คนออสเตรเลียหลายล้านคนยังมีระดับการอ่านเขียนไม่สูงนัก คุณวาเนสสา ไอเอลส์ (Vanessa Iles) ผู้จัดการสายด่วนการอ่านเขียน กล่าวว่าหลายคนติดต่อสายด่วนในช่วงวิกฤตโควิดเป็นจำนวนมากอย่างน่าเป็นห่วง พวกเขาไม่เข้าใจข้อมูลที่สำคัญเรื่องสุขภาพและไม่ทราบว่าจะหาความช่วยเหลือจากที่ไหน
“เรารับสายเพิ่มขึ้นกว่า 46 เปอร์เซ็นต์ในครึ่งหลังของปี และคนเหล่านี้ต้องการหาข้อมูลเกี่ยวกับหลักสูตรการอ่านเขียน แต่เราพบว่ามีหลายคนถามเราเกี่ยวกับข้อมูลด้านสุขภาพ พวกเขาอาจจะไม่สามารถตามข้อมูลและคำแนะนำต่าง ๆ ได้ทัน หรือพวกเขาอาจมีปัญหาเรื่องการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลต่าง ๆ การจองผ่านคิวอาร์โค้ด การดาวน์โหลดคิวอาร์โค้ดหรือเครื่องอ่านคิวอาร์โค้ด หรืออุปกรณ์อื่น ๆ"
เธอกล่าวว่าข้อมูลด้านสุขภาพส่วนมากเขียนขึ้นด้วยภาษาในระดับสูง และคนออสเตรเลียกว่า 44 เปอร์เซ็นต์พบว่ายากเกินความเข้าใจ
ทุกคนควรที่จะสามารถอ่านข้อมูลได้เพียงพอที่จะตัดสินใจเรื่องการฉีดวัคซีน พวกเขาต้องมีความเข้าใจด้านดิจิทัลในการจองฉีดวัคซีน และยังมีการใช้คิวอาร์โค้ดที่คลินิกฉีดวัคซีน เพื่อที่จะตอบคำถามและยินยอมรับวัคซีน และยังมีข้อมูลอีกหลายหน้าเกี่ยวกับอาการข้างเคียงหลังได้รับวัคซีน รวมถึงเรื่องของมาตรการจำกัดต่าง ๆ ที่กำหนด มันเป็นข้อมูลที่ค่อนข้างเยอะ
รองศาสตราจารย์ฮอลลี่ ซีล (Holly Seale) นักวิทยาศาสตร์สังคมวิทยาด้านโรคติดเชื้อที่มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ (University of New South Wales) กล่าวว่า มีความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพและการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสโคโรนา ในเว็บไซต์ของรัฐบาลมลรัฐและรัฐบาลสหพันธรัฐ ตั้งแต่ต้นปี 2020
“การสามารถอ่านข้อมูลได้เป็นสิ่งหนึ่ง การนำพาประชาชนผ่านปัญหาการระบาดที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องก็เป็นอีกสิ่งหนึ่ง ความสามารถที่จะหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคุณ หาข้อมูลในภาษาของคุณ สำหรับบางกลุ่มที่ต้องการ เจอข้อมูลไม่สอดคล้องกัน โดยเฉพาะข้อมูลในภาษาอื่น ข้อมูลที่ต้องแปล คุณอาจเจอแหล่งข้อมูลที่แปลในภาษาของคุณ และอาจมีข้อมูลอื่นที่ไม่ได้ถูกแปล”
ข้อมูลเรื่องข้อจำกัดต่าง ๆ ของแต่ละรัฐและมณฑลรัฐยิ่งซับซ้อน รองศาสตราจารย์ซีลกล่าวว่า การไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลอาจทำให้หลายคนอับอายหรือหงุดหงิด และอาจทำให้พวกเขาสูญเสียความไว้วางใจในผู้ให้บริการหรือรัฐบาล
หากข้อมูลถูกแปล และคำศัพท์ไม่สอดคล้องกัน หรือการแปลไม่ถูกต้องหรือความหมายไม่ถูกต้อง พวกเขาก็จะอ่านแล้วรู้สึกว่า ‘นี่หมายความว่าอย่างไร? และฉันจะอ่านข้อมูลได้อย่างไร?’ พวกเขาก็จะไม่อ่านมันจนจบ และตอนนั้นเราก็จะพลาดโอกาสที่จะมั่นใจได้ว่าข้อมูลของเราออกสู่สาธารณชน
เข็มวัคซีนและวัคซีนที่พยาบาลฉีดให้คนที่ต้องการรับวัคซีน Source: iStockphoto
คุณวาเนสสา ไอเอลส์กล่าวว่า เป็นสิ่งที่หลายคนที่โทรสายด่วนการอ่านเขียนประสบ
