ทนายความด้านการย้ายถิ่นฐานต่างเรียกร้องให้มีการดำเนินการตามคำเรียกร้องจากรายงานรัฐสภาเกี่ยวกับระบบวีซ่าครอบครัว หลังมีการเปิดเผยว่า ความล้มเหลวของระบบได้สร้างความเสียหายต่อประชาชน
การไต่สวนหาความจริงของรัฐสภาที่มีขึ้นในสัปดาห์ที่แล้ว เรื่อง “ประสิทธิภาพ ความยุติธรรม ความทันท่วงที และค่าใช้จ่ายในการพิจารณาและการอนุมัติ” วีซ่าครอบครัวหรือวีซ่าคู่ครอง ได้แนะนำให้มีการปฏิรูประบบอย่างเร่งด่วน
การค้นพบที่สำคัญสรุปว่า “เป็นเรื่องเร่งด่วน” ที่กระทรวงมหาดไทย (Department of Home Affairs) ของออสเตรเลีย จำเป็นต้องพัฒนา “กลยุทธ์ระยะยาวในการปรับปรุงระบบสำหรับการพิจารณาวีซ่า”
รายงานดังกล่าวได้วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง โดยกล่าวว่า จำเป็นต้องมีการดำเนินการในเรื่องนี้ เพื่อปรับปรุง "ประสิทธิภาพ เพื่อลดความซับซ้อน ลดเวลารอคอยลงอย่างมาก และเพื่อให้มีความโปร่งใสมากขึ้นสำหรับผู้สมัครขอวีซ่า"
รายงานยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการจัดสรรทรัพยากรให้กระทรวงมหาดไทย "อย่างเหมาะสม" เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ "อย่างเร่งด่วน" ในการพัฒนากลยุทธ์และ "นำมาตรการเหล่านั้นมาใช้ได้อย่างทันท่วงที"
คุณ โจเซฟีน แลงเบียน ทนายความอาวุโสของศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า “สำคัญอย่างยิ่ง” ที่รายงานดังกล่าวได้นำเสนอสิ่งที่ค้นพบจากการไต่สวนหาความจริง หลังองค์กรต่างๆ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับระบบ
“มันแสดงให้เห็นอย่างแท้จริง ว่าระบบนั้นชำรุดและไม่มีประสิทธิภาพอย่างที่ครอบครัวที่สมัครขอวีซ่า คาดหวัง” คุณ แลงเบียน บอกกับ เอสบีเอส นิวส์
“หลักฐานที่บ่งชี้เรื่องนี้เห็นได้จากความล่าช้าที่ไม่สมเหตุสมผล ค่าดำเนินการที่สูงเกินไป และนโยบายการเลือกปฏิบัติที่กีดกันไม่ให้ผู้คนได้กลับไปอยู่ร่วมกับผู้คนที่พวกเขารักเป็นเวลานานหลายปี”
ในแถลงการณ์จากโฆษกของกระทรวงมหาดไทยของออสเตรเลียกล่าวว่า กระทรวงรับทราบถึงรายงานของคณะกรรมการวุฒิสภาและได้มีส่วนร่วมในการไต่สวนหาความจริงดังกล่าว
“ข้อเสนอแนะของรายงานดังกล่าวจะได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบจากรัฐบาล และตอบสนองในเวลาที่เหมาะสม” โฆษกกระทรวงมหาดไทยของออสเตรเลีย กล่าวผลการพิจารณาของคณะกรรมการ
รายงานรัฐสภาเกี่ยวกับระบบวีซ่าครอบครัว เปิดเผยว่า ความล้มเหลวของระบบได้สร้างความเสียหายต่อประชาชน Source: Getty images
คณะกรรมการไต่สวนหาความจริงของรัฐสภาชุดนี้ ที่นาย คิม คาร์ วุฒิสมาชิกพรรคแรงงาน เป็นประธาน มีนางซาราห์ เฮนเดอร์สัน วุฒิสมาชิกพรรคลิเบอรัล เป็นรองประธาน และมีกรรมการจากพรรคแรงงานอีก 3 คน จากพรรคลิเบอรัลอีก 2 คน และจากพรรคกรีนส์ 1 คน
แต่ถึงแม้จะเป็นคณะกรรมการที่นำโดยพรรคแรงงาน แต่รายงานฉบับนี้ไม่มีความคิดเห็นที่คัดค้านผลการค้นพบจากกรรมการที่สังกัดพรรครัฐบาล
ในข้อคิดเห็นสุดท้าย ที่ลงนามรับรองโดยวุฒิสมาชิกคาร์นั้น คณะกรรมการระบุว่า การกลับมาอยู่ร่วมกันอีกครั้งของครอบครัวควรถูกมองว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งของโครงการวีซ่าที่ประสบความสำเร็จ
