โรคหลอดเลือดในสมองช่วยได้อย่างไร?

Human brain showing stroke

โรคหลอดเลือดในสมองเกิดขึ้นกับ 1 ใน 4 คนทั่วโลก Source: Science Photo Library RF

รณรงค์ให้คนออสเตรเลียรู้จักกับ FAST เพื่อช่วยชีวิตจากโรคหลอดเลือดในสมอง (stroke) มูลนิธิโรคหลอดเลือดในสมอง (The Stroke Foundation) เริ่มโครงการที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้ฟื้นตัวจากโรคหลอดเลือดในสมอง


LISTEN TO
>How you can act fast to save lives after stroke? image

โรคหลอดเลือดในสมองช่วยได้อย่างไร?

SBS Thai

16/08/202111:22
คุณเรเชล มาร์เจอรี (Rachel Margery) อายุเพียง 31 ปี ตอนที่เธอประสบกับภาวะเส้นเลือดในสมองผิดปกติในขณะกำลังเดินทางไปทำงานในปี 2019

“สิ่งแรกที่ฉันรู้คือ มือสองข้างของฉันรู้สึกเสียวแปลบๆ เหมือนเป็นเหน็บชา ฉันไม่ได้คิดอะไรมากในตอนแรก คิดว่าไม่เป็นไรหรอกจากนั้นฉันก็เริ่มรู้สึกว่าภาพที่มองเห็นเริ่มเบลอ และฉันเริ่มรู้สึกว่ามองเห็นได้ไม่ชัด ฉันคิดว่า นี่มันแปลกๆ นะแล้วฉันก็เริ่มรู้สึกว่ามือสองข้างของฉันอ่อนปวกเปียก”

จนกระทั่งเธอไปถึงที่ทำงาน เธอก็ยังรู้สึกไม่ดีขึ้น ถึงแม้ว่าเธอจะเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยพยาบาลฉุกเฉินของเซนต์ จอห์น (St John Ambulance officer) เธอกลับไม่คิดเลยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเธอคือโรคหลอดเลือดในสมอง

“ฉันไม่ได้มีอาการใบหน้าเบี้ยว แต่ฉันเริ่มพูดไม่ปะติดปะต่อกันเป็นประโยค พูดออกมาไม่ชัด ฉันไม่สามารถปลดล็อกมือถือของฉันเพื่อให้เพื่อนร่วมงานโทรหาญาติของฉันได้ ในตอนนั้นฉันรู้ว่ามีบางอย่างผิดปกติ แต่ฉันไม่รู้ว่ามันแย่มากแค่ไหน จนฉันได้ผลตรวจซีทีสแกน (CT Scan) และคุณหมอยืนยันว่าฉันเป็นโรคหลอดเลือดสมอง”

คุณเอลเลียต วิลเลียมส์ (Elliot Williams) พยาบาลและหัวหน้าคลินิกของหน่วยพยาบาลฉุกเฉินที่เซนต์ จอห์น แอมบูแลนซ์ นิวเซาท์เวลส์ กล่าวว่ามีวิธีการง่ายๆ ที่จะช่วยคุณประเมินอาการของโรคหลอดเลือดสมอง ที่เรียกว่า ฟาสท์ (FAST) หรือตัวย่อ เอฟ เอ เอส ที (F-A-S-T)
Stroke FAST Signs
FAST วิธีประเมินอาการของโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) Source: Stroke Foundation
F คือใบหน้า (Face)

“มองไปที่ใบหน้าของคนคนนั้น แล้วดูว่าหน้าของเขาเบี้ยวไปข้างใดข้างหนึ่งหรือไม่ เขาสามารถอ้าปากได้ปกติหรือไม่ และใบหน้าดูแล้วเท่ากันทั้งสองข้างหรือไม่”

A คือแขน (Arm)

“ประเมินว่าผู้ป่วยยกแขนทั้งสองข้างขึ้นได้หรือไม่ ขยับแขนทั้งสองข้างได้หรือไม่ และรวมถึงขาทั้งสองข้างด้วย ดูว่าเขาสามารถยกและขยับขาทั้งสองข้างได้ตามปกติหรือไม่”

S คือคำพูด (Speech)

