มองผ่านเลนส์ "กล้อง" ช่างภาพชาวไทยและเจ้าของ film lab ในเมลเบิร์น

Glong Piyathath Patiparnprasert 4 (2).JPG

คุณ กล้อง–ปิยทัศน์ ปฏิภาณประเสริฐ เจ้าของร้านห้องแล็บล้างฟิล์มที่ขึ้นชื่อในหมู่คนรักการถ่ายภาพด้วยฟิล์มในเมลเบิร์น Source: Supplied / Piyathath Patiparnprasert

เพราะรู้สึกว่าอาชีพการงานที่ไทยเริ่ม “ตัน” ช่างภาพสาย wedding และ fashion อย่าง “กล้อง–ปิยทัศน์ ปฏิภาณประเสริฐ” จึงตัดสินใจเดินทางมาเมลเบิร์นเพื่อเปิดหูเปิดตา เปิดประสบการณ์ และเปิดโลก จนนำไปสู่การเปิด film lab สองแห่งในเมลเบิร์น ซึ่งขึ้นชื่อลือชาในหมู่คนรักการถ่ายภาพฟิล์ม กล้องแชร์เรื่องราวและแนวคิดในการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาพัฒนากระบวนการแบบแอนะล็อกที่ทำให้ film lab ของเขาประสบความสำเร็จเฉกเช่นทุกวันนี้


แม้ทุกวันนี้การถ่ายภาพจะทำได้ง่ายดายเพียงไม่กี่คลิกบนสมาร์ตโฟน แต่ยังคงมีกลุ่มคนที่ชื่นชอบการถ่ายภาพด้วยฟิล์ม ไม่ว่าจะชอบด้วยเสน่ห์ของกระบวนการคิดก่อนคลิก หรือชอบด้วย mood & tone ของภาพถ่ายที่ได้

ฟังดูเป็นความสนใจเฉพาะกลุ่ม แต่เชื่อไหมว่าคนรักการถ่ายภาพฟิล์มในเมลเบิร์นนั้นมีจำนวนมากพอให้ธุรกิจ film lab หรือร้านล้างฟิล์ม มีลูกค้าแวะเวียนมาใช้บริการไม่ขาดสาย

“กล้อง–ปิยทัศน์ ปฏิภาณประเสริฐ” คือช่างภาพชาวไทยผู้เป็นเจ้าของ film lab 2 สาขา ชื่อ Halide Supply และ Halide Express ในเมลเบิร์น วันที่กล้องคุยกับเราเป็นช่วงหลังหยุดปีใหม่ได้ไม่นาน เขาบอกว่าทำงานไม่ได้พักมาเป็นสัปดาห์แล้ว เพราะลูกค้านำม้วนฟิล์มมาล้างที่แล็บเป็นจำนวนมาก

ทำไมชุมชนคนรักการถ่ายภาพด้วยฟิล์มในเมลเบิร์นยังคงคึกคักแม้ราคาฟิล์มจะพุ่งสูงหลังโควิด-19 และการบริหารร้านล้างฟิล์มให้ประสบความสำเร็จในยุคดิจิทัลเป็นอย่างไร วันนี้กล้องพร้อมแชร์เรื่องราวให้เราฟัง

Glong Piyathath Patiparnprasert 1 (2).JPG
Source: Supplied / Piyathath Patiparnprasert

เปิดโลก เปิดแล็บ

ย้อนกลับไปสมัยอยู่ไทย กล้องคือช่างภาพสาย wedding และ fashion ผู้ใช้กล้องฟิล์มเป็นหลักในการทำงาน เขาลงลึกกับกระบวนการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจนถึงขั้นล้างฟิล์มด้วยตัวเอง

ตอนปี 2016 กล้องคิดจะเปิดร้านล้างฟิล์ม จึงเตรียมซื้ออุปกรณ์สำหรับเปิดร้านเอาไว้ แต่ช่วงนั้นอีกใจหนึ่งก็คิดว่างานเริ่ม “ตัน” ทำแต่งานแนวเดิมๆ ไม่มีอะไรใหม่ๆ จึงเริ่มมองหาโอกาสในการไปเปิดหูเปิดตา “ผมเชื่อว่าถ้าอยากให้งานตัวเองหรือฝีมือตัวเองดีขึ้น เราต้องออกไปเจออะไรใหม่ๆ เราต้องเปิดรับอะไรที่มากกว่านี้” กล้องเล่า

