กลุ่มผู้ย้ายถิ่นฐานและกลุ่มศาสนาต่าง ๆ ได้มารวมตัวกันในรัฐวิกตอเรีย เพื่อแสดงการสนับสนุนต่อแคมเปญ ‘Yes’ ในการลงประชามติเรื่องคณะที่ปรึกษาเสียงชาวพื้นเมืองต่อรัฐสภา หรือ Indigenous Voice to parliament ที่กำลังจะมีขึ้น
แม้ว่าจากการสำรวจความเห็นของประชาชนเมื่อเร็ว ๆ นี้ จะมีแนวโน้มว่ามีผู้ที่ไม่เห็นด้วยมากขึ้นต่อข้อเสนอในการลงประชามติ แต่ผู้นำคนสำคัญของแคมเปญ ‘No’ กล่าวว่าพวกเขาไม่สามารถชะล่าใจได้
คุณ เอสเม แบมเบล็ตต์ จากกลุ่มชาวพื้นเมือง เฟิร์สต์ พีเพิลส์ แอสเซมบลี ออฟ วิกตอเรีย (First People's Assembly of Victoria) ได้รณรงค์ให้ผู้คนสนับสนุนการมีคณะที่ปรึกษาเสียงชาวพื้นเมืองต่อรัฐสภา หรือ Indigenous Voice to parliament มาอย่างต่อเนื่อง แต่เธอกล่าวว่า ความพยายามนี้นั้นต้องร่วมกันทำเป็นกลุ่มก้อน
“เราต้องการพันธมิตรเพื่อให้มีเสียงสนับสนุนเพียงพอเรื่องคณะที่ปรึกษาเสียงชาวพื้นเมือง เราต้องการพันธมิตรที่จะลงคะแนนเสียง ‘Yes’ เพราะเราทำคนเดียวไม่ได้ เราไม่ได้ทำสำเร็จโดยลำพังในการลงประชามติปี 1967 ร้อยละ 90.77 ของคนที่โหวตไม่ใช่ชาวอะบอริจิน และพวกเขาโหวตว่า ‘Yes’" คุณแบมเบล็ตต์ จากกลุ่มตัวแทนชาวพื้นเมืองในรัฐวิกตอเรีย กล่าว
ขณะนี้มีการแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในเรื่องคณะที่ปรึกษาเสียงชาวพื้นเมืองต่อรัฐสภา หรือ Indigenous Voice to parliament จากกลุ่มหลากวัฒนธรรมและความเชื่อในรัฐวิกตอเรียกว่า 80 กลุ่ม
คุณอัซมินา ฮุซเซน ประธานของพิพิธภัณฑ์อิสลามแห่งออสเตรเลีย กล่าวเรื่องนี้ว่า
"โดยหลักแล้วมันคือการใช้ชีวิตจากประสบการณ์ของเราเอง หากเราไม่ให้โอกาสหรือไม่ให้เวทีเพื่อฟังเสียงจากคนกลุ่มแรกของชาติ ฉันก็ไม่รู้ว่าเราจะพัฒนาความเท่าเทียมและโอกาสสำหรับทุกคนได้อย่างไร" คุณฮุซเซน กล่าว
คุณเฟรด อะเลล ประธานของเทศกาลดนตรีและวัฒนธรรมแอฟริกัน กล่าวว่าประสบการณ์ของผู้ย้ายถิ่นฐานมีความคล้ายคลึงที่สำคัญกับประสบการณ์ของชนพื้นเมืองในออสเตรเลีย
หากเราไม่ให้โอกาสหรือไม่ให้เวทีเพื่อฟังเสียงจากคนกลุ่มแรกของชาติ ฉันก็ไม่รู้ว่าเราจะพัฒนาความเท่าเทียมและโอกาสสำหรับทุกคนได้อย่างไรอัซมินา ฮุซเซน ประธานพิพิธภัณฑ์อิสลามแห่งออสเตรเลีย
"เราเข้าใจดีถึงอุปสรรคและความท้าทายเหล่านั้นที่ชุมชนชาวอะบอริจินในรัฐวิกตอเรียและในออสเตรเลียได้เผชิญหรือกำลังประสบอยู่ อุปสรรคต่างๆ เช่น การที่เราแตกต่าง การที่ไม่มีโอกาสมากเท่าคนอื่นๆ อุปสรรคเรื่องการได้รับการยอมรับและได้รับการต้อนรับ และความรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคม โดยส่วนตัวแล้วออสเตรเลียปฏิบัติต่อผมอย่างดี... แต่ผมรู้ว่าผู้ย้ายถิ่นจำนวนมากไม่ได้ประสบอย่างเดียวกันและพบความท้าทายมากกว่า ผมจึงคิดว่ายังคงมีสิ่งที่เราต้องทำ" คุณอะเลล กล่าว
