พิธาร่วมเสวนามองสุขภาพประชาธิปไตยอาเซียนที่ม.เมลเบิร์น

Asialink

"สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยหลายๆ อย่างก็มีอยู่ในภูมิภาคของเรา" พิธา ลิ้มเจริญรัตน์กล่าว Credit: Aaron Francis

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์เข้าร่วมเสวนาในงาน Southeast Asia Oration จัดโดยมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น พูดคุยเกี่ยวกับอนาคตประชาธิปไตยในไทยและภูมิภาคอาเซียน


กด ▶ ฟังพอดคาสต์ด้านบน

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา ภาควิชาเอเชียศึกษา (Asia Institute) มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น (University of Melbourne) จัดงานเสวนาในหัวข้อเซาท์อีสต์ เอเชีย ออเรชัน (Southeast Asia Oration) โดยมีพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาพรรคก้าวไกลขึ้นกล่าวสุนทรพจน์และร่วมเสวนากับนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น

งานเสวนา Southeast Asia Oration เป็นส่วนหนึ่งของการเสวนาแบบซีรีส์ จัดขึ้นเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์และอนาคตในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มุ่งเสริมสร้างความร่วมมืออันดีกับพันธมิตรในภูมิภาค ขับเคลื่อนแนวทางแก้ไขที่มีประสิทธิผลโดยอิงจากหลักฐานเชิงประจักษ์ เพื่อรับมือกับความท้าทายที่เผชิญร่วมกัน
กด ▶️ ฟังสัมภาษณ์ฉบับเต็ม
Thai_Interview_Pita in AU_090724 image

พิธาร่วมเสวนามองสุขภาพประชาธิปไตยอาเซียนที่ม.เมลเบิร์น

SBS Thai

05/07/202413:01
Asialink
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ที่งานเสวนา Southeast Asia Oration จัดโดยมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย Credit: Aaron Francis
พิธากล่าวกับเอสบีเอสไทยว่า ภาควิชาเอเชียศึกษาที่มหาวิทยาลัยเมลเบิร์นสนใจภูมิภาคอาเซียนเป็นพิเศษ จึงได้รับเชิญมาพูดเกี่ยวกับอนาคตของประชาธิปไตยในภูมิภาคนี้ อีกทั้งยังเป็นคนแรกจากภูมิภาคอาเซียนที่ได้รับเชิญมาร่วมงานเสวนาแบบซีรีส์ดังกล่าว

การเสวนาเพื่อ "ความยั่งยืน" ของประชาธิปไตยในภูมิภาค

ในงานเสวนา มีการหารือเรื่องอนาคตประชาธิปไตยในอาเซียนและในประเทศไทย รวมถึงวิเคราะห์สถานการณ์ในอาเซียนที่อาจกระทบกับออสเตรเลีย

“พูดในสองมุมว่าเราคิดกับออสเตรเลียยังไง ได้พูดคุยว่าสิ่งที่เขาคิดกับอาเซียนหรือคิดกับประเทศไทยเป็นยังไง ดูว่าทั้งสองภูมิภาคสามารถร่วมมือกันในหลายๆ เรื่องได้หรือไม่อย่างไร มีอะไรที่จะต้องเปลี่ยนแปลงบ้างทั้งในประเทศไทยและประชาคมอาเซียน ในการเป็นพาร์ทเนอร์ที่ดีกับออสเตรเลีย โดยยึดผลประโยชน์ของสองชาติหรือสองภูมิภาคเข้าด้วยกัน”
Asialink
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์และนักวิชาการท่านอื่น ที่งานเสวนา Southeast Asia Oration จัดโดยมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย Credit: Aaron Francis
ผู้ร่วมงานเสวนามองว่าหลายสิ่งที่เกิดในประเทศไทย มีในประเทศอื่นในภูมิภาคเพื่อนบ้านเช่นกัน ทั้งเรื่องการทำการเมืองในลักษณะครอบครัว (Dynasty politics) ซึ่งพบว่าภูมิภาคเอเชียคะวันออกเฉียงใต้มีเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ในภูมิภาคอื่นของโลกลดน้อยลง การใช้กฎหมายเข้ามาเกี่ยวของกับการเมือง รัฐสภา และการจัดตั้งรัฐบาล รวมถึงการคอรัปชั่น
เรานั่งคิดร่วมกันว่าจะทำยังไงให้ระบอบประชาธิปไตยยังยืนอยู่ได้ และสรุปด้วยกันว่าการเลือกตั้งไม่ได้หมายความว่าเป็นประชาธิปไตย
พิธากล่าว