เขาหาข้อมูลจนกระทั่งมาเจอวีซ่า Work and Holiday จึงตัดสินใจข้ามน้ำข้ามทะเลมาประเทศออสเตรเลีย โดยปักหมุดที่เมืองเมลเบิร์น “ผมเลือกเมลเบิร์นเพราะรู้สึกว่า ช่างภาพที่ผมตามดูงานส่วนใหญ่มักอยู่เมลเบิร์น ผมเลยสงสัยว่า ปัจจัยอะไรที่หล่อหลอมคนพวกนี้ให้โตขึ้นมาแล้วผลิตงานศิลปะแนวนี้ ก็เลยอยากรู้ว่าถ้าเรามาที่นี่ เราจะพัฒนางานตัวเองไปได้มากขึ้นไหม”

ช่วง 2 ปีแรกในเมลเบิร์ฯของกล้องไม่ต่างจากคนไทยส่วนใหญ่ นั่นคือใช้เวลาไปกับการหัดพูดภาษาอังกฤษ ทำงานที่ร้านไทย และได้งานถ่ายภาพบ้างจากเพื่อนๆ คนไทยที่รู้จักกัน ก่อนจะค่อยๆ พูดภาษาอังกฤษคล่องขึ้นและรู้จักกับคนมากขึ้น จนกระทั่งรับงานถ่ายภาพจากลูกค้าต่างชาติได้ในที่สุด
Glong Piyathath Patiparnprasert 6.jpg
ร้านห้องแล็บล้างฟิล์ม Halide Supply ของคุณกล้องที่เมลเบิร์น Source: Supplied / Piyathath Patiparnprasert
จุดเปลี่ยนมาถึงตอนที่กล้องทำงานที่ร้านขายกล้องฟิล์มแห่งหนึ่ง เขามองเห็นโอกาสที่จะเพิ่มบริการล้างฟิล์มเข้าไปด้วย “คนที่มาซื้อฟิล์มที่ร้านมีจำนวนค่อนข้างเยอะ และทุกคนก็จะถามว่า ทำไมไม่รับล้างฟิล์มล่ะ ผมจึงเริ่มคิดว่ามันมีช่องทาง”

กล้องเสนอไอเดียแล็บล้างฟิล์มกับเจ้าของร้าน จนได้เป็นตัวตั้งตัวตีหลักในการเซตอัปบริการล้างฟิล์ม โดยเขาส่งอุปกรณ์ที่เคยซื้อเตรียมไว้ที่ไทยมายังเมลเบิร์น ตลอดจนสอนงานให้กับเจ้าของร้านและเพื่อนร่วมงาน

แต่แล้วเหตุการณ์ก็พลิกผัน เมื่อร้านนั้นประสบปัญหาการเงินและต้องการให้พนักงานทุกคนในร้านออกทั้งหมด ซึ่งรวมถึงกล้องด้วย

“ผมนั่งคุยกับเพื่อนที่ทำงานด้วยกัน เพื่อนก็บอก ‘ทำไมเราไม่เปิดร้านกันเองล่ะ’ อาทิตย์นั้นเราจึงหา commercial building ไปเจอห้องหนึ่งอยู่ที่ Collingwood ราคาโอเค และที่สำคัญคือสีประตูของตึกเป็นสีเดียวกับเครื่องล้างฟิล์มที่มี ก็เลยโอเค มันต้องเป็นที่นี่แหละ เราเลยย้ายของ แล้วก็จดทะเบียนบริษัท หา accountant มาช่วยดู แล้วก็เริ่มเปิดร้านเลย ทำเรื่องเสร็จภายในประมาณ 2 อาทิตย์เองครับ”

ถ่ายแบบแอนะล็อก ล้างแบบดิจิทัล

แน่นอนว่าที่เมลเบิร์นย่อมมี film lab อื่นๆ ที่เปิดมานานกว่า แต่สิ่งที่ทำให้ Halide Supply และ Halide Express โดดเด่นจากเจ้าอื่น และทำให้ลูกค้าติดใจได้แม้เป็นร้านน้องใหม่คือ “ความเร็ว”

“ลูกค้าค่อนข้างช็อกที่เราจบงานได้เร็วขนาดนี้ ถ้าไปร้านอื่นต้องรอประมาณ 1-2 อาทิตย์ แต่ที่ Halide วันเดียวก็เสร็จแล้ว” กล้องบอก

เพราะปกติถ่ายภาพฟิล์มอยู่แล้ว กล้องจึงรู้ว่า pain point สำคัญของคนถ่ายภาพฟิล์มในเมลเบิร์นคือต้องรอล้างฟิล์มนาน เขาและเพื่อนจึงตกลงกันตั้งแต่แรกว่า Halide จะต้องแก้ปัญหานี้ให้กับลูกค้า

