หลายธุรกิจในออสเตรเลียกำลังมองหาทางออกที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
คุณแจ็ก (Jack) ทำงานที่ร้านเคเฟ่ เนสท์ (Nest Café) แถบชายฝั่งทางเหนือของซิดนีย์กล่าวว่า ทางร้านได้เปลี่ยนจากการใช้พลาสติกเป็นกระดาษแข็ง (Cardboard) แทน
“เราไม่ใช้กระดาษแข็ง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เราใช้วัสดุทำจากกระดาษแข็งจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นกล่องใส่อาหารเวลาจัดเลี้ยง กล่องใส่อาหารเทคอะเวย์”
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ชุมชนไทยใน NSW คิดอย่างไรกับการงดใช้ถุงพลาสติก
นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สำหรับร้านค้าที่ให้บริการเทคอะเวย์ (Takeaway) เป็นส่วนใหญ่ แต่เป็นมาตรการที่ได้รับเสียงตอบรับที่ดี คุณแจ็กกล่าว
“เราเห็นลูกค้าหลายรายที่ชอบให้เราใช้กระดาษแข็ง ความแตกต่างเพียงอย่างเดียวคือต้นทุนในการจัดซื้อวัสดุ กระดาษแข็งมีราคาแพงกว่ามาก แต่เป็นราคาเพียงเล็กน้อยที่จะจ่ายเพื่อช่วยเหลือให้ได้มากที่สุด”
ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนเป็นต้นไป หลอดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ช้อน ชาม และก้านสำลีพลาสติกจะถูกแบน ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามจะถูกปรับสูงถึง $55,000 ดอลล่าร์
ขณะที่รัฐบาลออสเตรเลียมุ่งมั่นที่จะลดการใช้พลาสติกภายในปี 2025 การกำหนดเวลาเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้นแตกต่างไป
คุณพอล ซาห์รา (Paul Zahra) ผู้บริหารของสมาคมผู้ค้าปลีกแห่งออสเตรเลีย (Australian Retailers Association) กล่าวว่า
“ปัญหาในขณะนี้คือรูปแบบการใช้มาตรการของรัฐบาลกลาง แต่ละรัฐและมณฑลมีรูปแบบของตนเอง เป็นปัญหาเดียวกันกับที่เราเจอเมื่อเกิดโควิด”
ขวดพลาสติกถูกทิ้งบนชายหาด Credit: Pexels/Catherine Sheila
ตัวอย่างเช่น เมื่อปีที่แล้ว รัฐควีนส์แลนด์ออกกฎหมายห้ามใช้หลอดและแก้วพลาสติก แต่จะห้ามใช้ก้านสำลีหรือไมโครบีดส์ (Microbeads) ในปีหน้า
รัฐวิกตอเรียจะออกกฎห้ามใช้พลาสติกในทำนองเดียวกัน ในเดือนกุมภาพันธ์ ปีหน้า
รัฐเวสเทิร์น ออสเตรเลียประกาศห้ามใช้ช้อนส้อมและหลอดพลาสติกในปีนี้ จนกว่าจะมีการประกาศเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติม
ตามการประเมินบางฉบับ ออสเตรเลียใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวมากกว่าประเทศอื่นๆ ในโลก เมื่อคำณวนตามจำนวนประชากร
โดย 65 เปอร์เซ็นต์ของพลาสติกกลายเป็นขยะแบบฝังกลบ และรั่วไหลลงมหาสมุทรเกือบ 145,000 ตัน
คุณเคท โนเบิล (Kate Noble) จากกองทุนเพื่อธรรมชาติโลก (World Wide Fund for Nature) กล่าวว่า
การหลีกเลี่ยงการใช้พลาสติกที่เราไม่ต้องการเป็นสิ่งสำคัญมาก ควรแน่ใจว่าพลาสติกที่เราใช้สามารถหมุนเวียน ให้เราสามารถเก็บไว้ใช้ได้นานที่สุดเท่าที่ทำได้คุณเคทกล่าว
คุณไมค์ สมิท (Mike Smith) ผู้ก่อตั้งซีโร โค (Zero Co) บริษัทผลิตภัณฑ์ดูแลและทำความสะอาดโดยไม่ใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวกล่าวว่า
“เราไม่สามารถรีไซเคิล (Recycle) ได้หมด ดังนั้นเราจึงใช้รูปแบบการนำกลับมาใช้อีกครั้ง (Re-use) นับเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างแท้จริง โดยที่เราไม่สร้างขยะ ไม่ต้องส่งไปฝังกลบ ไม่ต้องรีไซเคิล”
นอกจากนี้ยังมีการเคลื่อนไหวระดับนานาชาติเช่นกัน มีการร่างสนธิสัญญาสหประชาชาติ (United Nations) ใหม่ ซึ่งมีแนวร่วมกว่า 170 ประเทศ รวมถึงออสเตรเลีย สนับสนุนมติในการยุติมลพิษจากพลาสติกครั้งประวัติศาสตร์
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ภาคธุรกิจให้คำมั่นร่วมกำจัดขยะพลาสติกภายในปี 2025