“ลองบอกให้เขาพูดกับคุณ แล้วดูว่าคำพูดของเขาอ้อแอ้ (slurred) หรือไม่ ส่วนมากเมื่อผู้ป่วยมีอาการของโรคหลอดเลือดสมอง คำพูดจะอ้อแอ้ หรือยากที่จะสามารถพูดได้ชัดหรืออธิบายได้ตามปกติ”

T คือเวลา (Time)

"ยิ่งคุณปล่อยให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองไม่ได้รับการดูแลทางแพทย์ ความเสี่ยงที่สมองจะถูกทำลายอย่างถาวรนั้นจะยิ่งสูงขึ้น ดังนั้นเมื่ออาการที่ประเมินเป็นไปตามหลัก FAST ได้แก่ ผู้ป่วยมีใบหน้าเบี้ยว ผู้ป่วยไม่สามารถยกแขนได้ หรือผู้ป่วยไม่สามารถพูดได้ชัด คุณต้องกด 000 โทรเรียกรถฉุกเฉินด่วน และการทราบถึงเวลาที่เริ่มมีอาการจะมีประโยชน์มาก เพราะจะเป็นข้อมูลที่สำคัญกับแพทย์และพยาบาลที่โรงพยาบาล ในการหาวิธีรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วย"
โรคหลอดเลือดสมองเกิดขึ้นเมื่อขาดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง ไม่ว่าจะเกิดการอุดตันหรือเส้นเลือดแตก โรคนี้เกิดกับ 1 ใน 4 คนทั่วโลก และผู้หญิงในออสเตรเลียเสียชีวิตด้วยโรคนี้มากกว่าโรคมะเร็งเต้านม และมากกว่าโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ชาย

คุณจูด ชารานคอฟสกี (Jude Czerenkowski) ผู้จัดการระดับประเทศของสโตรค คอนเน็ก (Stroke Connect) ที่มูลนิธิโรคหลอดเลือดสมอง กล่าวว่าในขณะที่โรคหลอดเลือดสมองมักถูกมองว่าเป็นโรคที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ โรคนี้เกิดได้ในทุกเวลา
เมื่อคุณเริ่มมีอายุมากขึ้น ความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองนั้นสูงขึ้น แต่โรคหลอดเลือดสมองสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนในทุกช่วงอายุ จากเด็กที่มีจำนวนน้อยที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง จนถึงวัยทำงานและผู้สูงอายุ
คุณจูดกล่าวว่าความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ

“ทุกคนควรทราบถึงระดับความดันโลหิตของตน และปรึกษาแพทย์เพื่อควบคุมรักษาระดับ นอกจากนั้นปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เป็นสิ่งที่เราทุกคนทราบดีอยู่แล้ว การทำสิ่งเรารู้ว่าดีสำหรับเราและทำให้เรารู้สึกดี ทานอาหารที่มีประโยชน์ รักษาน้ำหนักตามเกณฑ์ ไม่สูบบุหรี่ ออกกำลังกาย และปรึกษาแพทย์เรื่องการดื่มแอลกอฮอล์และความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง”

blood pressure, stroke, FAST, health, signs and symptoms
การเช็คความดันโลหิตอยู่ประจำเป็นสิ่งสำคัญ Source: Getty Images/SDI Images


คุณราเชลนับว่าเป็นหนึ่งในผู้โชคดี ถึงแม้ว่าเธอจะไม่มีปัจจัยเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง เธอยังมีเพื่อนร่วมงานที่คอยช่วยเหลือ

นอกจากจะมีปัญหาในการพูดในบางครั้ง เธอมีสุขภาพที่ดี และประสบการณ์นี้ยังได้ช่วยเธอในการทำงานด้วย

“ถ้าฉันได้เจอผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองที่มีอายุมาก และฉันบอกพวกเขาว่าฉันก็เป็นนะ พวกเขาพูดว่า ‘ไม่นะ เธอยังเด็กเกินไป’ และฉันพูดว่า ‘โรคหลอดเลือดสมองสามารถเกิดกับคนอายุน้อยได้นะ ไม่ใช่แค่กับคนอายุมากเสมอไป เด็กทารกบางคนก็เป็น’ การได้พูดคุยกับผู้ป่วยระหว่างเดินทางทำให้ฉันรู้สึกเห็นอกเห็นใจพวกเขามากขึ้น”