Glong Piyathath Patiparnprasert 5.JPG
ภายในร้านล้างฟิล์ม Space Cat Lab ของคุณกล้องที่เมืองไทย Source: Supplied / Piyathath Patiparnprasert
เคล็ดลับความเร็วของ Halide มีอยู่ 2 ข้อ หนึ่งคือการลงทุนกับเครื่องแสกนฟิล์ม และสองคือต้องยกเครื่องระบบแอนะล็อกใหม่หมด โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาเสริม

“แล็บอื่นๆ อาจมีเครื่องแสกนฟิล์ม 2-3 ตัว แต่ที่ Halide Supply และ Halide Express รวมกัน 2 สาขามีเครื่องแสกนฟิล์มประมาณ 20 ตัว

“ส่วนเรื่องระบบการทำงาน ผมโชคดีที่เพื่อนเป็น developer เขาก็จะเขียนระบบขึ้นมา automate การทำงานทุกอย่างในร้าน เราไม่มีการมานั่งเขียนกระดาษเปิด order form เหมือนสมัยก่อน เราใช้ระบบออนไลน์ มีบาร์โค้ด ซึ่งช่วยประหยัดแรงคนและเวลาไปได้เยอะมาก

“อีกทั้งเพื่อนผมยังวางระบบคอมพิวเตอร์สำหรับควบคุมอุปกรณ์ล้างฟิล์มขึ้นมาใหม่ คืออุปกรณ์พวกนี้มันผลิตในช่วงปี 2000 พวกฮาร์ดแวร์มันโบราณแล้ว ระบบปฏิบัติการที่ต้องใช้คือ Windows 2000 กับ Windows XP และโดยปกติเครื่องแสกนฟิล์ม 1 ตัวจะต้องใช้คอมพ์ 1 ตัวในการควบคุม แต่เพื่อนผมทำการ virtualize ระบบขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ตอนนี้ระบบที่ร้านรันด้วย Linux โดยจำลองเอาคอมพ์ Windows 2000 กับ Windows XP มายำรวมกันในเครื่องเดียว ดังนั้นเราจะสามารถควบคุมทุกอย่างได้ที่จุดเดียว มันกลายเป็นว่า คนไม่กี่คนก็ operate ทั้งร้านได้เลย เป็นวิธีที่ค่อนข้างใหม่ในวงการแล็บ ในขณะที่ร้านอื่นอาจต้องใช้คอมพ์ 10 กว่าตัว แต่ที่ Halide ใช้คอมพ์ 2-3 ตัวก็พอ และระบบแทบไม่มีการ fail เลย”

ด้วยจุดแข็งที่เล่ามา Halide Supply และ Halide Express จึงค่อยๆ สั่งสมฐานลูกค้าผ่าน word of mouth โดยไม่เคยต้องทำการตลาดเลยแม้แต่น้อย และลูกค้ายังเพิ่มจำนวนขึ้นทุกๆ ปีอีกด้วย
Glong Piyathath Patiparnprasert 2 (2).JPG
Source: Supplied / Piyathath Patiparnprasert

ถ่ายฟิล์มเป็นชีวิต ล้างฟิล์มเห็นชีวิต

กล้องให้ insights ว่า หลังวิกฤติโควิด-19 ต้นทุนในการผลิตฟิล์มดีดตัวสูงขึ้น เพราะวัตถุดิบในการผลิตหาได้ยากขึ้น ส่งผลให้ราคาฟิล์มพุ่งสูงตาม โดยในออสเตรเลีย ฟิล์มขึ้นราคาจากม้วนละ 6-7 ดอลลาร์เป็น 12 ดอลลาร์ ส่วนในไทย ฟิล์มขึ้นราคาจากม้วนละราวๆ 120 บาทเป็น 350 บาท

จริงๆ แล้วกล้องมี film lab อีกแห่งชื่อ Space Cat Film Lab อยู่ที่ไทยด้วย จึงสามารถเปรียบเทียบความแตกต่างของธุรกิจนี้ในทั้ง 2 ประเทศ โดยชุมชนคนถ่ายภาพฟิล์มในไทยนั้นดูจะใหญ่กว่า แต่ด้วยราคาฟิล์มที่พุ่งสูงขึ้น ความถี่ในการถ่ายรูปฟิล์มจึงน้อยลง ในทางกลับกัน ชุมชนคนถ่ายภาพฟิล์มในเมลเบิร์นนั้นดูจะเล็กกว่า แต่คนยังมีกำลังซื้อฟิล์ม ความถี่ในการถ่ายรูปฟิล์มจึงยังคงเดิมหรืออาจเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ ซึ่งกล้องตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นเพราะคนเมลเบิร์นชอบถ่ายภาพฟิล์มเป็นชีวิตประจำวัน

