ผศ.ดร.บีอันคา บริจนาท (Bianca Brijnath) ผู้อำนวยการด้านการศึกษาสังคมผู้สูงอายุ (social gerontology) จากสถาบันวิจัยผู้สูงวัยแห่งชาติ (National Ageing Research Institute) กำลังมีความกังวลเกี่ยวกับความท้าทายที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งครอบครัวของผู้มีภาวะสมองเสื่อมต้องเผชิญ ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดในรัฐวิกตอเรีย ซึ่งทำให้การไปเยี่ยมสถานดูแลผู้สูงอายุถูกจำกัดห้ามเป็นอย่างมาก เนื่องจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา
LISTEN TO
VIVA: การดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมในช่วงโควิด
SBS Thai
21/09/202014:09
เธอได้ทราบว่า ครอบครัวผู้อพยพย้ายถิ่นบางส่วนถึงกับนำบุคคลอันเป็นที่รักออกจากสถานดูแลผู้สูงอายุ เพื่อปกป้องพวกเขาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
เธอแนะนำให้ผู้คนไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนในระยะยาว ก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงการให้การดูแลบุคคลอันเป็นที่รัก เนื่องจากความท้าทายซึ่งทำให้ผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมจำเป็นต้องเข้ารับการดูแลตั้งแต่แรกที่ที่มีอยู่แล้วนั้นยังคงอยู่
“ความยากลำบากเหล่านั้นไม่ได้หายไปไหน ดังนั้น เมื่อคุณจะนำผู้ที่ต้องได้รับการดูแลในระดับสูง ซึ่งจะต้องอยู่ภายในสถานดูแล ที่ได้มีการจัดเตรียมการดูแลที่จำเป็น และเมื่อคุณนำพวกเขากลับมาที่บ้าน ซึ่งอาจไม่ได้จัดเตรียมเพื่อตอบสนองกับผู้ที่ต้องได้รับการดูแลในระดับสูง มันอาจเป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างอันตราย ทั้งกับตัวคุณเอง และกับคนที่คุณรักที่มีภาวะสมองเสื่อม” ผศ.ดร.บริจนาทกล่าวนอกจากนี้ ผศ.ดร.บริจนาท ยังได้สังเกตว่า ปัจจัยด้านความเครียดของผู้ให้การดูแล และบุคคลอันเป็นที่รักที่มีภาวะสมองเสื่อมนั้นเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากพวกเขาต้องอยู่อาศัยร่วมกันในช่วงมาตรการล็อกดาวน์
Source: Getty Images/FG Trade
เธอกล่าวว่า การไม่สามารถให้การดูแลได้ตลอด 24 ชั่วโมงที่บ้านนั้น อาจส่งผลกระทบที่ร้ายแรงต่อผู้ให้การดูแล และผู้ที่เผชิญกับภาวะสมองเสื่อม
“มันอาจเป็นประสบการณ์ที่เลวร้ายสำหรับพวกเขา และเป็นสิ่งที่เลวร้ายสำหรับคุณ มันอาจเป็นเรื่องที่ค่อนข้างสะเทือนอารมณ์ และหนักหนาสาหัส คุณจะต้องระวังในส่วนนี้ ตรวจสอบที่เว็บไซต์ และดูว่ารัฐบาลท้องถิ่นของคุณมีความช่วยเหลือใดบ้าง พูดคุยกับแพทย์ GP ก่อนล่วงหน้า พยายามเตรียมการล่วงหน้าให้มากที่สุดเท่าที่คุณจะทำได้ ก่อนที่จะทำการตัดสินใจที่มีความสำคัญนี้” ผศ.ดร.บริจนาทกล่าว
อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.บริจนาท เชื่อว่า การดูแลตนเองนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้แน่ใจว่า ผู้ให้การดูแลนั้นมีความอดทนและความสามารถในการดูแล เธอแนะนำว่า ควรมีการสนับสนุนจากญาติพี่น้องหากเป็นไปได้
