รู้ได้อย่างไรว่าถึงเวลาเข้ารับวัคซีนแล้ว
การเริ่มใช้วัคซีนในออสเตรเลียแบ่งเป็นห้าขั้นตามลำดับความสำคัญ โดยระยะแรกเริ่มจากกลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อหรืออาการแทรกซ้อนจากโรคโควิด-19
หากไม่แน่ใจว่าคุณจัดอยู่ในกลุ่มใด สามารถตรวจสอบระยะเข้ารับวัคซีนของคุณด้วยเครื่องคำนวณนี้ เพียงตอบคำถามเกี่ยวกับอายุ สุขภาพ และอาชีพ แล้วเว็บไซต์จะแจ้งผลว่าระยะที่คุณสามารถเข้ารับวัคซีนได้จะเริ่มขึ้นเมื่อไรโดยประมาณ
โฆษกกระทรวงสาธารณสุขให้ข้อมูลกับเอสบีเอส นิวส์ ว่า ทางการเตรียมประกาศช่วงเวลาเริ่มต้นของแต่ละระยะ พร้อมรายละเอียดว่าผู้มีสิทธิ์ตามเกณฑ์จะได้รับวัคซีนพร้อมฉีดโดสแรกเมื่อไร
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
เราจะได้ฉีดวัคซีนเมื่อไร? :การฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ของออสเตรเลียเริ่มขึ้นแล้ว
ฉันต้องลงทะเบียนหรือสมัครเข้ารายชื่อรอรับวัคซีนหรือไม่
ไม่ คุณไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนเพื่อรับวัคซีน อีกทั้งไม่มีการจัดทำรายชื่อรอรับวัคซีนแต่อย่างใด สิ่งที่คุณต้องทำมีเพียงตรวจสอบว่าคุณอยู่ในกลุ่มรับวัคซีนระยะใด แล้วนัดหมายแพทย์เมื่อถึงเวลาฉีดวัคซีน
ขณะนี้ มีแพทย์ทั่วไป หรือ แพทย์จีพี (GP) มากกว่า 4,600 คนได้รับอนุมัติให้ดำเนินการฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นระยะ 1บี (Phase 1b)
พญ.คาเรน ไพรซ์ (Karen Price) ประธานราชวิทยาลัยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมทั่วไป (Royal Australian College of General Practitioners) พบว่าศูนย์การแพทย์ชุมชนเนเพียนเฮลต์แคร์ (Nepean Health Care) ในนครเมลเบิร์น ที่เธอทำงานอยู่นั้นได้รับอนุมัติให้เข้าร่วมฉีดวัคซีนแล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน
“น่าตื่นเต้นมาก” เธอกล่าว “นับเป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์ เราทุกคนต่างทุ่มเทเพื่อก้าวผ่านโรคระบาดครั้งนี้ นี่คือแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์อย่างแท้จริง”
“ช่วงหกเดือนที่ผ่านมา ศูนย์การแพทย์ของเราได้พูดคุยกับคนไข้เรื่องการฉีดวัคซีนตั้งแต่มีข้อมูลเข้ามา ตอนนี้เรายังคุยกันว่าพวกเขาอาจอยู่ในระยะไหนกันบ้าง รวมทั้งคาดการณ์ว่าจะติดต่อพวกเขาได้หรือไม่อย่างไร”
พญ.ไพรซ์กล่าวว่า ฝ่ายรัฐบาลกับแพทย์ยังมีรายละเอียดต้องตกลงกันต่อไป อย่างไรก็ตาม เธอสนับสนุนให้ผู้ที่คิดว่าตนน่าจะเข้าเกณฑ์รับวัคซีนให้ติดต่อแพทย์จีพีประจำตัว
“ผู้ที่มีโรคเรื้อรังมักพบหมอบ่อยอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อพบหมอครั้งหน้า ขอให้ลองคุยเรื่องวัคซีนกับเขา” พญ.ไพรซ์กล่าว
“คนกลุ่มนี้ถามเราว่า เราคิดว่าพวกเขามีสิทธิ์ได้รับวัคซีนหรือไม่ เราก็ให้ข้อมูลกับพวกเขาในขั้นตอนนั้น”
ทำอย่างไรหากฉันไม่มีแพทย์จีพีประจำ