“การถ่ายภาพฟิล์มเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์คนที่นี่ เช่น มีลูกค้าผู้หญิงคนหนึ่ง เขามาล้างฟิล์มตั้งแต่ตอนเปิดร้านใหม่ๆ เลย เราเห็นเขาถ่ายฟิล์มในทุกๆ โอกาส ไปเที่ยวกับแฟน หรืออยู่บ้านก็ถ่ายรูปเล่น หรือกระทั่งตอนคลอดลูกเขาก็ยังถ่ายด้วยกล้องฟิล์มเลย คือคนที่นี่จะลงลึก เอากล้องฟิล์มมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน”

และจนถึงวันนี้ก็เป็นเวลากว่า 6 ปีแล้วที่ร้าน Halide ทั้ง 2 สาขาช่วยชาวเมลเบิร์นเปลี่ยนม้วนฟิล์มสีขาวดำเป็นความทรงจำสีสดสวยที่จับต้องได้ กล้องบอกว่า ทุกวันนี้เขาก็ยังคงสนุกกับการล้างฟิล์ม และชื่นใจเสมอที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตลูกค้าหลายๆ คน

“ผมว่าความสนุกของการทำร้านล้างฟิล์มคือการได้เห็นรูปแปลกๆ อยู่ตลอดเวลา และเราได้เห็นชีวิตคนหลายๆ คน เหมือนเราทำงาน behind the scene ของชีวิตพวกเขา ถามว่ารู้สึกผูกพันไหม ก็นิดนึง อย่างผู้หญิงที่เล่าให้ฟัง เราเห็นรูปเขาตั้งแต่เริ่มเดตกับแฟน ปีสองปีถัดมาเห็นรูปแต่งงาน ปีสองปีถัดมาเห็นว่ามีลูก แล้วอยู่ดีๆ วันหนึ่งเขาก็เอาลูกมา say hi และผมยังเจอลูกค้าน่ารักๆ เยอะ บางคนมาล้างฟิล์มกับเราตั้งแต่เขายังถ่ายรูปไม่ค่อยเป็น จนตอนนี้มีนิทรรศการกับ Centre for Contemporary Photography บางคนเปลี่ยนงานจาก tradie มาเป็นช่างภาพเต็มตัวก็มี”

Glong Piyathath Patiparnprasert 3 (2).JPG
Source: Supplied / Piyathath Patiparnprasert

โอกาสมาก็คว้า ล้มก็กลับมาตั้งหลัก

แม้ทุกวันนี้ที่แล็บจะมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการไม่ขาดสาย แต่กล้องก็ไม่หยุดอยู่เพียงแค่นั้น ล่าสุดเขาเพิ่งย้ายร้าน Halide Supply มายังอาคารใหม่บน Smith Street, Collingwood โดยร้านใหม่นั้นใหญ่กว่าเดิมและมีสเปซชั้นบนที่สามารถใช้งานได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นแกลเลอรี, pop-up market หรืออะไรก็ตามแต่จินตนาการจะพาไป เรียกว่ามีความเป็นไปได้ไม่รู้จบ (แว่วมาว่าจะมีนิทรรศการและการแข่งขันภาพถ่ายเร็วๆ นี้ โปรดติดตาม)

สำหรับกล้อง เขาเชื่อว่า เมื่อมีโอกาสมาถึงตัว ก็ขอให้คว้าเอาไว้และมีความกล้าที่จะลองทำ

“คนไทยเป็นคนเก่งครับ จากเท่าที่ทำงานด้วยไม่ว่าที่ไทยหรือที่นี่ คนไทยเก่ง ขยัน อดทน เอาจริงหลายคนเก่งกว่าผมด้วยซ้ำ แต่แค่บางทีอาจจะขาดโอกาสหรือขาดความกล้าในการลงมือทำ ดังนั้นถ้าคิดว่าอยากทำ อย่าไปกลัวครับ ใส่ให้สุดไปเลย เพราะผมมองว่าการมาอยู่เมลเบิร์นหรือต่างประเทศมันเป็นโอกาสที่เรามีมากกว่าคนที่อยู่ที่ไทยอยู่แล้ว ถ้าเรามัวมานั่งลังเลหรือไม่กล้าตัดสินใจ ผมว่ามันเสียโอกาส ถ้ามีไอเดียหรืออยากทำอะไร ทำไปเลยครับ อาจจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ผมว่าไม่สำคัญ เราได้อะไรกลับมาอยู่แล้ว เราล้มได้ เราก็แค่กลับมาตั้งหลัก แล้วทำใหม่ ผมว่ามันแค่นั้นเอง”


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ sbs.com.au/thai


บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ facebook.com/sbsthai


Share