Explainer

ชาวออสเตรเลียหลายล้านคนจะลงประชามติเป็นครั้งแรกปีนี้ มันคืออะไร?

ชาวออสเตรเลียจะเข้าคูหาลงประชามติที่จะมีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปี ประชามติคืออะไร และคะแนนเสียงของคุณสำคัญอย่างไร

Graphic artwork showing a hand putting a vote in a ballot box, the front page of the Constitution of Australia, Parliament House in Canberra and the Australian flag.

เร็วๆ นี้ชาวออสเตรเลียจะต้องไปลงประชามติเรื่องคณะที่ปรึกษาเสียงชาวพื้นเมืองต่อรัฐสภา (Indigenous Voice to Parliament)

ประเด็นสำคัญ
  • ชาวออสเตรเลียจะเข้าคูหาเพื่อลงประชามติเป็นครั้งแรกในรอบกว่าสองทศวรรษ
  • การทำประชามติเป็นหนทางเดียวที่รัฐบาลจะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้
  • ต่อไปนี้คือข้อมูลว่าการลงประชามติคืออะไร มีวิธีการอย่างไร และเหตุใดคะแนนเสียงของคุณจึงสำคัญ
ชาวออสเตรเลียหลายล้านคนจะเข้าคูหาเพื่อลงประชามติ ซึ่งจะตัดสินว่าคณะที่ปรึกษาเสียงชาวพื้นเมืองต่อรัฐสภา หรือที่เรียกว่า Indigenous Voice to Parliament จะได้รับการระบุลงในรัฐธรรมนูญของประเทศหรือไม่

เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่เทศกาลการ์มา (Garma) ประจำปี ในนอร์เทิร์น เทร์ริทอรี นายกรัฐมนตรีแอนโทนี อัลบานีซี ได้เปิดเผยถึงคำถามที่ "ไม่ซับซ้อนเลย" ที่เขาตั้งใจจะถามชาวออสเตรเลียในการลงประชาติ

คำถามดังกล่าวยังไม่มีการระบุอย่างเป็นทางการ แต่ชาวออสเตรเลียอาจถูกถามว่า: "คุณสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อจัดตั้ง (คณะที่ปรึกษา) เสียงของชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรส (Aboriginal and Torres Strait Islander Voice) หรือไม่?"
นายอัลบานีซีกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า การลงประชามติครั้งนี้จะจัดขึ้นช่วงใดช่วงหนึ่งระหว่างเดือนตุลาคมถึงธันวาคมปีนี้

หากมีการลงประชามติเกิดขึ้น นี่จะเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 23 ปีที่ชาวออสเตรเลียออกเสียงลงประชามติ โดยสำหรับหลายๆ คนแล้ว นี่จะเป็นการลงประชามติครั้งแรกของพวกเขา

การลงประชามติคืออะไร มีวิธีการทำงานอย่างไร และเหตุใดคะแนนเสียงของคุณจึงมีความสำคัญ

ประชามติคืออะไร?

การลงประชามติ (referendum) เป็นการถามผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งชาวออสเตรเลีย ซึ่งมีอำนาจเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญได้ โดยรัฐธรรมนูญก็คือหลักเกณฑ์ที่กำหนดวิธีการปกครองประเทศ

ศ.แอนน์ ทูมีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญเป็น "เอกสารที่มีอำนาจมากที่สุดของประเทศ"

การทำประชามติเป็นหนทางเดียวที่รัฐบาลจะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้

“อำนาจขั้นสูงสุดในการควบคุม (รัฐธรรมนูญ) เป็นของประชาชน เพราะคุณไม่สามารถเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญได้ หรือแม้แต่เปลี่ยนคำพูดในรัฐธรรมนูญก็ทำไม่ได้ นอกเสียจากว่าคุณจะได้รับความเห็นชอบจากประชาชนออสเตรเลียผ่านการลงประชามติ” ศ.แอนน์ ทูมีย์ กล่าว

"หมายความว่าทุกวันนี้ชาวออสเตรเลียมีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ"
A man and a woman cast votes in a polling station.
Former Australian diplomat Philip Flood and his wife, Carole, cast their votes in Australia's last referendum in 1999. Source: Getty / PA / Michael Stephens

การลงประชามติมีกระบวนการอย่างไร?

