ทางการออสฯ หนุนใช้วัคซีนแอสตราเซเนกาแม้ต่างชาติกังวลความปลอดภัย

ประธานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของออสเตรเลียยืนยันความปลอดภัยของวัคซีนแอสตราเซเนกา พร้อมย้ำว่าขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานว่าเป็นสาเหตุของภาวะลิ่มเลือดอุดตัน

Australian Chief Medical Officer Paul Kelly addresses the media during a press conference in Canberra on 13 January, 2021.

Australian Chief Medical Officer Paul Kelly. Source: AAP

นักการเมืองและผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพของออสเตรเลียแสดงความมั่นใจในการใช้วัคซีนโคโรนาไวรัสของบริษัทแอสตราเซเนกาภายในประเทศ แม้หลายประเทศแถบยุโรปสั่งระงับฉีกวัคซีนดังกล่าวจากข้อกังวลด้านความปลอดภัย

เมื่อวันจันทร์ (15 มี.ค.) เยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลี หลังมีรายงานจากหลายประเทศเกี่ยวกับผลข้างเคียงรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น เช่น ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์พอล เคลลี (Paul Kelly) ประธานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของออสเตรเลีย ยังคง "มั่นใจอย่างยิ่ง" ในความปลอดภัยของวัคซีนแอสตราเซเนกา พร้อมทั้งระบุว่า ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานว่าวัคซีนดังกล่าวเป็นสาเหตุของภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
วัคซีนแอสตราเซเนกาจะเป็นวัคซีนโควิด-19 ชนิดหลักที่ใช้ในออสเตรเลีย ทั้งนี้ คาดว่าโรงงานของบริษัท ซีเอสแอล (CSL) ในนครเมลเบิร์นจะเริ่มแจกจ่ายวัคซีนตั้งแต่สัปดาห์หน้า โดยตั้งเป้าผลิตวัคซีนหนึ่งล้านโดสต่อสัปดาห์

ศาสตราจารย์เคลลีกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ไม่จำเป็นต้องระงับการฉีดวัคซีนในออสเตรเลียระหว่างที่ทางการกำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

"ผมขอแจ้งให้ชัดเจนว่า ในออสเตรเลียของเรา ความปลอดภัยมาเป็นอันดับแรก และการเริ่มใช้วัคซีนในวงกว้างไม่ว่าครั้งใดก็ตาม เราคาดการณ์ไว้ก่อนว่าจะพบเหตุการณ์ไม่ปกติ เราติดตามกรณีเหล่านี้อย่างใกล้ชิดด้วยความระมัดระวัง" ศาสตราจารย์เคลลีกล่าว

"แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีนจะมีสาเหตุมาจากวัคซีนนั้น"

"เราจริงจังกับเรื่องนี้เสมอมา เราดำเนินการตรวจสอบ แต่ในสถานการณ์นี้ ผมพูดได้แน่นอนว่าผมยังมั่นใจในวัคซีนแอสตราเซเนกา ว่าวัคซีนตัวนี้ปลอดภัย และขณะนี้ไม่มีหลักฐานว่าเป็นสาเหตุของภาวะลิ่มเลือดอุดตัน"

ศาสตราจารย์เคลลีอธิบายว่า ภาวะลิ่มเลือดอุดตันพบได้ค่อนข้างทั่วไปในออสเตรเลีย โดยมีรายงานประมาณ 17,000 กรณีในแต่ละปี และคาดว่าอาจเกิดขึ้นในช่วงฉีดวัคซีนด้วย

"จากมุมมองของผม ผมไม่เห็นความเชื่อมโยงจำเพาะเจาะจงใด ๆ ระหว่างวัคซีนแอสตราเซเนกากับภาวะลิ่มเลือดอุดตัน"
คณะกรรมาธิการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพของออสเตรเลีย (Australia’s Therapeutic Goods Administration: TGA) ออกแถลงการณ์เมื่อวันอังคาร (16 มี.ค.) ย้ำว่า "ไม่มีนัยชี้ว่าเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในอัตราที่เพิ่มขึ้น หรือสื่อถึงความสัมพันธ์เชิงสาเหตุและผลลัพธ์กับวัคซีนแอสตราเซเนกาในออสเตรเลีย"

ทั้งยังระบุว่า คณะกรรมาธิการ "จะสื่อสารอย่างใกล้ชิดและบ่อยครั้ง" กับงค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (European Medicines Agency) เกี่ยวกับข้อกังวลนี้ รวมถึงกับ "หน่วยงานด้านนี้ในประเทศต่าง ๆ ผ่านแนวร่วมหน่วยงานกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ยาระหว่างประเทศ"

ด้านบริษัทแอสตราเซเนกา ระบุในเอกสารแถลงการณ์ว่า "ความปลอดภัยของทุกคนคือสิ่งสำคัญอันดับแรกสำหรับเรา" 