สุขภาพประชาธิปไตยในไทยยัง "แข็งแรง" แม้มีปัจจัยภายนอกรุมเร้า

หากเปรียบเทียบประชาธิปไตยเป็นสุขภาพ พิธามองว่าประชาธิปไตยของไทยยังแข็งแรง ประชาชนยังตื่นตัวและให้ความสนใจเรื่องการเมือง โดยยกประเด็นการที่ประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ ในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2566 รวมทั้งการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ซึ่งออสเตรเลียจัดเป็นประเทศที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งอันดับต้นๆ ของโลก

“ผมคิดว่าสุขภาพภายในแข็งแรง ประชาชนตื่นตัว สังเกตได้จากการมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง 76% สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย แสดงว่าประชาชนต้องการการเปลี่ยนแปลง และใส่ใจในสิทธิในการเลือกตั้ง แต่ว่าภายนอก ปัจจัยรุมเร้ามันก็เยอะ”

อ้างว่า 'มือที่มองไม่เห็น' เป็นปัจจัยภายนอกที่รุมเร้าสุขภาพประชาธิปไตยในประเทศไทย แนวทางแก้ไขเรื่องนี้สามารถทำได้ด้วยหลักสองประการคือความโปร่งใสและการเปลี่ยนแปลงทางด้านความคิด

“การเปลี่ยนแปลงที่พวกเราพยายามจะทำไม่ได้ทำให้พวกเขาเสียประโยชน์ อาจจะทำให้เขามีประโยชน์ด้วยซ้ำ”
Asialink
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์และนักวิชาการท่านอื่น ที่งานเสวนา Southeast Asia Oration จัดโดยมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย Credit: Aaron Francis
สำหรับสุขภาพของประชาธิปไตยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พิธามองว่ามีทั้งความคล้ายและความต่างกันตามประวัติศาสตร์และบริบทของแต่ละประเทศ แต่ล้วนเผชิญปัญหาและความท้าทายที่คล้ายกัน เช่น การเมืองในเมียนมาร์ ปัญหาทะเลจีนใต้ และผลกระทบจากการทำเขื่อนจากประเทศจีน ที่กระเทือนทั้งลาว เวียดนาม กัมพูชา

“ถ้าเราเห็นเป้าหมายร่วมกันและพยายามทำงานร่วมกัน ผมคิดว่าอำนาจต่อรองจะเยอะกว่าการที่แต่ละประเทศเป็นคนต่อรองกับประเทศมหาอำนาจ”
Asialink
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ที่งานเสวนา Southeast Asia Oration จัดโดยมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย Credit: Aaron Francis

บทบาทของออสเตรเลียในภูมิภาคอาเซียน และความร่วมมือออสเตรเลีย-ไทย

สำหรับบทบาทของออสเตรเลีย พิธามองว่าออสเตรเลียเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียนมานาน โดยเป็นพาร์ทเนอร์ที่ร่วมตั้งอาเซียนประเทศแรก คอยช่วยเหลือและส่งเสริมประชาธิปไตยในภูมิภาค เช่น ที่สิงคโปร์และอินโดนีเซีย

สำหรับประเทศไทย พิธามองว่าออสเตรเลียสามารถช่วยเหลือประเทศไทยได้ด้วยการเป็นอำนาจอ่อน ผ่านกระบวนการด้านการศึกษาและการส่งเสริมภาคประชาสังคม เช่นเรื่องสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม เชื่อว่าหากกระชับความสัมพันธ์กันได้ดี จะสามารถทำให้ออสเตรเลียเห็นถึงศักยภาพและโอกาส และอาจทำให้ออสเตรเลียสนใจไทยเหมือนประเทศอื่นๆ
Asialink
ศาสตราจารย์ไมเคิล เวสลีย์ รองคอธิการบดี ภาควิชาเอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น Credit: Aaron Francis
ศาสตราจารย์ไมเคิล เวสลีย์ รองอธิการบดีฝ่ายการมีส่วนร่วมด้านวัฒนธรรมและนานาชาติกล่าวว่า

"เราลงทุนในการสร้างความร่วมมือทางความรู้กับสถาบันวิจัยและนวัตกรรมใหม่ ในขณะเดียวกันเรายังกระชับความสัมพันธ์ทางวิชาการที่มีมายาวนานด้วย ซีรีส์การสนทนาภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Asia and Pacific Outlook) ช่วยให้เราสามารถริเริ่มและเสริมสร้างการประชุมหารือภายในภูมิภาคที่ซับซ้อนและมีพลวัต นับเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธขับเคลื่อนเมลเบิร์นในระดับโลก (Advance Melbourne Globally)"

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share