ปรับปรุงโปรแกรมภาษาอังกฤษของผู้อพยพ

Minister for Cities Alan Tudge at a press conference at Parliament House in Canberra, Thursday, July 9, 2020. (AAP Image/Mick Tsikas) NO ARCHIVING

รัฐมนตรีอลัน ทัดจ์ แถลงข่าวหน้าทำเนียบรัฐสภา กรุงแคนเบอร์ร่า Source: AAP

รัฐปรับปรุงโปรแกรมภาษาอังกฤษสำหรับผู้อพยพ หวังช่วงสร้างความร่วมมือในการฟื้นฟูประเทศหลังวิกฤติโควิด กลุ่มพหุวัฒนธรรมยินดี ชี้สร้างความเข้าใจเรื่องความแตกต่าง


รัฐบาลกลางกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงโปรแกรมภาษาอังกฤษสำหรับผู้อพยพที่ใช้งบหนึ่งพันล้านดอลลาร์นั้น หวังสร้างความร่วมมือทางสังคมที่ดีเมื่อออสเตรเลียกลับมาฟื้นฟูประเทศหลังการระบาด

กลุ่มผู้อพยพยินดีกับการเปลี่ยนแปลงนี้ แต่กล่าวว่าทุกคนมีบทบาทที่ช่วยให้มีความเข้าใจที่ดีขึ้นกับการมีพหุวัฒนธรรม และเห็นคุณค่าของผู้อพยพนอกเหนือไปจากการมีความชำนาญในภาษาอังกฤษ

ในขณะเดียวกันพรรคแรงงานได้เรียกร้องให้มีแผนการจัดการกับการเหยียดเชื้อชาติ

เมื่อ 3 ปีที่แล้ว รัฐบาลกลางเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงในการสอบเป็นพลเมือง โดยกำหนดว่าผู้อพยพต้องผ่านการทดสอบภาษาอังกฤษในระดับมหาวิทยาลัย

รัฐบาลเสนอว่ากฎใหม่จะกำหนดให้ผู้อพยพเซ็นรับคำแถลงการด้านค่านิยมก่อนจะสามารถเป็นพลเมืองของออสเตรเลีย โดยอ้างถึงความกังวลเรื่องการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ

ก่อให้เกิดความตึงเครียดในกลุ่มชุมชนที่คัดค้านการผ่านร่างกฎหมายนั้นและไม่ได้ถูกนำมาใช้

รักษาการรัฐมนตรีกระทรวงผู้อพยพและเข้าเมือง นาย อลัน ทัดจ์ กล่าวว่าการระบาดของไวรัสทำให้รัฐบาลพิจารณาการพัฒนาความร่วมมือทางสังคม โดยเฉพาะการดำเนินการและผลลัพธ์ของโปรแกรมที่จัดให้มีการเรียนภาษาอังกฤษโดยไม่มีค่าใช้จ่ายให้ผู้อพยพ

“โปรแกรมนี้มีงบพันล้านดอลลาร์ แต่เห็นแล้วว่าไม่ให้ผลที่ดีนัก โปรแกรมจัดให้ผู้อพยพได้เรียนภาษา 510 ชั่วโมงโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่โดยเฉลี่ยแล้วมีคนเรียนแค่ 300 ชั่วโมง และมีแค่ 21 เปอร์เซ็นต์ที่จบไปโดยที่ยังมีภาษาอังกฤษอยู่ในระดับที่พอใช้ มันยังไม่ดีพอ”

นายทัดจ์กล่าวว่ามีประชากรโดยเฉลี่ยเกือบ 1 ล้านคนทั่วประเทศที่ขาดทักษะภาษาอังกฤษ ทำให้พวกเขามีขอบเขตที่จำกัดในการทำงานและการอยู่ร่วมในสังคมออสเตรเลีย

“คนที่อยู่ในออสเตรเลียและไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ มีแค่ 13 เปอร์เซ็นต์ที่ทำงาน ส่วนคนที่พูดภาษาอังกฤษได้มีแค่ 62 เปอร์เซ็นต์ มันน่าตกใจ"

