ออสฯ เตือนปชช. เตรียมรับมือ 3 โรคฤดูหนาวนี้

Al fresco diners in Melbourne.

Al fresco diners in Melbourne. Source: AAP

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขกำลังกังวลเกี่ยวกับการกลับมาของโรคไข้หวัดใหญ่ และการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยไวรัสไข้สมองอักเสบญี่ปุ่นในฤดูหนาวนี้ ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ก็ยังคงเป็นเรื่องน่ากังวลเช่นกัน คณะผู้นำรัฐมณฑลต่าง ๆ หารือกันแล้วว่ารัฐบาลและประชาชนจะต้องทำสิ่งใดบ้างเพื่อเตรียมความพร้อม


กด ▶ เพื่อฟังรายงาน
LISTEN TO
Be prepared for all this winter's illnesses: health authorities image

ออสฯ เตือนปชช. เตรียมรับมือ 3 โรคฤดูหนาวนี้

SBS Thai

14/03/202209:21
เป็นเวลา 2 ปีที่ นพ.เตโวโดรส อัดฮาโนม เกอเบรออีเยอซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ได้ประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นการระบาดใหญ่ทั่วโลก เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2020

“เราได้ส่งสัญญาณอย่างดังก้องและชัดเจน เราพูดสิ่งนี้ให้ดังเท่าไหร ชัดเจนเท่าไหร่ หรือบ่อยครั้งแค่ไหนก็ไม่พอ ทุกประเทศยังคงเปลี่ยนทิศทางของการระบาดใหญ่นี้ได้” นพ.เกอเบรออีเยอซุส กล่าว

สองปีหลังจากนั้น จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ยังคงเพิ่มขึ้นทุกวันในออสเตรเลีย

แต่ถึงแม้จะพบผู้เสียชีวิตเป็นประจำในระดับสูงเกินกว่าสถานการณ์จะเป็นอื่น ดูเหมือนว่าจุดสูงสุดของโรคโควิด-19 จะผ่านพ้นไปแล้วสำหรับรัฐและมณฑลส่วนใหญ่ทางตะวันออกของประเทศ

แต่สำหรับรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ยอดผู้ติดเชื้อรายวันที่นั่นเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในเวลาเพียงไม่กี่วัน มีความพยายามในการใช้มาตรการจำกัดห้ามเป็นจำนวนมากเพื่อจำกัดการแพร่ระบาด

แต่สำหรับออสเตรเลีย การฉีดวัคซีนได้กลายเป็นกลไกสำคัญของแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติในสถานการณ์โควิด-19

นายเกร็ก ฮันท์ รัฐมนตรีสาธารณสุขออสเตรเลีย กล่าวว่าชาวออสเตรเลียที่มีสิทธิ์รับวัคซีนประมาณ 2 ใน 3 จากทั้งหมด ได้รับวัคซีนโควิดเข็ม 3 หรือวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว และกล่าวอีกว่าผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนดังกล่าวจำเป็นต้องไปรับการฉีด

“มันยังไม่จบลง และจะเกิดสายพันธุ์ใหม่อย่างเลี่ยงไม่ได้ และในอนาคตจะมีไวรัสอยู่ภายในชุมชนระดับหนึ่งอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ต้องสงสัยเลยในตอนนี้” นายฮันท์ รัฐมนตรีสาธารณสุขออสเตรเลีย กล่าว

หลายรัฐและมณฑลเริ่มจัดทำแผนเพิ่มอัตราการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว เนื่องจากกังวลว่าฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึงอาจทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น

นางอนาสตาเซีย ปาลาเชย์ มุขมนตรีรัฐควีนส์แลนด์ กล่าวว่าเธอได้รับทราบถึงรายงานจำนวนหนึ่งเกี่ยวกับเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ย่อย ซึ่งทำให้การได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นยิ่งเป็นสิ่งสำคัญมากขึ้น

“เราต้องการให้คุณไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้น หากคุณยังไม่ได้รับ โปรดคิดเกี่ยวกับการไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นของคุณ สิ่งนี้จะเป็นการปกป้องเพิ่มขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อเรากำลังเข้าสู่ฤดูหนาว” นางปาลาเชย์ มุขมนตรีรัฐควีนส์แลนด์ กล่าว

แต่สำหรับบางคน การฉีดวัคซีนโควิดอาจไม่ได้จบลงที่วัคซีนเข็ม 3

กลุ่มที่ปรึกษาด้านเทคนิคเกี่ยวกับการสร้างภูมิคุ้มกันโรคแห่งออสเตรเลีย (ATAGI) กำลังพิจารณาว่าจะสามารถแนะนำการฉีดวัคซีนเข็มที่ 4 สำหรับประชาชนบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปได้เมื่อใด โดยคาดว่าคำแนะนำดังกล่าวอาจยังไม่มีการประกาศออกมาจนถึงปลายเดือนมีนาคมนี้

ด้าน นายเกร็ก ฮันท์ รัฐมนตรีสาธารณสุขออสเตรเลีย ย้ำชัดว่ารัฐบาลสั่งซื้อวัคซีนมาเพียงพอ

“เราจองสิทธิ์วัคซีนไฟเซอร์ไว้แล้ว 60 ล้านโดสสำหรับปี 2022 โดยไตร่ตรองไว้อย่างแม่นยำว่า หากจำเป็นต้องฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 หรือเข็มที่ 4 เราก็จะมีความพร้อม” นายฮันท์ รัฐมนตรีสาธารณสุขออสเตรเลีย กล่าว