"เรากำลังประสานงานกับหน่วยงานด้านสุขภาพระดับชาติและเจ้าหน้าที่ทางการในยุโรป และรอผลประเมินจากพวกเขาในสัปดาห์นี้"

"ตอนนี้ มีคนประมาณ 17 ล้านคนในยุโรปและสหราชอาณาจักรได้รับวัคซีนของเราแล้ว และมีรายงานกรณีภาวะลิ่มเลือดอุดตันในกลุ่มนี้เป็นจำนวนน้อยกว่าที่คาดการณ์จากกลุ่มประชากรทั่วไป"
นักการเมืองออสเตรเลียต่างอ้างอิงคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข โดยนายเกร็ก ฮันต์ รัฐมนตรีสาธารณสุข กล่าวต่อรัฐสภาเมื่อวันอังคาร (16 มี.ค.) ว่ารัฐบาล "สนับสนุนการใช้วัคซีนแอสตราเซเนกาอย่างชัดเจนไม่ต้องสงสัย"

นายจอช ฟรายเดนเบิร์ก รัฐมนตรีการคลัง เพิ่มเติมว่า ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าวัคซีนชนิดนี้ทำให้เกิดภาวะภาวะลิ่มเลือดอุดตัน

"ทั้งหน่วยงานกำกับดูแลยาในยุโรปและองค์การอนามัยโลกต่างบอกว่า วัคซีนแอสตราเซเนกามีความปลอดภัย และไม่มีหลักฐานว่าตัววัคซีนเองเป็นเหตุให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน" นายฟรายเดนเบิร์กกล่าวกับสถานีวิทยุเอบีซี

นายแมตต์ แคนาแวน (Matt Canavan) วุฒิสมาชิกจากพรรคเนชันแนลส์ กล่าวว่า ออสเตรเลียควรดำเนินการตามรอยเยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลี ระหว่างทางการสืบสวนหาความเชื่อมโยงระหว่างวัคซีนนี้กับภาวะลิ่มเลือดอุดตัน

"ผมไม่เห็นว่าเราจะดำเนินการต่อไปได้อย่างไร ในเมื่อแทบทั้งยุโรปกังวลเกี่ยวกับวัคซีนตัวนี้" นายแคนาแวนกล่าวกับสกาย นิวส์ เมื่อวันอังคาร

นายแคนาแวนทราบว่าสหราชอาณาจักรกับสวีเดนยังคงดำเนินการฉีดวัคซีนต่อ แต่ตั้งคำถามว่านี่เป็นแนวทางที่ดีที่สุดสำหรับออสเตรเลียหรือไม่
นายไมเคิล แมกคอร์แมค (Michael McCormack) รองนายกรัฐมนตรี และนายมาร์ก คูลตัน (Mark Coulton) รัฐมนตรีด้านกิจการสาธารณสุขส่วนภูมิภาค ออกมาโต้แย้งข้อเสนอแนะของนายแคนาแวน ขณะที่นายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสัน กล่าวต่อรัฐสภาว่า ความเห็นของวุฒิสมาชิกรายนี้ไม่ได้สะท้อนนโยบายของรัฐบาล

การตัดสินใจระงับการฉีดวัคซีนวัคซีนแอสตราเซเนกาโดยสามประเทศใหญ่ในสหภาพยุโรปสร้างแรงกระเทือนอย่างหนักต่อแคมเปญฉีดวัคซีนในหลายประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป

ดร.ซุมยา สวามิเนทัน (Souyma Swaminathan) นักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก เรียกร้องให้นานาประเทศอย่าตื่นตระหนก

"เราไม่ต้องการให้ผู้คนตื่นตระหนก และตอนนี้ เราขอแนะนำให้ประเทศต่าง ๆ ใช้วัคซีนแอสตราเซเนกาต่อไป" ดร.สวามิเนทันกล่าวในแถลงข่าวเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (15 มี.ค.) โดยเพิ่มเติมว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความเชื่อมโยงชี้ชัดระหว่างวัคซีนโควิด-19 กับ "ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน" ที่มีรายงานในบางประเทศ 

รายงานเพิ่มเติมโดย เอเอพีและรอยเตอร์ส


ประชาชนในออสเตรเลียต้องอยู่ห่างกับผู้อื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร คุณควรตรวจดูว่ามีข้อจำกัดใดบ้างที่บังคับใช้อยู่ในรัฐและมณฑลของคุณ

หากคุณมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้อยู่บ้านและติดต่อขอรับการตรวจเชื้อได้ด้วยการโทรศัพท์ไปยังแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลข 1800 020 080

คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

และตรวจสอบระยะเข้ารับวัคซีนของคุณด้วยเครื่องคำนวณข้างล่างนี้
ติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่

Share
Published 17 March 2021 5:23pm
By Emma Brancatisano
Presented by Phantida Sakulratanacharoen


Share this with family and friends