ก่อนที่จะจัดให้มีการลงประชามติ จะต้องมีการผ่านร่างกฎหมายในสภาสูงและสภาล่างของรัฐสภาเสียก่อน เพื่ออนุมัติให้มีการลงคะแนนเสียงเกิดขึ้น

หากร่างกฎหมายดังกล่าวได้รับการอนุมัติ รัฐบาลจะกำหนดวันที่ชาวออสเตรเลียจะเข้าคูหาลงคะแนนเสียง ภายในระยะเวลา 2-6 เดือน หลังร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านการอนุมัติ

เช่นเดียวกับการเลือกตั้ง การลงประชามติดำเนินการโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งออสเตรเลีย (Australian Electoral Commission) โดยผู้ลงคะแนนเสียงจะถูกถามคำถามให้เลือกตอบว่าเห็นด้วย (Yes) หรือไม่เห็นด้วย (No) ซึ่งพวกเขาจะกรอกลงในบัตรเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้ง

การลงประชามติจะประสบความสำเร็จได้นั้น จำเป็นต้องได้รับคะแนนเสียงที่เรียกกันว่า "เสียงข้างมากสองขั้นตอน" (double majority)

“คุณจำเป็นต้องมีเสียงสนับสนุนจากคะแนนเสียงข้างมากของประเทศ บวกกับคะแนนเสียงส่วนใหญ่ในรัฐและมณฑลต่างๆ เป็นส่วนใหญ่” ดร.พอล คิลเดีย ผู้อำนวยการโครงการประชามติและการเลือกตั้งของ Gilbert + Tobin Center of Public Law กล่าว

ดังนั้น หากผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่ในระดับประเทศลงคะแนนเสียงว่า เห็นด้วย (Yes) แต่ไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ของรัฐและมณฑลต่างๆ การลงประชามติดังกล่าวก็ล้มเหลว ในทำนองเดียวกัน หากรัฐส่วนใหญ่ลงคะแนนเสียงว่า เห็นด้วย (Yes) แต่ผู้ลงคะแนนเสียงส่วนใหญ่ในระดับประเทศลงคะแนนเสียงว่า ไม่เห็นด้วย (No) การลงประชามติก็ล้มเหลวเช่นกัน

เราเพิ่งมีการลงมติสาธารณะเรื่องการแต่งงานของคนเพศเดียวกันเมื่อเร็ว ๆ นี้ไม่ใช่หรือ?

ใช่ ออสเตรเลียได้จัดให้มีการลงประชาพิจารณ์ (plebiscite) ระดับชาติในปี 2017 เกี่ยวกับว่าคนเพศเดียวกันสามารถแต่งงานกันได้หรือไม่ แต่ประชาพิจารณ์ไม่เหมือนกับประชามติ (referendum)

ประชาพิจารณ์ (plebiscite) ตั้งคำถามเชิงนโยบายให้ชาวออสเตรเลียตอบ แต่ไม่ได้เป็นประเด็นที่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงในรัฐธรรมนูญ
A man holds a sign that says 'YES equality', while others hug and gather around.
ผู้สนับสนุนการทำประชาพิจารณ์เรื่องการแต่งงานของคนเพศเดียวกันในปี 2017 รณรงค์อย่างหนักให้ประชาชนเห็นด้วยก่อนการลงประชาพิจารณ์ Source: AAP / Danny Casey
ผลของการลงประชาพิจารณ์ก็ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่เป็นแนวทางด้านนโยบายที่รัฐบาลควรพิจารณาจะทำ เมื่อรัฐบาลตัดสินใจจะออกกฎหมายบางฉบับ

การลงประชาพิจารณ์ (plebiscite) เกิดขึ้นบ่อยครั้งกว่าการลงประชามติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับรัฐ ซึ่งชาวออสเตรเลียเคยถูกถามเกี่ยวกับมุมมองของพวกเขาเรื่องเวลาออมแสง (daylight savings) และกฎหมายเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

การลงประชามติ (referendum) ครั้งล่าสุดก่อนหน้านี้ของออสเตรเลียจัดขึ้นในปี 1999 เมื่อผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งถูกถามว่าออสเตรเลียควรเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐหรือไม่ และควรแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อแทรกคำนำ (preamble) หรือไม่ ในระดับประเทศนั้นร้อยละ 54.87 ลงคะแนนเสียงไม่เห็นด้วย (No) สำหรับการเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐ และร้อยละ 60.66 ลงคะแนนเสียงไม่เห็นด้วย (No) สำหรับคำถามเรื่องคำนำในรัฐธรรมนูญ

การลงประชามติครั้งอื่นๆ เป็นอย่างไรในอดีต?

การลงประชามติที่ผ่านมาของออสเตรเลียไม่ประสบความสำเร็จมากนัก

นับตั้งแต่ก่อตั้งสหพันธ์ในปี 1901 และก่อตั้งรัฐธรรมนูญ ออสเตรเลียได้ลงประชามติไปแล้ว 44 ครั้ง มีเพียง 8 เท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ

“หากเราย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ของเรา มันบอกเราว่าการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญในประเทศนี้เป็นเรื่องที่ยากมาก” ดร. คิลเดีย กล่าว

ศ. ทูมีย์ กล่าวว่ามีเหตุผลหลายประการที่ทำให้อัตราความสำเร็จต่ำ แต่เหตุผลที่สำคัญที่สุดคือผู้คนลังเลใจที่จะปูทางให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญหากไม่จำเป็น

“หากผู้คนไม่มั่นใจและไม่สบายใจที่จะทำการเปลี่ยนแปลง ก็เพราะพวกเขารู้สึกว่าพวกเขาไม่มีความรู้เพียงพอเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญและกระบวนการว่าทำงานอย่างไร พวกเขาจึงถูกดึงดูดจากแนวคิดที่ว่า 'ถ้าไม่รู้ ก็โหวต No'”