“บ่อยครั้งจนเกินไป ที่การอภิปรายกันเรื่องการย้ายถิ่นฐานมักบอกว่า การกลับมาอยู่ร่วมกันอีกครั้งของครอบครัว เป็นความสมดุลระหว่างผลประโยชน์ทางสังคม เศรษฐกิจ และมนุษยธรรม” รายงานดังกล่าวระบุ
รายงานดังกล่าวยังระบุว่า ในการไต่สวนหาความจริงครั้งนี้คณะกรรมการยังได้ฟังหลักฐาน “ที่น่ากังวลอย่างยิ่ง” เกี่ยวกับประสบการณ์ของบุคคลต่างๆ ที่ยื่นขอย้ายถิ่นฐานมายังออสเตรเลียภายใต้ระบบวีซ่าสำหรับครอบครัว
นี่รวมไปถึงการร้องเรียนต่างๆ ที่ว่าระบบพิจารณาวีซ่าครอบครัวหรือคู่ครองนั้น "คิดค่าดำเนินการแพง ไม่มีความชัดเจน ยืดเยื้อ และยากลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับภาคส่วนที่เปราะบางที่สุดในหมู่ประชากรที่อพยพย้ายถิ่นฐาน"
“ต้องมีการทำอะไรมากกว่านี้ เพื่อให้แน่ใจว่าขั้นตอนการยื่นขอวีซ่ามีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นธรรม ในขณะเดียวกันก็ขานรับนโยบายต่างๆ ที่เป็นวาระสำคัญของรัฐบาลออสเตรเลีย” รายงานระบุคุณ อาลิ โมห์เทเฮดี เป็นหัวหน้าทนายความของศูนย์ให้คำแนะนำและสิทธิ์ด้านการย้ายถิ่นฐาน (Immigration Advice and Rights Center) ซึ่งเป็นบริการช่วยเหลือทางกฎหมายในรัฐนิวเซาท์เวลส์ และทำงานร่วมกับครอบครัวต่างๆ ที่ต้องพยายามทำความเข้าใจระบบวีซ่า
"ต้องมีการทำอะไรมากกว่านี้ เพื่อให้แน่ใจว่าขั้นตอนการยื่นขอวีซ่ามีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นธรรม" Source: SBS
เขากล่าวว่าผู้มาใช้บริการของเขาหลายคนมีความเปราะบาง โดยมีทั้งผู้ทุพพลภาพ หรือผู้รอดชีวิตจากการความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งต้องเผชิญกับความยากลำบากของระบบวีซ่าเหล่านี้
“มันยากอย่างเหลือเชื้อ ที่จะหาทางและทำความเข้าใจ ไม่เพียงแต่เรื่องกระบวนการเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเรื่องกฎหมายด้วย” คุณ อาลิ โมห์เทเฮดี กล่าวกับ เอสบีเอส นิวส์
“มันรวมถึงกระบวนการต่างๆ และคำจำกัดความต่างๆ ที่ซับซ้อนสำหรับทนายความ นับประสาอะไรกับผู้คนที่อาจไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่”
รายงานยังมุ่งเป้าไปที่ระบบไอที (IT) ที่กระทรวงมหาดไทยของออสเตรเลียใช้ โดยกล่าวว่าระบบเหล่านี้เป็น "อุปสรรคสำคัญ" ต่อ "การดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ" ของโครงการรับผู้ย้ายถิ่นฐาน
มีการระบุว่า ระบบประมวลผล "มีอายุราว 30 ปี" และ "ไม่พร้อม" สำหรับสิ่งที่ถือเป็น "มาตรฐานที่ยอมรับสำหรับการให้บริการที่ทันสมัย"
ในความคิดเห็นเพิ่มเติม ของพรรคกรีนส์ ซึ่งเป็นหัวหอกในการไต่สวนหาความจริงดังกล่าว ระบุว่า กระทรวงมหาดไทยต้องทำให้ ระบบวีซ่า “มีความเป็นธรรมขึ้น เร็วขึ้น และมีราคาย่อมเยามากขึ้น โดยด่วน”
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เปลี่ยนกฎวีซ่า 8 ข้อและกฎอิมฯ เริ่ม 1 ก.ค. นี้
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจจากเอสบีเอส ไทย
ผู้ย้ายถิ่นที่รายได้ต่ำผิดหวังกับข้อเสนอให้วีซ่าเฉพาะลูกจ้างทักษะสูง