สภาพแวดล้อมของออสเตรเลียเริ่มกลับมาฟื้นตัวหลังเผชิญทั้งอากาศร้อนจัดเป็นประวัติการณ์ คลื่นความร้อน ภัยแล้ง รวมทั้งวิกฤตไฟป่า ตลอดช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่นักวิทยาศาสตร์เตือน ความหลากหลายทางชีววิทยาของประเทศยังคงได้รับผลกระทบ
อุญหภูมิลดต่ำลงประกอบกับปริมาณน้ำฝนจากอิทธิพลปรากฏการณ์ลานีญา (La Niña) ช่วยให้สภาพแวดล้อมฟื้นตัวเข้มแข็งขึ้นจากรายงานสิ่งแวดล้อมของออสเตรเลีย (Australia's Environment Report) ประจำปี 2021
สภาพการณ์ปรับตัวดีขึ้นตลอดทุกรัฐและมณฑล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียและรัฐแทสเมเนีย
ปี 2021 คะแนนสภาพสิ่งแวดล้อมของออสเตรเลียในภาพรวมอยู่ที่ 6.9 จาก 10 คะแนน เพิ่มขึ้นเกินเท่าตัวจาก 3 คะแนนปี 2020 หลังจากประเทศเผชิญวิกฤตไฟป่าแบล็กซัมเมอร์ (Black Summer) ช่วงปี 2019-2020
“ปริมาณฝนตกสูงกว่าค่าเฉลี่ยกับอุณหภูมิลดลงในระดับที่ไม่พบเห็นมาแปดปีมีบทบาทตรงนี้” ศาสตราจารย์อัลเบิร์ต ฟาน ไดจ์ค (Albert van Dijk) นักอุทกวิทยา กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี (17 มี.ค.)
ปัจจัยอื่น อาทิ เกิดเหตุไฟป่าน้อยครั้ง ภาวะแห้งแล้งบรรเทาลง รวมถึงปริมาณฝนตก ช่วยฟื้นฟูความสมบูรณ์ของผืนดินแตกระแหง สภาพแวดล้อมเอื้อให้พืชพรรณเจริญงอกงามกว่าที่ผ่านมา
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ลานีญา-โลกร้อน ซ้ำเติมวิกฤตน้ำท่วม NSW-QLD อย่างไร
แม้สภาพการณ์สิ่งแวดล้อมฟื้นตัวดีขึ้น ความหลากหลายทางชีววิทยา หรือความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต ยังคงได้รับผลกระทบ
รัฐบาลออสเตรเลียประกาศให้สัตว์ในออสเตรเลีย 12 ชนิดพันธุ์เป็นสัตว์สูญพันธ์เมื่อปี 2021 พร้อมทั้งเพิ่มรายชื่ออีก 34 ชนิดพันธุ์ลงในรายการสัตว์ชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม (threatened species)
“สัตว์สองชนิดล่าสุดที่สูญพันธุ์คือค้างคาวขนาดเล็กและจิ้งเหลนชนิดหนึ่งที่พบเห็นครั้งสุดท้ายบนเกาะคริสตมาส (Christmas Island) เมื่อปี 2009-2010” คุณโชชานา แรปลีย์ (Shoshana Rapley) นักนิเวศวิทยา กล่าว
“สิ่งนี้เตือนสติว่า เราต้องจริงจังกับการอนุรักษ์สัตว์ชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามมากกว่านี้”
รายงานฉบับนี้ยังระบุว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของออสเตรเลียลดลงเกือบร้อยละ 2 สาเหตุหลักมาจากโรคระบาดโควิด-19
“ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของออสเตรเลียคิดเป็นร้อยละ 1.4 ของปริมาณรวมบนโลกเมื่อปี 2021เทียบกับร้อยละ 1.5 เมื่อปี 2020” ศาสตราจารย์ฟาน ไดจ์ค กล่าว
ปริมาณการปล่อยก๊าซต่อหัวของออสเตรเลียยังจัดอยู่ในระดับสูงสุดของโลก อันเป็นผลจากปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงต่อคน การใช้ถ่านหินที่ก่อมลภาวะ รวมถึงการปล่อยก๊าซชนิดอื่นนอกจากคาร์บอนไดออกไซด์นักวิจัยยังพบว่า ปี 2021 คือปีที่มีอุณหภูมิสูงสุดเป็นอันดับ 6 จากสถิติของออสเตรเลีย โดยพื้นที่ตอนในของทวีปรายงานอุณหภูมิช่วงเดือนกรกฎาคมสูงสุดเป็นประวัติการณ์
Australia is committing to net zero carbon emissions by 2050 as Glasgow prepares for the COP26 climate summit 2022. Source: AAP
“แต่มีจำนวนวันที่อุณหภูมิสูงเกิน 35 องศาเซลเซียสน้อยที่สุดนับตั้งแต่ปี 2011 โดยทั่วไปปีที่แล้วจึงเรียกได้ว่าร้อนน้อยกว่า” ศาสตราจารย์ฟาน ไดจ์ค กล่าว
ปี 2021 มีการค้นพบสัตว์ชนิดพันธุ์ใหม่หกชนิด เช่น แมงมุม กบ และหมึกยักษ์
คุณแรปลีย์กล่าวว่า การค้นพบสัตว์ชนิดดใหม่ไม่ได้หมายความว่าสถานการณ์ความหลากหลายทางชีวภาพกลับมาดีขึ้น เพราะชนิดพันธุ์เหล่านี้มีอยู่มาก่อนแล้ว
ศาสตราจารย์ฟาน ไดจ์ค เตือนว่า ผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น คลื่นความร้อน ภัยแล้ง และไฟป่า จะยังส่งผลให้สภาพแวดล้อมและระบบนิเวศวิทยาเสื่อมโทรมลงต่อไปอีกหลายทศวรรษจากนี้
“การดำเนินการอย่างเด็ดขาดเพื่อลดการปล่อยก๊าซปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก รวมถึงปรับปรุงการบริหารจัดการระบบนิเวศวิทยา ช่วยเลี่ยงไม่ให้ผลกระทบเหล่านี้ย่ำแย่ลงกว่าที่ควรเป็น” ศาสตราจารย์ฟาน ไดจ์ค กล่าว
“ทั้งสองอย่างนี้ไม่เกินความสามารถของเราแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องมีการดำเนินการที่จำเป็น”
รายงานสิ่งแวดล้อมประจำปีฉบับนี้จัดทำโดยคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University)
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด
หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย
รัฐบาลออสฯ ทุ่มงบ 50 ล้านเหรียญช่วยหมีโคอาล่าไม่ให้สูญพันธุ์