หากคุณไม่มีแพทย์จีพีประจำก็ไม่เป็นไร ตั้งแต่ระยะ 1บี เป็นต้นไป กระทรวงสาธารณสุขจะเผยแพร่รายชื่อคลินิกให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 คุณสามารถค้นหาคลินิกใกล้บ้านได้ รวมทั้งแพทย์จีพี ร้านขายยา และคลินิกวัคซีนที่ดำเนินการโดยรัฐและมณฑล
กระนั้น พญ.ไพรซ์มองว่า การมีแพทย์จีพีประจำตัวเป็นผลดีต่อการดูแลสุขภาพมากกว่า และสนับสนุนให้ผู้ที่ยังไม่มีแพทย์จีพีประจำใช้โอกาสนี้หาแพทย์ประจำตัว
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
ขจัดความกลัวด้านวัคซีนโควิดด้วยคำอธิบายจากผู้เชี่ยวชาญ
“การมีแพทย์จีพีประจำคือการลงทุนในสุขภาพของคุณ” เธอกล่าว
“เราทราบดีว่าจะได้รับคนไข้ไม่ใช่แค่จากคลินิกของเรา แต่ยังอาจมาจากคลินิกอื่นด้วย เรายินดีให้บริการชุมชนของเรา เพราะนี่เป็นการใช้วัคซีนครั้งใหญ่ และเราจำเป็นต้องให้ทุกคนได้รับวัคซีน”
เกิดอะไรขึ้นบ้างเมื่อไปตามนัดฉีดวัคซีน
พญ.ไพรซ์เล่าว่า แต่ละคลินิกอาจมีข้อแตกต่างกันเล็กน้อย ส่วนใหญ่แล้วขั้นตอนเข้ารับวัคซีนมีดังต่อไปนี้
“พอคุณไปถึงคลินิก เจ้าหน้าที่จะมาพูดคุยสอบถามว่าคุณทราบอะไรมาก่อนแล้วบ้าง ขั้นตอนเป็นอย่างไร และเราจะขอความยินยอมจากคุณ”
“จากนั้น เจ้าหน้าที่จะพาคุณไปอีกส่วนหนึ่ง เราจะตรวจสอบอีกครั้งให้แน่ใจว่าเรารู้ว่าคุณเป็นใคร เช่น จากเอกสารประจำตัวของคุณ ขั้นต่อไปจึงฉีดยา”
“เสร็จแล้วเจ้าหน้าที่จะพาคุณกลับไปพื้นที่รอรับบริการเพื่อสังเกตอาการ ดิฉันคาดว่าคุณจะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นเพียงอาการอ่อน ๆ และแจ้งกำหนดนัดรับวัคซีนครั้งต่อไป”
พญ.ไพรซ์ย้ำว่า คุณควรเข้ารับการฉีดวัคซีนโดสที่สองกับคลินิกเดิมเสมอหากเป็นไปได้
ฉันต้องมีบัตรเมดิแคร์เพื่อรับวัคซีนหรือไม่
ทุกคนในออสเตรเลียสามารถรับวัคซีนได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่ได้จำกัดแค่พลเมืองและผู้มีสิทธิ์พำนักเท่านั้น
หากคุณไม่มีสิทธิ์เมดิแคร์ กระทรวงสาธารณสุขแจ้งว่า คุณควรลงทะเบียนขอรับเลขประจำตัวด้านสุขภาพ หรือ Individual Healthcare Identifier (IHI) และนำข้อมูลนี้ติดตัวไปด้วยเมื่อไปตามนัดฉีดวัคซีน
ตั้งแต่ระยะ 1บี เป็นต้นไป กระทรวงสาธารณสุขแจ้งว่า ผู้ที่ไม่มีเมดิแคร์ควรจองเข้ารับวัคซีนฟรีกับคลินิกแพทย์จีพีที่สนับสนุนโดยเครือรัฐ หรือคลินิกฉีดวัคซีนที่ดำเนินงานโดยรัฐหรือมณฑล
มีมิจฉาชีพฉวยโอกาสเกี่ยวกับวัคซีนหรือไม่
มี หลังจากออสเตรเลียเริ่มใช้วัคซีนเมื่อ 10 วันที่แล้ว เว็บไซต์สแกมวอตช์ (Scamwatch) ได้รับรายงานกรณีหลอกลวงเกี่ยวกับวัคซีนแล้ว 32กรณี
กรณีเหล่านี้มีทั้งหลอกลงทุน แบบสอบถามปลอมเพื่อขโมยข้อมูลส่วนตัว การต้มตุ๋นผ่านอีเมล และการหลอกลวงเกี่ยวกับประกันวัคซีน
นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการด้านการแข่งขันและผู้บริโภคแห่งออสเตรเลีย (Australian Competition and Consumer Commission หรือ ACCC) ยังจับตามองรายงานการหลอกลวงเกี่ยวกับวัคซีนในต่างประเทศด้วย