จากความสนใจจำนวนมากต่อสถานการณ์โควิด-19 เจ้าหน้าที่กังวลว่า ชาวออสเตรเลียอาจพลาดสารสำคัญเกี่ยวกับโรคไข้หวัดใหญ่ โดยบรรดาแพทย์ได้เตือนว่าการรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่สำคัญพอ ๆ กับการได้รับวัคซีนโควิด

ศาสตราจารยพอล เคลลี ประธานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขออสเตรเลีย ได้เตือนไว้ก่อนหน้านี้ถึงความเป็นไปได้ที่โรคไข้หวัดใหญ่ในออสเตรเลียจะรุนแรงในปีนี้ เขากล่าวว่าไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดเชื้อโควิดสายพันธุ์ใดขึ้นในฤดูหนาว แต่แทบจะมั่นใจว่า โรคไข้หวัดใหญ่จะยังคงอยู่รอบตัวและแพร่กระจาย ขณะที่ผู้คนกำลังกลับเข้าไปอยู่ในอาคารสถานที่

สิ่งที่ผมรู้ก็คือ เราแทบจะมั่นใจได้ว่าจะมีฤดูกาลไข้หวัดใหญ่ในฤดูหนาวปีนี้ ทั้งไวรัสไข้หวัดใหญ่และไวรัสโคโรนา อย่างที่ได้เห็นในหลายประเทศทางซีกโลกเหนือในตอนนี้คือความท้าทาย” ศาสตราจารย์เคลลี ประธานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขออสเตรเลีย กล่าว

การเตรียมพร้อมรับมือกับจุดสูงสุดของโรคไข้หวัดใหญ่และโรคโควิด-19 เป็นประเด็นสำคัญในที่ประชุมหารือของคณะผู้นำรัฐและมณฑล (National cabinet meeting) เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (11 มี.ค.)

แต่การหารือดังกล่าวยังได้พูดถึงไวรัสอีกชนิดหนึ่ง นั่นคือไวรัสไข้สมองอักเสบญี่ปุ่น (Japanese Encephalitis Virus) อีกด้วย

จนถึงขณะนี้ มีผู้ติดเชื้อไวรัสไข้สมองอักเสบญี่ปุ่นภายในชุมชนที่ได้รับการยืนยันแล้ว 15 ราย และมีผู้เสียชีวิต 2 รายจากโรคดังกล่าวซึ่งมียุงพาหะในรอบ 2-3 เดือนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม โรคดังกล่าวมีวัคซีนป้องกันแล้ว และรัฐมนตรีสาธารณสุขออสเตรเลีย กำลังวางแผนจองสิทธิ์เข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าวให้เพียงพอ เพื่อเพิ่มการปกป้องในชุมชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณในรัฐบาลสหพันธรัฐมูลค่า $69 ล้านดอลลาร์

“เรามีวัคซีนอยู่ในประเทศ 15,000 โดส และเรากำลังจะซื้อเพิ่มอีก 130,000 โดส บนพื้นฐานคำแนะนำด้านสาธารณสุข ... ประการที่สอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในเรื่องนั้น เรายังมีโครงการให้ความรู้และสร้างการตระหนักรู้มูลค่า $5 ล้านดอลลาร์ ในการป้องกันยุงอย่างได้ผล การใส่เสื้อผ้าปกปิด การทายากันยุง การทำทุกสิ่งที่ผู้คนเคยทำในการป้องกันตนเองเมื่ออยู่ในพื้นที่ซึ่งมีโรคติดต่อที่มียุงเป็นพาหะ” นายฮันท์ รัฐมนตรีสาธารณสุขออสเตรเลีย กล่าว
พญ.ซอนยา เบนเนตต์ (Dr Sonya Bennett) รองประธานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขออสเตรเลีย เป็นผู้นำในแผนรับมือระดับชาติ เธอกล่าวว่า ไวรัสไข้สมองอักเสบแพร่กระจายโดยการถูกยุงกัด และกำลังดำเนินการเพื่อระบุหาชาวออสเตรเลียที่เป็นไปได้สูงที่จะสัมผัสเชื้อไวรัสดังกล่าว

“ผู้ที่ตกอยู่ในความเสี่ยงมากที่สุด และได้รับคำแนะนำให้ไปรับการฉีดวัคซีนเหล่านั้น กำลังได้รับการระบุชี้โดยหน่วยงานสาธารณสุข และพวกเขาคือผู้ที่ทำงานในโรงเรือนสุกรที่ได้รับผลกระทบหลายแห่งในตอนนี้ และผู้ที่เข้าไปและทำการควบคุมจำนวนยุงและสุกรในโรงเรือนเหล่านั้น” พญ.เบนเนตต์ กล่าว

พญ.เบนเนตต์ กล่าวอีกว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขออสเตรเลียมีความเข้าใจต่อไวรัสไข้สมองอักเสบเป็นอย่างดี เนื่องจากไวรัสนี้ปรากฏในภูมิภาคที่กว้างกว่า รวมถึงในหมู่เกาะทอร์เรส สเตรท มาแล้วเป็นเวลาหลายปี

“มันไม่ใช่ไวรัสใหม่ที่มาจากจากต่างประเทศ มันแพร่กระจายเป็นวงกว้างทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาแล้วเป็นเวลานาน มีวัคซีนป้องกันมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว แต่มันเป็นเรื่องใหม่สำหรับออสเตรเลียแผ่นดินใหญ่” พญ.เบนเนตต์ กล่าว

พญ.เบนเนตต์ กล่าวอีกว่า ชาวออสเตรเลียสามารถมั่นใจได้ว่า เจ้าหน้าที่จะรับมืออย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด

หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share