"ผมไม่ได้จะตำหนิคนที่ภาษาอังกฤษไม่ดีนะครับ แต่มันเห็นได้ชัดว่าการมีส่วนร่วมในสังคมทำได้ยากเมื่อมีอุปสรรคด้านภาษา เมื่อไม่มีทักษะภาษาอังกฤษ เป็นไปได้ว่าผู้อพยพจะหางานได้น้อย รวมถึงการผสมผสานและการมีส่วนร่วมกับระบอบประชาธิปไตย”

ข้อมูลการสำรวจจำนวนประชากรแจ้งว่าจำนวนคนในออสเตรเลียที่ไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ดีหรือไม่ได้เลย เพิ่มจาก 560,000 คนในปี 2006 เป็น 820,000 คนในปี 2016   

นายทัดจ์กล่าวว่าโปรแกรมภาษาอังกฤษสำหรับผู้อพยพที่เป็นผู้ใหญ่หรือ AMEP จะปรับปรุงเพื่อผลักดันให้ผู้อพยพมีภาษาอังกฤษในระดับที่ชำนาญ โดยจะไม่มีการกำหนดชั่วโมงอีกต่อไป และจะยกเลิกการกำหนดเวลา

เขากล่าวในสโมสรสื่อแห่งชาติว่า มาตรการใหม่จะลดอุปสรรคในการเข้าถึงบทเรียน

“โปรแกรมปัจจุบันนี้เป็นระบบเข้าเรียนในห้องเรียน ซึ่งไม่มีความยืดหยุ่นสำหรับคนที่ทำงานหรือคนที่มีหน้าที่ต้องดูแลผู้อื่น และไม่ได้ใช้โอกาสจากข้อดีของการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน ในหลายกรณี 510 ชั่วโมงยังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะคนที่มีพื้นฐานจากภาษาที่ไม่ใช่ภาษาในกลุ่มยุโรป ซึ่งมีจำนวนมากถือเป็นกลุ่มใหญ่ของผู้อพยพในวันนี้ พวกเขาอาจต้องการประมาณ 1,000-2,000 ชั่วโมงในการเรียน

"การปรับปรุงนี้หมายความว่า คนที่เป็นผู้พำนักถาวรหรือเป็นพลเมืองที่ไม่มีทักษะภาษาอังกฤษในระดับใช้งานได้จะสามารถเรียนภาษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายจนกว่าจะมีความสามารถทางภาษาในระดับที่ต้องการ”

นายโมฮัมมัดด อัล-คาฟาจิ ประธานผู้บริหารของสภาสหพันธ์กลุ่มชาติพันธุ์ในออสเตรเลีย กลุ่มหลักที่เป็นตัวแทนของกลุ่มพหุวัฒนธรรมของออสเตรเลียกล่าวว่า เขายินดีกับการเปลี่ยนแปลงนี้

“ทุกวันนี้ผู้อพยพถูกคาดหวังให้เพิ่มความสำคัญกับหลายปัจจัยในวิถีการตั้งรกราก หนึ่งในนั้นคือการเรียนภาษาอังกฤษ ไหนจะต้องออกไปหางาน และยังต้องเรียนรู้กับระบบใหม่และอื่นๆ จนถึงทุกวันนี้การจัดลำดับความสำคัญกับสิ่งเหล่านั้นมักขัดแย้งกัน และผู้อพยพส่วนมากไม่สามารถรักษาระดับภาษาอังกฤษไว้ได้ เพราะต้องให้ความสำคัญกับการหางานมากกว่าการเรียนภาษาอังกฤษ”

เขากล่าวว่า การระบาดของไวรัสเผยช่องว่างของการการมีส่วนร่วมของรัฐกับกลุ่มพหุวัฒนธรรม