นางสาวดีเลีย ริกคาร์ด (Delia Rickard) รองประธานคณะกรรมาธิการ กล่าวว่า พบการหลอกลวงเกี่ยวกับวัคซีนแล้ว “หลายพันกรณี” ทั้งในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา
“ตัวอย่างที่พบก็อย่างเช่นมิจฉาชีพขายวันเวลานัดฉีดยาที่ไม่มีอยู่จริง ที่น่ากลัวคือ ในสหรัฐฯ เราได้รับรายงานว่ามีมิจฉาชีพออกตระเวนฉีดวัคซีนปลอม ซึ่งดิฉันเข้าใจว่าเป็นน้ำแร่หรือน้ำเกลือ” นางสาวริกคาร์ดกล่าว
“คงเลี่ยงได้ยากหากการหลอกลวงอย่างที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรเหล่านี้จะเกิดขึ้นในออสเตรเลียด้วยเช่นกัน เราทราบว่ามิจฉาชีพชอบเกาะประเด็นที่กำลังเป็นที่สนใจของสาธารณะ”
แล้วจะหลีกเลี่ยงไม่ให้ตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงได้อย่างไร
นางสาวริกคาร์ดกล่าวว่า ไม่ควรมีกรณีใดที่คุณต้องจ่ายเงินแลกกับวัคซีน และควรรับคำแนะนำเรื่องวัคซีนจากกระทรวงสาธารณสุขหรือแพทย์เท่านั้น
“เรื่องสำคัญที่ผู้คนในออสเตรเลียต้องระลึกเสมอคือ คุณไม่สามารถแซงคิวได้ กระบวนการเริ่มใช้วัคซีนเป็นไปตามระเบียบขั้นตอน”
“ประการที่สอง วัคซีนที่นี่ฟรี ทั้งยังวัคซีนเหล่านี้มีข้อกำหนดในการเก็บรักษาหลายรูปแบบ ดังนั้น อย่าคิดสั่งซื้อจากอินเทอร์เน็ตหรือจากผู้ที่มาเสนอขายกับคุณ พวกนี้เป็นเรื่องหลอกลวงและน่าจะเป็นของปลอม ขอให้หลีกเลี่ยง”
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
ไขข้อข้องใจกับทุกความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19
คณะกรรมาธิการยังตระหนักว่า ส่วนใหญ่แล้วกลุ่มผู้ที่ไม่พูดภาษาอังกฤษมักตกเป็นเป้าของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมิจฉาชีพในภาษาของพวกเขา
“มีข้อมูลเท็จเผยแพร่เต็มไปหมด ทั้งเรื่องโควิด-19 ทั้งเรื่องวัคซีน คุณควรรับข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้เท่านั้น เช่น กระทรวงสาธารณสุขหรือแพทย์” เธอกล่าว
“ไม่ว่าคุณจะทำอะไร อย่าพึ่งข้อมูลแค่จากอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย เพราะมีข้อมูลเท็จหรือคลาดเคลื่อนจำนวนมาก”
คุณสามารถติดตามข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาเป็นภาษาไทย จาก เอสบีเอส ได้ที่เว็บไซต์
ประชาชนในออสเตรเลียต้องอยู่ห่างกับผู้อื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร โปรดตรวจสอบมาตรการจำกัดการรวมกลุ่มในรัฐและมณฑลที่ท่านอาศัย
หากคุณมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้ติดต่อขอรับการตรวจเชื้อได้ด้วยการโทรศัพท์ไปยังแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลข 1800 020 080
ตรวจสอบแนวทางที่เกี่ยวข้องในรัฐและมณฑลของคุณที่นี่: รัฐนิวเซาท์เวลส์ (), รัฐวิกตอเรีย (), รัฐควีนส์แลนด์ (, รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย (), รัฐเซาท์ออสเตรเลีย (, มณฑลนอร์เทิร์นเทร์ริทอรี (), มณฑลนครหลวงออสเตรเลีย (), รัฐแทสเมเนีย ()
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจจากเอสบีเอส ไทย
ออสเตรเลียขยายปิดพรมแดนต่ออีกสามเดือน