องค์การอนามัยโลก เตือนว่า “ไม่มีภาวะความเสี่ยงเป็นศูนย์” ขณะที่เด็กๆ หลายล้านคนทั่วโลกกลับไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนตามเดิม ท่ามกลางการระบาดใหญ่ของเชื้อโควิด-19
แต่องค์การด้านสุขภาพของโลก กล่าวว่า การปิดโรงเรียนควรเป็นหนทางสุดท้าย เฉพาะในพื้นที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาในอัตราสูงเท่านั้น
LISTEN TO
การปิดโรงเรียนควรเป็นทางเลือกสุดท้ายช่วงโควิด
SBS Thai
18/09/202006:30
ในการประชุมแบบเสมือนจริงออนไลน์ของผู้นำด้านสุขภาพและสิทธิมนุษยชนของโลกที่มีขึ้นในวันพุธ (16 ก.ย.) สารถึงรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลกนั้นชัดเจน คือขณะนี้เป็นเวลาที่ต้องตัดสินใจ
แม้จะเป็นเดือนที่เก้าของวิกฤตโควิด-19 แต่หลายๆ ประเทศยังคงพยายามหาหนทางว่า จะปกป้องพลเมืองของตนอย่างดีที่สุดได้อย่างไร ขณะที่ทำให้สังคมดำเนินต่อไปได้
นายแพทย์ ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่า เด็กๆ ต้องเป็นสิ่งที่ทุกคนคำนึงถึงเป็นอันดับแรก
“การปกป้องให้เด็กๆ ปลอดภัยและเรียนที่โรงเรียนได้ ไม่ใช่ภาระกิจสำหรับโรงเรียน หรือรัฐบาล หรือครอบครัวโดยลำพัง แต่มันเป็นภาระกิจสำหรับเราทุกคนที่จะต้องร่วมมือกัน อย่างที่พวกเรามักพูดเสมอ ว่าไม่มีภาวะที่ความเสี่ยงเป็นศูนย์ แต่ด้วยการผสมผสานของมาตรการที่เหมาะสม เราจะสามารถปกป้องเด็กๆ ของเราให้ปลอดภัย และสอนให้พวกเขาตระหนักว่า สุขภาพและการศึกษาเป็นสองสิ่งที่ล้ำค่าที่สุดในชีวิต” นพ.กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ของ WHO กล่าว
จากสถิติของ WHO พบว่า มีผู้ที่อายุน้อยกว่า 20 ปีติดเชื้อโควิด-19 โดยคิดเป็นสัดส่วนต่ำกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนผู้ติดเชื้อ และมีอัตราการเสียชีวิตจากเชื้อนี้เพียงไม่ถึงร้อยละ 0.2
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
เด็กๆ อาจได้รับผลเสียระยะยาวจากพ่อแม่ตกงานเพราะโควิด
นพ. กีบรีเยซุส กล่าวว่า ขณะที่จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยมากกว่านี้เกี่ยวกับผลกระทบระยะยาวของเชื้อไวรัสโคโรนาในหมู่เด็กๆ แต่การปิดโรงเรียนควรเป็นหนทางสุดท้ายเท่านั้นในพื้นที่มีมีการระบาดในอัตราสูง
“ควรรับประกันการให้การศึกษาอย่างต่อเนื่องผ่านการเรียนทางไกล ช่วงเวลาที่โรงเรียนถูกปิดควรถูกใช้ไปเพื่อหามาตรการป้องกันและรับมือกับการระบาดเมื่อโรงเรียนเปิดอีกครั้ง” ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก กล่าว
นายไมเคิล ไรอัน ผู้อำนวยการด้านสถานการณ์ฉุกเฉินของ WHO กล่าวว่า โดยเฉพาะทวีปยุโรปเผชิญการตัดสินใจที่ยากลำบากในเรื่องนี้ ขณะที่ฤดูหนาวกำลังย่างเข้ามาและโรงเรียนต่างๆ มากขึ้นเปิดทำการเรียนการสอนอีกครั้ง
“เราจะยึดมั่นในหลักการทั้งสองนั้นได้อย่างไร การปกป้องผู้ที่เปราะบางจากความตาย และการนำเด็กๆ ของเรากลับไปโรงเรียน เราอาจต้องยอมเสียสละบางอย่าง เนื่องจากเราต้องรักษาแรงกดดันต่อเชื้อไวรัสชนิดนี้ต่อไป” นายไรอัน กล่าว
ในทวีปอื่นๆ รวมทั้งในแอฟริกา กำลังเผชิญความท้าทายอย่างมากเช่นกัน
นางออเดรย์ อซูเลย์ ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การยูเนสโก (UNESCO) กล่าวว่า ครึ่งหนึ่งของประชากรนักเรียนของโลกยังไม่สามารถกลับไปเรียนที่โรงเรียนได้ และมีความเสี่ยงที่เด็กผู้หญิง 11 ล้านคนอาจไม่ได้กลับไปเรียนหนังสืออีกเลย
“ยิ่งโรงเรียนปิดนานเท่าไร ยิ่งจะเกิดความเสียหายตามมามากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะสำหรับเด็กๆ ที่มาจากครอบครัวที่ด้อยโอกาสกว่าคนอื่น ซึ่งนอกจากการเรียนแล้ว ยังต้องพึ่งพาโรงเรียนในเรื่องสุขภาพ ความปลอดภัย และบางครั้งในเรื่องโภชนาการด้วย” นางอซูเลย์ ผู้อำนวยการใหญ่ของยูเนสโก กล่าว
นางเฮนริแอตตา ฟอร์ ประธานกรรมการบริหาร ของยูนิเซฟ (UNICEF) หรือกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า ผลกระทบของการระบาดใหญ่ของเชื้อโควิด-19 ต่อคนอายุน้อยนั้นเป็นภาวะฉุกเฉิน
“เด็กๆ จำนวนมากมาย ที่การศึกษาของพวกเขาต้องหยุดชะงักลงหลายเดือน ซึ่งเหตุการณ์นี้นับว่าเป็นเหตุฉุกเฉินด้านการศึกษาของโลกทีเดียว” นางฟอร์ กล่าว
เธอกล่าวต่อไปว่า จากการสำรวจเมื่อเร็วๆ นี้ของยูนิเซฟ พบว่าประเทศต่างๆ 1 ใน 4 ยังไม่มีการกำหนดวันที่จะให้โรงเรียนกลับมาเปิดอีกครั้ง
“นั่นเป็นสาเหตุว่าทำไมเราจึงเรียกร้องให้รัฐบาลต่างๆ ให้ความสำคัญต่อการเปิดโรงเรียนเป็นอันดับแรก เมื่อข้อจำกัดต่างๆ ถูกยกเลิกแล้ว รัฐบาลต่างๆ ต้องให้เงินทุนแก่โรงเรียน เราขอให้พวกเขาพิจารณาทุกสิ่งที่เด็กๆ จำเป็นต้องได้รับ ได้แก่ การเรียนรู้ การปกป้อง เรื่องสุขภาพกาย สุขภาพจิต และทำให้มั่นใจได้ว่าประโยชน์ต่อเด็กๆ ต้องมาก่อนสิ่งอื่นใด” นางเฮนริแอตตา ฟอร์ ประธานกรรมการบริหาร ของยูนิเซฟ ย้ำ
ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
ภัยร้ายที่คาดไม่ถึงจากเจลล้างมือแอลกอฮอล์
เรื่องราวที่น่าสนใจจากเอสบีเอส ไทย
ออสเตรเลียปรับข้อสอบสัญชาติใหม่ในรอบกว่า 10 ปี