รมต.สัญชาติออสฯ จ่อบังคับใช้ข้อสอบค่านิยมออสเตรเลียใหม่

NEWS: รมต.สัญชาติออสฯ จ่อปฏิรูปขั้นตอนอนุมัติวีซ่า-สัญชาติ จ่อบังคับสอบค่านิยมออสเตรเลียแบบใหม่รัดกุมขึ้น เผยพบบางส่วนได้สถานะประชากรถาวรตั้งแต่ยังไม่ทันเข้าประเทศ

นายอลัน ทัดจ์ รมต.สัญชาติเผยออสฯ อนุมัติประชากรถาวรให้ผู้อพยพที่ยังไม่ถึงประเทศมากไป

นายอลัน ทัดจ์ รัฐมนตรีด้านสัญชาติออสเตรเลีย (ซ้าย) ระบุว่า มีผู้อพยพที่ได้รับการอนุมัติสถานะประชากรถาวรที่ยังไม่ได้ก้าวเท้าเข้าประเทศมากเกินไป (AAP) Source: AAP

รัฐบาลภายใต้การนำของนายมัลคอล์ม เทิร์นบูลล์ ตั้งเป้ารัดกุมการอนุมัติวีซ่าที่ให้สถานะประชากรถาวรแก่ผู้อพยพย้ายถิ่นในอนาคต หลังระบุว่ามีการอนุมัติให้ผู้อพยพย้ายถิ่นมากเกินไป โดยบางรายยังไม่ได้แม้จะก้าวเท้าเข้ามาในประเทศ

เมื่อปีก่อน (2017) ออสเตรเลียรับผู้อพยพย้ายถิ่นถาวรเป็นจำนวนราว 162,000 คน ซึ่งต่ำกว่าเกฑณ์รับรายปีที่มีการกำหนดไว้ที่ 190,000 คน และเป็นอัตรารับเข้าที่ต่ำสุดในรอบ 10 ปี โดยรัฐบาลได้ระบุว่า อัตราการรับเข้าที่ต่ำลงเช่นนี้ เป็นผลมาจากขั้นตอนการรับรองคำร้องจากกระทรวงมหาดไทยของออสเตรเลีย ซึ่งเกิดการตั้งคำถามก่อนหน้านี้จากอดีตเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง

นายอลัน ทัดจ์ (Alan Tudge) รัฐมนตรีด้านสัญชาติของออสเตรเลีย ระบุว่า กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ยื่นคำร้องได้รับการอนุมัติสถานะประชากรถาวรหลังมาอยู่ในออสเตรเลียเป็นเวลามากกว่าหนึ่งปีในวีซ่าชั่วคราว ส่วนอีกครึ่งหนึ่งนั้นได้รับสถานะประชากรถาวรตั้งแต่ยังไม่ได้เดินทางมาถึงออสเตรเลีย

“นี่เป็นเรื่องที่ยังไม่เป็นไปตามอุดมคติ และมีบางอย่างที่จำเป็นต้องได้รับการพิจารณาในอนาคต” นายอลันกล่าวในการอภิปรายกับผู้นำสหราชอาณาจักร ในกรุงลอนดอน

2 ใน 3 ของผู้อพยพถาวรในออสเตรเลียนั้นเป็นผู้ถือวีซ่าทักษะ ส่วนอีก 1 ใน 3 เป็นวีซ่าครอบครัวสำหรับบุตร บิดามารดา และคู่สมรส

ทั้งนี้ นายอลัน ระบุว่า ผู้ยื่นคำร้องขอวีซ่าในต่างประเทศนั้น “เป็นเรื่องท้าทาย” เนื่องจากการนำข้อมูลของพวกเข้ามาจากต่างประเทศนั้น ในบางครั้งอาจเป็นเรื่องยากลำบาก

“จุดอ่อน” เรื่องค่านิยมของออสเตรเลีย

แม้ในปัจจุบันจะมีการบังคับให้ผู้อพยพต้องลงนามในถ้อยแถลงค่านิยมออสเตรเลีย เมื่อพวกเขากำลังจะได้เป็นพลเมืองออสเตรเลีย แต่รัฐบาลก็มีจุดประสงค์ที่จะทำให้ขั้นตอนดังกล่าวมีความรัดกุมมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ การปฏิรูปขั้นตอนทางสัญชาติของรัฐบาลที่เป็นข้อถกเถียงนั้น ได้กำหนดให้มีข้อสอบใหม่สำหรับเรื่องค่านิยมออสเตรเลีย และข้อสอบภาษาอังกฤษที่ยากขึ้น ซึ่งได้รับการปฏิเสธโดยวุฒิสภา แต่รัฐมนตรีอาวุโสของพรรคร่วมรัฐบาลได้ย้ำอย่างต่อเนื่องว่า จะการปฏิรูปในส่วนนี้ในปี 2018

เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม นายอลันได้แนะนำให้มีการพัฒนาการทดสอบการพูดภาษาอังกฤษสำหรับผู้อพยพทุกคนที่ขอรับสถานะประชากรถาวร ซึ่งนั้นรวมไปถึงผู้ลี้ภัยด้วยเช่นกัน

“เราเน้นความสำคัญในเรื่องค่านิยมของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ชาติของเราเป็นปึกแผ่น โดยการให้พวกเขา (ผู้อพยพ) ลงนามในถ้อยแถลงค่านิยมออสเตรเลียก่อนที่จะเข้าประเทศ ทำข้อสอบสัญชาติ และกล่าวคำมั่นปฏิญาณก่อนที่จะเป็นพลเมืองออสเตรเลีย” นายอลันกล่าว เมื่อพฤหัสบดีที่ผ่านมา (19 ก.ค.)



“ส่วนจุดอ่อนในเรื่องนี้ก็คือ เรามีกลไกที่น้อยนิดในการประเมินผู้คนตามถ้อยแถลงที่พวกเขาลงนามไปแล้ว” นายอลันกล่าวเสริม

เบื้องต้น นายอลันยังไม่ได้ให้ความเห็นว่ากระบวนการใดที่จะต้องได้รับการพิจารณา

“เราต้องการการสนับสนุนที่แข็งแรงเรื่องค่านิยมของออสเตรเลียอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่น เสรีภาพในการพูด การนับถือศาสนา ความเท่าเทียมระหว่าเพศ ประชาธิปไตย ตัวบทกฎหมาย ความยุติธรรมสำหรับทุกคน และเรื่องของความรับผิดชอบของแต่ละคน” นายอลันระบุ

ความพยายามแรกของรัฐบาลในปฏิรูปขั้นตอนทางสัญชาติได้ถูกปฏิเสธโดยพรรคแรงงาน พรรคกรีนส์ และสมาชิกสภาที่นั่งฝ่ายกลางในคณะทำงานของนายนิก เซโนฟอน (Nick Xenophon)

การตรวจสอบภูมิหลัง

นายจอห์น คอยน์ (John Coyne) อดีตเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านข่าวกรองของกรมตำรวจสหพันธรัฐแห่งออสเตรเลีย ซึ่งปัจจุบันได้ทำงานอยู่กับสถาบันนโยบายยุทธศาสตร์ออสเตรเลีย (Australian Strategic Policy Institute) ระบุว่า สังคมต้องการให้มีการตรวจสอบผู้ยื่นคำร้องขอวีซ่าอย่างเข้มงวด

นอกจากนี้ นายจอห์นยังระบุอีกว่า การทดสอบเรื่องค่านิยมออสเตรเลียที่ยากขึ้นนั้นอาจเป็น “กลไกที่ได้ผล” หากเนื้อหาเรื่องค่านิยมนั้นมีพื้นฐานจากหลักฐาน “เชิงประจักษ์” มากกว่าในเชิงสารทางการเมือง แต่อย่างไรก็ตาม นายจอห์นได้ชี้ให้เห็นว่า การตรวจสอบผู้ยื่นขอวีซ่าในเรื่องสำคัญๆ อย่างเรื่องของการพิสูจน์การกระทำความผิดนั้น ได้มีขั้นตอนดำเนินการอยู่แล้วในการรับรองคำร้อง

“หากมีหลักฐานของการกระทำความผิดอยู่ในฐานข้อมูลกลางของอินเตอร์โพล หรือฐานข้อมูลอื่นใด ในรูปแบบการก่ออาชญากรรม ก็เป็นเรื่องแน่นอนว่าต้องมีการตรวจสอบ” นายจอห์นระบุกับเอสบีเอสนิวส์

นายจอห์นยังชี้ให้เห็นเรื่องของการส่งตัวผู้ที่มีพฤติกรรม “ไม่พึงประสงค์” ออกจากประเทศ โดยยกตัวอย่างการใช้กฎหมายต่อต้านกลุ่มอิทธิพลในการส่งแกงค์มอเตอร์ไซค์นอกกฎหมายออกไปยังเมืองหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  

นายแอนโทนี อัลบานีซี (Anthony Albanese) สมาชิกสภาจากพรรคแรงงานได้ตำหนินายอลันในประเด็นความเห็นเกี่ยวกับการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมของผู้อพยพที่ไม่กว้างขวางขึ้นเหมือนที่ผ่านมาว่า เป็นการทำให้ประเทศดูตกต่ำ

“ในความเป็นจริงนั้น เราเป็นชาติพหุวัฒนธรรมที่ประสบความสำเร็จอย่างเหลือเชื่อ” นายแอนโทนีระบุ



Share
Published 23 July 2018 11:39am
Updated 24 July 2018 1:57pm
By James Elton-Pym
Presented by Tinrawat Banyat
Source: SBS World News


Share this with family and friends