“มีผู้ชายคนหนึ่งโทรหาเราเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เขาบอกว่าเขาได้รับวัคซีนเข็มแรก และทุกอย่างผ่านไปด้วยดี แต่เมื่อเขาต้องไปฉีดวัคซีนเข็มที่สอง และเขามาถึงคลินิก เขาต้องสแกนคิวอาร์โค้ด และเมื่อเขาทำ มันมีหลายคำถามที่ซับซ้อนที่ต้องตอบ และเขาต้องยืนเข้าคิวที่มีคนอื่นอีกหลายคน เขาอายมาก เพราะเขาไม่สามารถอ่านข้อมูลเหล่านั้นได้ เขาไม่อยากตอบคำถามที่เขาไม่แน่ใจ เขาเป็นกังวลว่าอาจทำผิดหากเขาเข้าใจคำถามผิด ดังนั้นเขาจึงเดินออกจากคลินิก และไม่ได้รับวัคซีนเข็มที่สอง นี่เป็นคนที่อยากฉีดวัคซีน สนใจและประสงค์ที่จะฉีดวัคซีน แต่เขาไม่สามารถทำได้”
คุณวาเนสสา ไอเอลส์กล่าวว่า ในขณะที่ข้อมูลถูกสื่อสารในทางที่ซับซ้อน ปัญหาคือมันถูกเขียนโดยผู้ที่มีระดับการอ่านเขียนที่สูง
ข้อมูลควรถูกตรวจสอบโดยผู้ที่มีระดับการอ่านเขียนที่ไม่สูงนัก เพื่อให้มั่นใจว่าพวกเขาเข้าใจ คำแถลงการณ์จากกระทรวงสาธารณสุขของรัฐบาลสหพันธรัฐกล่าวว่า ทุกชุมชนและบุคคลสำคัญมีส่วนร่วมกับแถลงการณ์ตลอดช่วงการระบาด เพื่อให้แน่ใจว่าการสื่อสารเรื่องการฉีดวัคซีนนั้นเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
“กิจกรรมการสื่อสารเฉพาะกลุ่ม และกลยุทธในการให้ทุกชนมีส่วนร่วม ถูกพัฒนาด้วยความร่วมมือกับตัวแทนผู้เชี่ยวชาญของกลุ่มพหุวัฒนธรรม เพื่อเข้าถึงกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรม การสื่อสารด้วยการให้ข้อมูลในภาษาที่หลากหลายสำหรับชุมชนพหุวัฒนธรรม เพื่อพัฒนาเป็น วิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ และวิดิโอ ที่มีข้อมูลเรื่องการฉีดวัคซีนโควิด-19 และวิธีที่จะรับข้อมูล ข้อมูลแนวทางสำหรับผู้นำชุมชนเพื่อจัดทำวิดิโอ ข้อมูลในแต่ละภาษา โพสต์สื่อโซเชียล โปสเตอร์ และบทความต่าง ๆ"
รองศาสตราจารย์ฮอลลี่ ซีล กล่าวว่าในขณะที่การสื่อสารของรัฐบาลปรับปรุงดีขึ้นกว่าตอนเริ่มระบาด แต่ยังมีสิ่งที่ควรปรับปรุงเพิ่มขึ้น
ฉันคิดว่ายังมีโอกาสที่จะสร้างเครือข่ายหรือกลยุทธ์อื่นๆ ที่เราสามารถลดความซ้ำซ้อนที่เราพบในบางข้อมูลการให้ข้อมูลที่ซ้ำกัน หากเราทำงานร่วมกันในทุกรัฐและมลรัฐ อาจมีวิธีที่ทำได้ดีกว่านี้ เช่น การบริการแปลและล่าม และการพัฒนาสื่อโซเชียล อะไรทำนองนั้น
คุณฮอลลี่กล่าวว่า โควิด-19 จะตามเราไปในปี 2022 และเรื่องของสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง (climate change) เป็นภัยคุกคามร้ายแรงกว่าที่เคย เวลานี้เป็นเวลาที่ควรทบทวนว่าจะปรับปรุงวิธีการสื่อสารอย่างไร
“เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าข้อมูลที่เราใส่ผ่านเว็บไซต์ สื่อโซเชียลมีเดีย สื่อใหญ่ต่างๆ เข้าถึงทุกชุมชนที่เราต้องการได้จริง? และมีหลายคนที่เชื่อมโยงวิธีที่เราสื่อสารเรื่องการระบาดกับวิธีสื่อสารกับชุมชนในช่วงไฟป่าและเหตุการณ์ภัยธรรมชาติฉุกเฉินอื่นๆ ฉันคิดว่ามีบทเรียนที่สำคัญที่เราควรเรียนรู้จากสิ่งนี้ และทำให้มั่นใจว่ารวมพวกเขาในแผนการระบาดในอนาคต"
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
READ MORE
หลายคนไม่เข้าใจข้อมูลโควิด-19