศรับสมัครเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่เหมาะสมกับผู้ที่ไม่มีประสบการณ์หรือคุณวุฒิสำหรับตำแหน่งงานเหล่านั้น
นางเคซีย์ เชมเบอร์ส (Kasey Chambers) กรรมการบริหารแองกลิแคร์ ออสเตรเลีย กล่าวว่า มีข้อเสียเปรียบที่ผู้หางานต้องเผชิญ 5 ประการ ในการเข้าทำงานในตำแหน่งงานระดับล่าง เธอบอกอีกว่า ข้อมูลจากการวิเคราะห์นั้นแสดงให้เห็นชัดว่า ระบบการจ้างงานของออสเตรเลียนั้นควรได้รับการพิจารณา
“เราต้องมีการพิจารณาเพื่อปฏิรูประบบเครือข่ายหางานจ๊อบแอคทีฟ (Jobactive) อย่างเร่งด่วน ซึ่งรายงานของรัฐบาลเองนั้นก็สะท้อนในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน” นางเชมเบอร์สกล่าว
“เราจะต้องหยุดกระบวนการที่ส่งผลเสียให้กับผู้หางาน เราต้องดูว่าอะไรที่ทำแล้วได้ผล ซึ่งหมายถึงการทำงานร่วมกับบุคคลต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจว่า พวกเขาสามารถทำอะไรได้ พวกเขาอยากทำอะไร มีการฝึกอบรมใดที่พวกเขาต้องการ และพวกเขามีความสามารถสำหรับงานแบบใด เพื่อให้สามารถจัดหาตำแหน่งงานที่มีความเหมาะสม”
ข้อมูลจากการวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่า คำกล่าวของรัฐบาลที่ว่า งานคือสวัสดิการที่ดีที่สุดนั้น อยู่ห่างไกลจากโลกแห่งความเป็นจริง
“หนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้ไม่มีความยากจน คือการมีงานทำแบบเต็มเวลา และได้รับค่าจ้างที่เหมาะสม แต่อย่างไรก็ตาม เรามีชาวออสเตรเลียราว 1.1 ล้านคนที่ยังไม่มีงานเต็มเวลาที่จ่ายค่าจ้างที่เหมาะสม” นางเชมเบอร์สกล่าว
ผู้พิการ-ผู้ลี้ภัย เผชิญอุปสรรค์ใหญ่
การวิเคราะห์ของแองกลิแคร์แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่มีความพิการนั้น คิดเป็นร้อยละ 68 ของผู้หางานที่มีข้อเสียเปรียบ
นางโรโมลา ฮอลลีวูด (Romola Hollywood) ผู้อำนวยการด้านนโยบายและการสนับสนุนจากองค์กรผู้มีความพิการแห่งออสเตรเลีย (People with Disability Australia) กล่าวว่า ผลลัพธ์ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ
“เราทราบว่า มีผู้พิการจำนวนหนึ่งที่ถูกบังคับให้ออกจากโครงการเงินสนับสนุนผู้พิการ (Disability Support Pension) เพื่อให้ไปอยู่ในโครงการนิวสตาร์ท (Newstart Allowance) เนื่องจากข้อกำหนดที่มีความรัดกุม” นางฮอลลีวูดกล่าว
แองกลีแคร์แนะนำว่า ควรมีการให้สิทธิ์แก่ผู้พิการในการเข้าถึงบริการจัดหางานสำหรับผู้มีความพิการ (Disability Employment Service) แบบอัตโนมัติ เมื่อพวกเขาเริ่มมองหางาน เช่นเดียวกับการขยายขอบเขตในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้มีความพิการ เพื่อรับสวัสดิการจากโครงการเงินบำนาญสนับสนุนผู้มีความพิการ (Disability Support Pension) ให้กว้างขึ้น
แต่นางฮอลลิวูดกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวควรมีการขยายผลออกไปมากกว่านั้น และได้เรียกร้องให้มีการพัฒนาแผนการหางานระดับชาติ สำหรับผู้ที่มีความพิการโดยเฉพาะ
“ในตอนนี้อาจดูเหมือนว่านายจ้างได้มอบโอกาสในการจ้างงาน แต่สิ่งที่นายจ้างควรทำ คือการทำให้สถานที่ทำงานของตนนั้นเป็นมิตรต่อผู้พิการ” นางฮอลลีวูดกล่าว
“นอกจากนี้ยังควรเล็งเห็นในส่วนของความยืดหยุ่นรูปแบบต่างๆ ที่อาจมีความจำเป็นที่จะต้องถูกรวมเข้ากับความสัมพันธ์ในการจ้างงาน อย่างเช่น หากผู้คนต้องการที่จะหยุดพักสักระยะ สิ่งเหล่านั้นก็จะสามารถเข้าถึงได้โดยง่ายเช่นกัน”
นางเชอร์รีน คลาก (Sherrine Clark) ผู้อำนวยการบริการด้านมนุษยธรรม จากศูนย์ทรัพยากรผู้ลี้ภัย (Asylum Seeker Resource Centre) กล่าวว่า ผู้ลี้ภัยต้องเผชิญกับอุปสรรคที่มีความเฉพาะตัวเมื่อพวกเขามองหางาน โดยเธอบอกว่า ประสบการณ์ต่างๆ ของผู้ลี้ภัยจากในต่างแดนนั้น มักไม่เป็นที่ยอมรับในระบบงานของออสเตรเลีย
“มันเป็นเรื่องยากมากสำหรับผู้ลี้ภัยในการหางานโดยไม่มีความสัมพันธ์กับผู้คนในชุมชน ไม่มีคุณวุฒิ และไม่มีประสบการณ์” นางคลากกล่าว
“การสนับสนุนระดับพื้นฐานที่ผู้ลี้ภัยได้รับโดยทั่วไปนั้นไม่เพียงพอที่จะทำให้พวกเขาได้รับโอกาสในการมองหางาน ได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น รวมไปถึงการที่ทำคุณวุฒิของพวกเขาในต่างแดนจะเป็นที่ยอมรับในออสเตรเลีย”
อย่างไรก็ตาม ได้มีการติดต่อไปยังรัฐบาลสหพันธรัฐในการขอความคิดเห็นในเรื่องนี้
Source: SBS News
รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์ ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ
ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่
เรื่องราวที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย
วิศวกรหญิงเบื้องหลังการก่อสร้าง Metro Tunnel