“สมาชิกครอบครัวได้ดูแลบุคคลอันเป็นที่รักซึ่งเผชิญกับภาวะสมองเสื่อม ตั้งแต่วินิจฉัยพบจนกระทั่งเสียชีวิต พวกเขามีญาติห่าง ๆ เวียนมาตลอดทั้งวันทั้งคืนเพื่อให้การดูแล แต่ในช่วงนี้ ซึ่งมาตรการล็อกดาวน์มีความเข้มงวด อาจเป็นไปไม่ได้ที่จะทำเช่นนั้น แต่คุณอาจมีสมาชิกครอบครัวที่เป็นญาติห่าง ๆ สักคน มาเป็นผู้ให้การดูแล และคุณก็สามารถช่วยพวกเขาแบ่งเบาภาระได้ส่วนหนึ่ง”ผศ.ดร.บริจนาท กล่าวคุณมารี แมกเคบ (Maree McCabe) ประธานบริหารของหน่วยงานโรคสมองเสื่อมแห่งออสเตรเลีย (Dementia Australia) กล่าวว่า สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ไม่เพียงแต่จะสร้างความท้าทายให้กับผู้ทำงานในสถานดูแลผู้สูงอายุ และครอบครัวเท่านั้น แต่ยังหมายถึงผู้เข้ารับการดูแลมากกว่าร้อยละ 50 ที่มีภาวะสมองเสื่อม หลายคนไม่อาจเห็นหน้าบุคคลอันเป็นที่รักของพวกเขา เนื่องจากมาตรการจำกัดห้ามในสถานดูแลผู้สูงอายุ
Source: Getty Images/FG Trade
คุณแมกเคบ กล่าวว่า มีการวิจัยที่ระบุว่า หากผู้มีภาวะสมองเสื่อมขาดแรงกระตุ้นจากการพบบุคคลอันเป็นที่รักและสมาชิกครอบครัว อาการของพวกเขาจะทรุดหนักอย่างรวดเร็ว และนั่นหมายความว่า พวกเขาจะสูญเสียความสามารถในการทำสิ่งต่าง ๆ ที่เคยทำได้ โดยไม่สามารถย้อนกลับคืนมาได้อีก
เธอกังวลว่า สิ่งเดียวกันนี้จะเกิดขึ้นกับผู้มีภาวะสมองเสื่อมซึ่งอาศัยอยู่ที่บ้าน
“สำหรับผู้คนในชุมชน เราพบว่าพวกเขาเคยออกไปทำอะไรตามที่พวกเขาจำเป็นต้องทำ แต่ในตอนนี้พวกเขากังวลกับการที่จะออกไปข้างนอก พวกเขาสูญเสียความมั่นใจ และอาการของพวกเขาก็เริ่มทรุดหนักขึ้น” คุณแมกเคบ กล่าว
คุณแมกเคบ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของคนทำงานในสถานดูแลผู้สูงอายุ อาจส่งผลในแง่ลบกับผู้มีภาวะสมองเสื่อมที่เข้ารับการดูแล
“มันเป็นเรื่องยากลำบากมาก เราพบกับสถานการณ์ที่ไม่เคยเจอมาก่อน อย่างการที่สถานดูแลต้องสูญเสียกำลังคนทำงานไปมากถึง 80% หรือการที่คนทำงาน 100% ต้องได้รับการกักโรค และสิ่งเหล่านี้มันเป็นเรื่องยากลำบากมาก คนทำงานที่เข้าไปอยู่ในนั้นไม่รู้จักผู้ที่เข้ารับการดูแล โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม" คุณแมกเคบกล่าว
“สำหรับสถานดูแลผู้สูงอายุทั้งหมดนั้น ยิ่งเรารู้จักผู้เข้ารับการดูแลมากเท่าไหร่ เราก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุนช่วยเหลือพวกเขาด้วยสิ่งที่จำเป็นมากขึ้นเท่านั้น”
สถานดูแลซึ่งมีนโยบายควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวด จะอนุญาตให้ผู้เข้าเยี่ยมพบกับผู้เข้ารับการดูแล เมื่อลงชื่อเพื่อยืนยันว่า ไม่ได้สัมผัสกับผู้ที่มีเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือไม่มีอาการป่วย หรือแสดงอาการใด ๆ ของไวรัสโคโรนา
คุณแมกเคบ กล่าวว่า สมาชิกครอบครัวต่างกำลังพยายามอย่างดีที่สุด เพื่อทำให้ทุกสิ่งเป็นไปโดยปกติสำหรับบุคคลอันเป็นที่รักที่มีภาวะสมองเสื่อม ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่ปกติในช่วงนี้ เธอแนะนำว่า ควรมีการติดต่อสื่อสารกันเป็นประจำ ซึ่งรวมถึงการสนทนาผ่านทางวิดีโอกับบุคคลอันเป็นที่รัก เพื่อถามสารทุกข์สุกดิบคุณเอดการ์ด พรอย (Edgard Proy) ผู้รับเหมาก่อสร้างในรัฐวิกตอเรีย แม้ก่อนหน้านี้ เขาจะได้รับแจ้งไม่ให้ไปเยี่ยมพ่อแม่ในวัยสูงอายุของเขาที่สถานดูแล เขาได้พยายามโน้มน้าวให้ผู้จัดการสถานดูแลที่พ่อแม่ของเขาเข้ารับการดูแล ให้เขาเป็นผู้ให้การดูแลพ่อแม่ของเขาอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เขาเล่าว่า เขาต้องทำทุกอย่าง เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่เป็นผู้แพร่กระจายเชื้อไวรัสโคโรนา