“พวกเขากลัวที่จะโหวต Yes ให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ หากพวกเขารู้สึกไม่มั่นใจว่ามันจะมีความหมายอย่างไรในอนาคต”

“ถ้าคุณเติมบางอย่างลงในรัฐธรรมนูญ มันอาจจะถูกตรึงไว้ตรงนั้นเป็นเวลานาน อาจจะ 50 ปี หรืออาจจะ 100 ปี และถ้าคุณทำผิดพลาด นั่นก็อาจเป็นปัญหาได้”

เพื่อหลีกเลี่ยงความลังเลใจในการโหวต Yes เธอกล่าวว่าควรมีการลงทุนด้านการศึกษาให้มากขึ้นในโรงเรียนเกี่ยวกับการลงประชามติและรัฐธรรมนูญ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ผู้คนรู้สึกหวาดกลัวเกินไปที่จะทำการเปลี่ยนแปลง

นี่มันงานของนักการเมืองไม่ใช่เหรอ? พวกเขาตัดสินใจกันเองไม่ได้เหรอ?

ในขณะที่บางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สามารถเปลี่ยนข้อความในรัฐธรรมนูญได้โดยไม่ต้องใช้เสียงของประชาชน ดร. คิลเดียกล่าวว่า เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ชาวออสเตรเลียจะต้องแสดงความคิดเห็นในสังคมประชาธิปไตย

“เรานำเรื่องการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญให้อยู่ในมือของประชาชน ซึ่งมีเหตุผลที่ดีสำหรับเรื่องนี้ เนื่องจากเป็นไปได้มากว่าการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญนั้นจะคงอยู่ตลอดไป หรืออย่างน้อยที่สุดก็จะคงอยู่จะเป็นเวลายาวนานอย่างมาก” ดร. คิลเดีย กล่าว
“สำหรับการเปลี่ยนแปลงขั้นรากฐานเช่นนี้ … มันสมเหตุสมผลแล้วที่เราจะทำให้มันผ่านกระบวนการที่ยากขึ้น และเราจึงต้องขอความชอบธรรมพิเศษที่มาจากคะแนนเสียงของประชาชนเท่านั้น”

ดร.คิลเดียกล่าวว่า การขยายอำนาจให้นักการเมืองเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญได้เป็นเรื่องอันตราย

"หากเราปล่อยเรื่องให้อยู่ในมือของนักการเมือง นั่นเป็นอำนาจที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับพวกเขาที่จะสามารถเปลี่ยนกฎพื้นฐานของชุมชนการเมืองของเรา ที่จะคงอยู่ในอนาคต"

จะเกิดอะไรขึ้นหากการลงประชามติล้มเหลว?

การลงประชามติสามารถจัดขึ้นอีกครั้งได้หากครั้งนี้ไม่สำเร็จ และสามารถใช้คำที่แตกต่างออกไปเพื่อพยายามปรับให้มีโอกาสสำเร็จมากขึ้น

แต่ ศ.ทูมีย์ กล่าวว่า ส่วนใหญ่แล้วการลงประชามติเป็น "เกมที่ยิงนัดเดียว"

“หากชาวออสเตรเลียลงมติไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอ โอกาสที่รัฐบาลต้องการให้ดำเนินการลงประชามติเรื่องนี้อีกครั้งเป็นไปได้น้อย เว้นแต่รัฐบาลจะมั่นใจอย่างมากว่าจะประสบความสำเร็จ” ศ.ทูมีย์ กล่าว

"เมื่อมันไม่ประสบความสำเร็จ คุณต้องทิ้งช่วงไปเป็นระยะนานพอสมควร เพื่อตั้งต้นใหม่ก่อนที่จะลองอีกครั้ง"

แต่เธอกล่าวว่า สิ่งสำคัญคือเราต้องตระหนักว่า รัฐบาลสหพันธรัฐมีแนวโน้มว่าจะไม่จัดการลงประชามติ หากกังวลว่าจะไม่ประสบความสำเร็จ

"ฉันเชื่อว่า รัฐบาลจะระมัดระวังอย่างมาก โดยพยายามทำให้แน่ใจว่ามีเสียงสนับสนุนจากชุมชนมากอย่างมีนัยสำคัญ ก่อนที่จะมีการลงประชามติจริงๆ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่ว่านั้น"

การลงประชามติเป็นหน้าที่ภาคบังคับหรือเปล่า?

เป็นหน้าที่ภาคบังคับ เช่นเดียวกับการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ชาวออสเตรเลียที่มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งทุกคนจะต้องไปลงประชามติ หากไม่ได้ลงคะแนนเสียงโดยไม่มีคำอธิบายที่สมเหตุสมผล ก็อาจถูกปรับ 20 ดอลลาร์
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Published 27 February 2023 2:27pm
By Rayane Tamer
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS


Share this with family and friends