นายกออสฯ ประกาศแผนหมื่นล้านสร้างฐานทัพเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์

นายกรัฐมนตรีมอร์ริสันประกาศแผน 10,000 ล้านดอลลาร์สร้างฐานทัพเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์บนชายฝั่งตะวันออกของประเทศ เล็งบริสเบน นิวคาสเซิล พอร์ตเคมบลา เป็นตัวเลือกที่ตั้งฐาน

Morrison plans for nuclear-powered submarine base on Australia's east coast

Morrison plans for nuclear-powered submarine base on Australia's east coast Source: AAP

วานนี้ (7 มี.ค.) นายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสัน กล่าวถ้อยแถลงว่าด้วยนโยบายต่างประเทศกับสถาบันคลังสมองโลวี (Lowy Institute) พร้อมประกาศแผนสร้างฐานทัพเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์บนชายฝั่งตะวันออกของประเทศ 

ในถ้อยแถลงดังกล่าว นายมอร์ริสันหยิบยกประเด็นที่ตนมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อภูมิภาคนี้ที่เริ่มก่อตัวขึ้น ท่ามกลางความขัดแย้งทวีความรุนแรงในยุโรปตะวันออก รวมถึงท่าทีสถานการณ์ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

“อัตตาธิปไตยบทใหม่เพ่งเล็งท้าทายพลิกระเบียบโลกกลับสู่จุดเริ่มต้นเพื่อสนองตนเอง เราเผชิญหน้ากับความน่าสะพรึงกลัวของโลกแห่งธุรกรรมที่ปราศจากหลักการ ความรับผิดชอบ และความโปร่งใส” 

นายมอร์ริสันเตือนว่า ความขัดแย้งในยูเครนอาจเป็นเรื่องเหนือกว่าพรมแดนระหว่างประเทศ

“ตรงนี้มีบทเรียนสำหรับชาติเสรีประชาธิปไตยตะวันตกเมื่อเราต่างเผชิญหน้ากับการรุกรานและบีบบังคับอย่างโหดเหี้ยมด้วยอำนาจเด็ดขาด บทเรียนนั้นคือ เราต้องยืนหยัดไปด้วยกัน”

Prime Minister Scott Morrison during a virtual address of the Lowy Institute
Prime Minister Scott Morrison during a virtual address of the Lowy Institute Source: AAP


นอกจากนี้ นายมอร์ริสันยังใช้โอกาสนี้ประกาศแผนวางงบประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์ สร้างฐานทัพเรือดำน้ำบนชายฝั่งตะวันออกของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงหุ้นส่วนไตรภาคีด้านความมั่นคงระหว่างออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา (AUKUS) ที่ลงนามเมื่อปีที่แล้ว

กระทรวงกลาโหมพิจารณาคัดเลือกสถานที่ก่อสร้างจาก 19 แห่ง เหลือสามตัวเลือก ได้แก่ บริสเบน นิวคาสเซิล และพอร์ตเคมบลา (Port Kembla)

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (6 มี.ค.) รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของออสเตรเลียเผยว่า การตัดสินใจเลือกระหว่างเรือดำน้ำจากอเมริกาหรือจากอังกฤษอาจเกิดขึ้นในอีกสองสามเดือนข้างหน้า สื่อนัยว่าอาจเป็นช่วงระหว่างการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม นายมอร์ริสันปฏิเสธความเป็นไปได้ดังกล่าว

“ไม่ เราไม่คาดหวังว่าการตัดสินใจจะเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้ง เราไม่คิดเช่นนั้นและไม่มีใครควรคาดหวังเช่นกัน สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นในกรอบเวลานั้น”

นายมอร์ริสันยังกล่าวว่า ตนไม่ต้องการเปรียบเทียบความขัดแย้งในยุโรปตะวันออกกับความตึงเครียดในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกโดยตรง แต่กระนั้นก็ชี้ถึงท่าทีตอบสนองที่นิ่งเงียบของจีนต่อกรณีรัสเซียเข้ารุกรานประเทศเอกราชอื่น 

“ผมคอยฟังเสียงของทางรัฐบาลจีนที่จะประณามการกระทำของรัสเซีย และมีเพียงความเงียบเชียบอันน่าสะพรึง ตอนนี้ไม่มีประเทศใดจะสร้างผลกระทบต่อประเด็นรัสเซียใช้ความรุนแรงรุกรานยูเครนได้มากไปกว่าจีนเข้าร่วมกับนานาประเทศประณามการรุกรานของรัสเซีย”


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด

หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่  

Share
Published 8 March 2022 5:01pm
Updated 12 August 2022 2:55pm
By Krishani Dhanji, Pablo Vinales
Presented by Phantida Sakulratanacharoen

Share this with family and friends