คุณจัสติน คิกเก็ตต์ (Justin Kickett) ผู้โชคร้าย

“ผมเริ่มรู้สึกเมื่อตอนดื่มน้ำแล้วน้ำไหลออกไปที่คาง เลยเรียกหาภรรยา ผมพูดกับเธอว่า ‘ฉันคิดว่ามีบางอย่างผิดปกติ’ ผมเริ่มเดินไม่ปกติ และบอกกับเธอว่า ‘คุณช่วยมาดูผมเดินหน่อย คุณว่าการเดินของผมมันไม่ดีเหมือนเดิมไหม?’”

เมื่อภรรยาของคุณคริกเก็ตต์เห็นอาการของเขา เธอทราบทันทีว่าเป็นอาการของโรคหลอดเลือดสมอง และเร่งนำเขาส่งโรงพยาบาล

แต่ถึงแม้ว่าเธอจะตอบรับกับสถานการณ์ได้เร็ว คุณจัสตินก็ยังสูญเสียความสามารถบางอย่างไปถาวร เขาไม่สามารถใช้แขนขวาได้และเดินได้ไม่เหมือนเดิม  

“ผมพยายามใช้มือซ้ายเขียนหนังสือ และต้องปรับปรุงรถแท็กซี่ให้ผมขับได้ ผมผูกเชือกรองเท้าไม่ได้ ต้องให้คนอื่นทำให้ ถ้าผมทำอะไรไม่ได้ ผมจะขอให้ช่วย”
มูลนิธิโรคหลอดเลือดสมองได้ตีพิมพ์หนังสือคู่มือที่ออกแบบมาเพื่อช่วยในการฟื้นตัว หลังมีอาการหลอดเลือดในสมองผิดปกติ โดยหนังสือ Our Stroke Journey ถูกสร้างขึ้นด้วยการทำงานร่วมกับคนพื้นเมือง

คุณจูด ชารานคอฟสกี กล่าวว่าการมีข้อมูลที่เกี่ยวโยงด้านวัฒนธรรมเป็นสิ่งสำคัญในการเผยแพร่ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมอง
หลากหลายชุมชนนั้นต้องการข้อมูลที่มีลักษณะเฉพาะในแต่ละชุมชน โดยเฉพาะแหล่งข้อมูลที่พวกเขาชื่นชอบ ดังนั้นหนังสือนี้จึงถูกเขียนขึ้นโดยการเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมและชุมชน และถูกถ่ายทอดเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวภูมิหลังของชาวพื้นเมืองอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรส ยิ่งมีข้อมูลแบบนี้มากขึ้นเท่าไหร่ ผู้คนยิ่งอ่านและรับรู้ข้อมูลที่พวกเขาต้องการ และแบ่งปันข้อมูลกับเพื่อนและครอบครัวของพวกเขา
เรื่องของคุณจัสติน คิกเก็ตต์ เป็นหนึ่งในเรื่องที่ถูกนำมาตีพิมพ์ในหนังสือ Our Stroke Journey เขาเชื่อว่าหากหนังสือนี้มีอยู่เมื่อตอนที่เขามีอาการของโรคหลอดเลือดสมอง สิ่งนี้จะช่วยให้เขาฟื้นตัวได้เร็ว

“เมื่อเวลาผ่านไป คุณเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน วิธีที่ผมคิดคือ ถ้าคุณจมอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้น คุณจะไม่สามารถไปทำสิ่งอื่นได้ เมื่อผมคิดถึงมันและพูดถึงมัน มันช่วยให้ผมก้าวไปข้างหน้าได้ เมื่อผมคิดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับผมและการก้าวผ่านโรคหลอดเลือดสมองของผม และสิ่งนี้จะช่วยคนอื่นได้”

หนังสือ Our Stroke Journey จะเริ่มตีพิมพ์ในภาษาอื่นๆ ในปลายปีนี้ แหล่งข้อมูลเกี่ยวกับ FAST สามารถอ่านได้ใน  ซึ่งมีข้อมูลภาษาอาราบิก จีน (ดั้งเดิมและปัจจุบัน) กรีก ฮินดู อิตาลี เกาหลี และเวียดนาม


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share