เกือบร้อยละ 60 ของผู้ที่พูดภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษที่บ้านนั้นตั้งใจที่จะโหวต ‘Yes’ หรือเห็นด้วยกับเรื่องคณะที่ปรึกษาเสียงชาวพื้นเมืองในการลงประชามติที่กำลังจะมีขึ้น จากการสำรวจความเห็นประชาชนล่าสุด
แต่แบบสำรวจอื่น ๆ บ่งชี้ว่าแนวโน้มการโหวต ‘Yes’ นั้นลดลง โดยนักรณรงค์ให้โหวต ‘No’ อย่างจาซินตา ไพรซ์ วุฒิสมาชิกนอร์เทิร์นเทร์ริทอรี ยังคงเรียกร้องให้ผู้คนอย่าโหวต ‘Yes’ ในการให้สัมภาษณ์กับ 2GB สถานีวิทยุในซิดนีย์
"ฉันคิดว่าชาวออสเตรเลียจะหันกลับมาและพูดว่า ไม่ เราไม่ต้องการให้ใครมาสั่ง เราไม่ต้องการให้ใครมาสั่งว่าเราควรทำอย่างไรในฐานะคนในชาติ และฉันคิดว่าประชาชนจะแสดงให้เห็นแนวคิดนี้เมื่อพวกเขาไปลงคะแนนเสียงในการลงประชามติ" วุฒิสมาชิกไพรซ์ กล่าว
ปีเตอร์ ดัตตัน ผู้นำพรรคฝ่ายค้านยังคงยืนยันการโหวต ‘No’ โดยเขาบอกกับรายการทูเดย์ของสถานีช่องเก้าว่า แอนโทนี อัลบานีซี และรัฐบาลของเขาไม่ได้อธิบายรายละเอียดเรื่องคณะที่ปรึกษาเสียงชาวพื้นเมืองต่อรัฐสภา หรือ Indigenous Voice to parliament อย่างเพียงพอ
"ผมคิดว่าชาวออสเตรเลียหลายล้านคนเพียงต้องการได้รับการปฏิบัติด้วยเหมือนผู้ใหญ่ พวกเขาต้องการข้อมูลจากนายกรัฐมนตรีของพวกเขา และนายกรัฐมนตรีได้ตัดสินใจโดยเจตนาที่จะไม่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับคณะที่ปรึกษาเสียงชาวพื้นเมืองและไม่ยอมตอบคำถามที่ถูกถามอย่างเหมาะสม" ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน ปีเตอร์ ดัตตัน กล่าว
พวกเขาต้องการข้อมูลจากนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีได้ตัดสินใจโดยเจตนาที่จะไม่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับคณะที่ปรึกษาเสียงชาวพื้นเมืองและไม่ยอมตอบคำถามที่ถูกถามอย่างเหมาะสมปีเตอร์ ดัตตัน ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน
แต่กลุ่มผู้ย้ายถิ่นฐานที่ผลักดันการรณรงค์ให้โหวต ‘Yes’ ได้พันธมิตรจากบางกลุ่มการเมือง เช่นสมาชิกรัฐสภาของรัฐวิกตอเรียอย่างกาเบรียล วิลเลียมส์ รัฐมนตรีด้านสนธิสัญญาและชนกลุ่มแรก
"นี่คือของขวัญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเราต่อประเทศนี้ แต่ไม่มีทางใดอีกแล้วที่จะส่งสารเกี่ยวกับเรื่องนี้มากไปกว่าการโหวต ‘Yes’ สำหรับเรื่องเสียงชาวพื้นเมือง ด้วยการแสดงให้เห็นถึงความเคารพต่อชาวออสเตรเลียผู้ก่อตั้ง ซึ่งเป็นชาวออสเตรเลียกลุ่มแรก จึงเป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องทำเพื่อให้ประเทศก้าวไปข้างหน้าต่อไปได้" กาเบรียล วิลเลียมส์ รัฐมนตรีวิกตอเรียด้านสนธิสัญญาและชนกลุ่มแรก กล่าว
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
พูดคุยประสบการณ์เนื่องในสัปดาห์ความปรองดองแห่งชาติ