“ในช่วงที่ไวรัสระบาดในระยะแรก กลุ่มพหุวัฒนธรรมได้เรียกร้องให้มีแผนการรองรับในเรื่องความแตกต่างทางวัฒนธรรมเพื่อจัดการกับไวรัสโควิด 19 เพราะเรารู้ว่าจะมีช่องว่างเกิดขึ้นเพราะไม่มีข้อมูลที่ในภาษาที่หลากหลายที่ใช้ในชุมชน  ในขณะที่ความต้องการข้อมูลในภาษาที่นอกเหนือจากภาษาอังกฤษเพิ่มมากขึ้น และพวกเขาจะออกไปหาข้อมูลจากแหล่งข่าวนอกประเทศออสเตรเลีย เราได้เตือนแล้วในเรื่องนี้ นี่แสดงให้เห็นแล้วว่าเราต้องมีการวางแผนล่วงหน้าก่อนที่มันจะกลายเป็นปัญหา”

เขายังเตือนเกี่ยวกับการใช้ทักษะภาษาอังกฤษเป็นมาตรฐานในการวัดระดับความสำเร็จของผู้อพยพในเชิงค่านิยม

“ข้อกำหนดเรื่องภาษาอังกฤษไม่ใช่สิ่งที่จะบ่งชี้ว่าใครเป็นพลเมืองที่ดีหรือไม่ เราเห็นประวัติศาสตร์จากการสร้างอาณาจักรธุรกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และเห็นแบบอย่างจากการเป็นพลเมืองในประเทศออสเตรเลียทุกวันนี้ที่ยังมีภาษาอังกฤษที่จำกัด เพราะฉะนั้นภาษาอังกฤษอย่างเดียวไม่ใช่สิ่งบ่งชี้ความสำเร็จของการตั้งรกรากและการรวมกลุ่มในออสเตรเลีย”

ข้อมูลเผยว่ามีคนจำนวนมากกว่า 200,000 คน ที่มาเป็นพลเมืองออสเตรเลียในปีภาษีระหว่าง 2019-2020 

นายทัดจ์กล่าวว่าจะเปลี่ยนแปลงการจัดการในการสอบเป็นพลเมืองตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนนี้ โดยจะเน้นที่ความสำคัญของความภักดีต่อค่านิยมของออสเตรเลีย เช่น การปฏิบัติตามกฎ เสรีภาพในการพูด และความรับผิดชอบส่วนบุคคล

คำแถลงการณ์เรื่องค่านิยมของออสเตรเลียที่ผู้สมัครพลเมืองต้องเซ็นยินยอมก็จะเปลี่ยนด้วย

“การเป็นพลเมืองของออสเตรเลียนั้นเป็นทั้งสิทธิพิเศษและภาระหน้าที่ ควรให้กับคนที่สนับสนุนค่านิยม เคารพกฎหมาย และมีส่วนร่วมกับอนาคตของออสเตรเลีย เราควรมั่นใจว่าคนที่จะมาอยู่ที่นี่และตั้งรกรากที่นี่เข้าใจอย่างชัดเจน และพร้อมที่จะผูกมัดกับค่านิยมที่เรามีร่วมกัน เพื่อหล่อหลอมเราทุกคนเป็นคนออสเตรเลีย”


ประชาชนในออสเตรเลียต้องอยู่ห่างกับผู้อื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร คุณสามารถตรวจดูว่ามีข้อจำกัดใดบ้างที่บังคับใช้อยู่ในรัฐและมณฑลของคุณ 

การตรวจเชื้อไวรัสโคโรนาขณะนี้สามารถทำได้ทั่วออสเตรเลีย หากคุณมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้ติดต่อขอรับการตรวจเชื้อได้ด้วยการโทรศัพท์ไปยังแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลข 1800 020 080

รัฐบาลสหพันธรัฐออสเตรเลียยังได้มีแอปพลิเคชัน COVIDSafe เพื่อติดตามและแจ้งเตือนผู้ที่พบปะใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งคุณสามารถดาวน์โหลดมาใช้ได้จากแอปสโตร์ (app store) สำหรับโทรศัพท์มือถือของคุณ อ่านเกี่ยวกับแอปพลิเคชันนี้ 

คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share