Source: Getty Images/RyanJLane
“นี่คือสิ่งที่ผมพูดกับผู้จัดการสถานดูแล ผมบอกว่า ผมได้รับการตรวจเชื้อแล้ว 3 ครั้ง และผมจะไปตรวจต่อไปหากผมมีอาการใด ๆ ผมอาบน้ำทุกครั้งก่อนที่จะเข้าไป ผมล้างตัวตั้งแต่หัวจรดเท้า ผมดื่มชาขมิ้นและชาขิง ผมกลั้วคอ และทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้เชื้อนี้มาติดตัวผม ผมใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ และก็อะไรทำนองนี้” คุณพรอยกล่าว
แม้จะต้องอาศัยอยู่ในรัฐที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโคโรนามากที่สุดในออสเตรเลีย และการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อกว่าร้อยละ 95 เกิดขึ้นในสถานดูแลผู้สูงอายุ พ่อแม่ของคุณพรอยนั้นยังคงมีสุขภาพดี และเพิ่งจะฉลองวันครบรอบแต่งงานปีที่ 54 ไปได้ไม่นาน
แผนการดูแลของคุณพรอยนั้น คือการจัดหาผู้ให้การดูแลส่วนตัวสำหรับพ่อแม่ของเขา 5 วันต่อสัปดาห์ โดยเขาจะให้การดูแลอีก 2 วันที่เหลือ ในฐานะผู้ให้การดูแลเพิ่มเติม เขาเล่าอีกว่า ค่าใช้จ่ายทั้งหมดนั้นมาจากเงินออมของพวกเขาเองทั้งหมด
ต่อมา คุณพรอยได้พบกับความจริงที่น่าตกใจว่า มอนิกา แม่ของเขา ซึ่งมีภาวะสมองเสื่อม ได้รับยาหลายขนานภายใต้การพันธนาการด้วยสารเคมี (chemical restrain) จากจำนวนพนักงานที่ขาดแคลนในสถานดูแลผู้สูงอายุก่อนหน้านี้
ข้อมูลจากหน่วยงานฮิวแมนไรตส์วอตช์ (Human Rights Watch) การพันธนาการด้วยสารเคมีนั้นเกิดขึ้นโดยทั่วไปในสถานดูแลผู้สูงอายุ ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยมีการศึกษาวิจัยบางชิ้นที่ชี้ว่า 1 ใน 3 ของผู้เข้ารับการดูแลได้รับยากดประสาท ขณะที่ร้อยละ 32 นั้นได้รับยาต้านโรคจิต (antipsychotic drugs) แบบรายวัน
“เราใช้บริการผู้ให้การดูแลส่วนตัว เพราะเราเข้าใจว่าผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม เมื่ออาการเริ่มกำเริบ จิตใจของพวกเขาจะเริ่มเสื่อมถอย ตอนนี้แม่ของผมมีความจำเท่ากับเด็กทารก เธอยังเดินได้ เธอยังทำได้ทุกอย่าง แต่เพียงเมื่อเธอต้องการเท่านั้น และมันเป็นเช่นนั้นในทุก ๆ อย่างของชีวิตเธอ ถ้าเราทิ้งเธอไป เธอก็จะนอนอยู่ตรงนั้นไปจนเธอตาย” คุณพรอยกล่าว
ข้อมูลล่าสุดจากคณะกรรมาธิการด้านผลิตผล (Productivity Commission) ชี้ให้เห็นว่า เวลาในการรออนุมัติเงินสนับสนุนสำหรับการดูแลที่บ้าน (Home Care Package) อยู่ที่ระหว่าง 7 เดือนสำหรับระดับพื้นฐาน (Basic level) และ 34 เดือนสำหรับการดูแลระดับสูงสุด
ผศ.ดร.บริจนาท กล่าวว่า ขณะที่หลายครอบครัวที่ภูมิหลังหลากภาษา และหลากวัฒนธรรม ต้องการที่จะให้บุคคลอันเป็นที่รักซึ่งมีภาวะสมองเสื่อมอยู่ที่บ้าน แต่จำนวนผู้ที่รออนุมัติเงินสนับสนุนการดูแลที่บ้านนั้นอาจต้องใช้เวลาเป็นปี เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ เธอแนะนำว่า ควรใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัวสำหรับค่าใช้จ่ายในส่วนนี้หากเป็นไปได้ เนื่องจากเวลาในการรอเงินสนับสนุนดังกล่าวจะนานมาก
คุณพรอยกล่าวว่า เขาได้รับการตีตราว่าเป็นผู้สร้างปัญหา จากความพยายามในการมอบการดูแลให้กับพ่อแม่ของเขาให้ดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ บ่อยครั้งที่เขาพยายามหาหนทางที่เป็นไปได้ในระบบที่ไม่มีความยืดหยุ่น
คำแนะนำของเขาสำหรับสมาชิกในครอบครัวอื่น ๆ ซึ่งมีบุคคลอันเป็นที่รักในสถานดูแลผู้สูงอายุนั้นเป็นเรื่องง่าย ๆ
“หากคุณต้องการที่จะเข้าไปในสถานดูแลเพื่อให้การดูแลพวกเขาจริง ๆ มันเป็นสิทธิ์ที่คุณทำได้ หากคุณเป็นผู้มอบอำนาจ หรือได้รับอนุญาตทางกฎหมาย คุณสามารถเข้าไปที่นั่นได้ ไม่มีใครหยุดคุณได้เพียงเพราะสถานดูแลบอกว่าพวกเขามีกฎระเบียบ มันมีช่องทางในการติดต่อและเจรจาเสมอ ดังนั้นหากคุณต้องการที่จะเข้าไปดูแลพวกเขา คุณต้องพยายามและสื่อสารกับพวกเขา” คุณพรอยกล่าวปัจจุบัน มีมากกว่า 100 โรคที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม โดยโรคอัลไซเมอร์นั้นเป็นสาเหตุหลักที่พบได้มากที่สุด ซึ่งเกิดขึ้นในผู้ป่วยสมองเสื่อมมากถึงร้อยละ 70 โดยสัญญาณแรกที่บ่งบอกได้เป็นส่วนมาก คืออาการสูญเสียความทรงจำ
Source: Getty Images/Geber86))
คุณมารี แมกเคบ ได้กระตุ้นให้หลายครอบครัวสังเกตพฤติกรรมผิดปกติที่เกิดขึ้นกับญาติผู้ใหญ่สูงวัย เพราะสิ่งเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณแรก ๆ ของภาวะสมองเสื่อม
“ภาวะสมองเสื่อมรูปแบบอื่น ๆ อาจไม่ส่งผลกระทบกับความทรงจำ และสิ่งที่สังเกตได้นั้นคือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม มันอาจเกิดขึ้นโดยฉับพลัน ผู้คนจะเริ่มทำในสิ่งที่ไม่ใช่บุคลิกของพวกเขา มันอาจเป็นเรื่อของการสูญเสียความต้องการที่จะทำสิ่งต่าง ๆ พวกเขาอาจมีอาการซึมเฉยและไม่สนใจอะไร อาการบางอย่างอาจเหมือนกันกับโรคอื่น ๆ เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่คุณจะต้องสังเกต” คุณแมกเคบ กล่าว
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดโทรหาสายด่วนภาวะสมองเสื่อมแห่งชาติ () ที่หมายเลข 1800 100 500 หรือติดต่อคณะกรรมาธิการคุณภาพและความปลอดภัยในสถานดูแลผู้สูงอายุ () ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1800 951 822
หากคุณต้องการค้นหาวิธีการดูแลบุคคลอันเป็นที่รักที่เผชิญกับภาวะสมองเสื่อม ไปที่เว็บไซต์สายด่วนภาวะสมองเสื่อมแห่งชาติ () สำหรับคำแนะนำประจำวัน ในช่วงสัปดาห์ตระหนักรู้ภาวะสมองเสื่อม ตั้งแต่วันที่ 21 – 27 กันยายนนี้
ถ้าคุณต้องการบริการล่ามแปลภาษา โปรดโทรไปที่บริการแปลและล่าม (TIS National) ที่หมายเลข และขอให้ต่อสายไปยังบริการที่คุณต้องการ
ประชาชนในออสเตรเลียต้องอยู่ห่างกับผู้อื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร คุณสามารถตรวจดูว่ามีข้อจำกัดใดบ้างที่บังคับใช้อยู่ในรัฐและมณฑลของคุณ
การตรวจเชื้อไวรัสโคโรนาขณะนี้สามารถทำได้ทั่วออสเตรเลีย หากคุณมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้ติดต่อขอรับการตรวจเชื้อได้ด้วยการโทรศัพท์ไปยังแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลข 1800 020 080
รัฐบาลสหพันธรัฐออสเตรเลียยังได้มีแอปพลิเคชัน COVIDSafe เพื่อติดตามและแจ้งเตือนผู้ที่พบปะใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งคุณสามารถดาวน์โหลดมาใช้ได้จากแอปสโตร์ (app store) สำหรับโทรศัพท์มือถือของคุณ อ่านเกี่ยวกับแอปพลิเคชันนี้
ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่
เรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย
การปิดโรงเรียนควรเป็นทางเลือกสุดท้ายช่วงโควิด