กดปุ่ม 🔊 ที่ภาพด้านบนเพื่อฟังฟังสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่คนไทยของเอทีโอ
กรมสรรพากรแห่งออสเตรเลีย หรือเอทีโอ (ATO) ชี้สถานภาพการเป็นลูกจ้าง หรือเป็นผู้รับเหมา (contractor) ส่งผลต่อกฎเกณฑ์ด้านภาษีและเงินซูเปอร์ (เงินสำรองเลี้ยงชีพหลังเกษียณ) ที่เจ้าของธุรกิจต้องปฏิบัติตามโดยแตกต่างกัน
คุณชัชรวี รัตนสมบูรณ์ เจ้าหน้าที่คนไทยของกรมสรรพากรแห่งออสเตรเลีย หรือเอทีโอ (ATO) ย้ำว่าลูกจ้างสามารถทำงานได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีหมายเลขเอบีเอ็น (ABN)
“ท่านสามารถทำงานได้โดยไม่จำเป็นต้องมีเอบีเอ็น ตัวอย่างเช่น ท่านสามารถทำงานเป็นลูกจ้างและได้เงินเดือน และได้เงินบำนาญสะสมหรือซูเปอร์ ขณะที่ท่านทำงาน นายจ้างจะหักภาษีจากเงินเดือนของท่านและส่งมาให้เรา (เอทีโอ) แต่หากท่านมีธุรกิจของตัวเอง ท่านต้องมีเอบีเอ็น และต้องจ่ายภาษีเงินได้ ภาษีสินค้าและบริการหรือจีเอสทีให้เอทีโอ และจ่ายซูเปอร์เอง” คุณชัชรวี ตัวแทนจากเอทีโอ ระบุ
เธอยังย้ำว่านายจ้างหรือเจ้าของธุรกิจต้องรู้ถึงความแตกต่างระหว่างผู้รับเหมา (contractor) ที่ต้องมีหมายเลขเอบีเอ็น กับลูกจ้าง ที่ใช้แค่หมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษี หรือทีเอฟเอ็น (TFN) เพราะมีกฎเกณฑ์ด้านภาษีและเงินซูเปอร์ (เงินสำรองเลี้ยงชีพหลังเกษียณ) ที่แตกต่างกัน ซึ่งเจ้าของธุรกิจต้องปฏิบัติตามอย่างถูกต้อง
“ผู้รับเหมา (contractor) คือผู้ที่ประกอบธุรกิจเป็นของตนเอง โดยให้การบริการหรือความเชี่ยวชาญแก่ธุรกิจของท่าน แต่ลูกจ้างคือคนที่ทำงานโดยเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจของท่าน” คุณชัชรวี เจ้าหน้าที่คนไทยของเอทีโอ อธิบายขณะที่บางคนอาจคิดว่า ขอแค่มีหมายเลขเอบีเอ็น หรือหมายเลขธุรกิจของออสเตรเลีย ก็เป็นผู้รับเหมาได้แล้ว แต่คุณชัชรวีย้ำว่า ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น
A Tax File Number is needed to work in Australia Source: Flickr, Ken Teegardin
“การที่ใครสักคนเอาเอบีเอ็นมาให้ ก็ไม่ได้หมายความว่าบุคคลนั้นที่ทำงานให้ท่านหรือคนงานคนนั้นจะเป็นผู้รับเหมา จะต้องดูไปถึงความสัมพันธ์ในการทำงานระหว่างนายจ้างกับคนงาน ซึ่งจะช่วยให้ท่านทราบเมื่อทำการจ่ายภาษีและซูเปอร์ให้คนงาน” คุณชัชรวี จากเอทีโอ กล่าว
เธอยังบอกอีกว่า ประเด็นสำคัญหนึ่งที่ใช้ในการพิจารณาว่าบุคคลเป็นลูกจ้างหรือเป็นผู้รับเหมา ได้แก่เรื่องการมอบหมายงาน และการได้รับค่าจ้างของพวกเขา
“ในการมอบหมายงาน ผู้รับเหมาสามารถมอบหมายงานออกไปให้คนอื่นทำแทนได้ โดยการจ้างคนอื่นต่อไปอีกทอดหนึ่งให้มาทำงานแทนพวกเขา แต่ในทางตรงกันข้ามลูกจ้างต้องทำงานทั้งหมดด้วยตนเอง”
ในด้านค่าจ้างนั้น ขณะที่ลูกจ้าง ตัวอย่างเช่น ลูกจ้างโรงงานบรรจุเนื้อลงหีบห่อ จะได้รับเงินค่าจ้างเป็นรายสัปดาห์ หรือสองสัปดาห์ หรืออาจได้ค่าจ้างต่อชิ้นงาน และอาจได้ค่าคอมมิชชัน แต่ผู้รับเหมาจะได้รับค่าจ้างในรูปแบบที่แตกต่างไป
“ผู้รับเหมาอาจไม่ได้รับเงินค่าจ้างเป็นรายสัปดาห์ พวกเขาอาจได้รับเงินค่าจ้างเมื่องานเสร็จแล้วเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น มีคนรับจ้างลงระบบคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ เขาอาจได้รับเงินค่าจ้างเมื่อลงระบบเรียบร้อย และเครื่องทำงานอย่างถูกต้อง แต่ในทางตรงกันข้าม ลูกจ้างได้รับเงินค่าจ้างตามกำหนดเวลาการทำงาน” คุณชัชรวี ยกตัวอย่าง
“ผู้รับเหมาจะได้รับเงินค่าจ้างตามที่ตกลงกันก่อนตั้งแต่ต้น จากตัวอย่างก่อนหน้านี้ ถ้าระบบคอมพิวเตอร์ไม่ทำงานหลังการลงโปรแกรมแล้ว ผู้รับเหมาก็อาจไม่ได้รับค่าจ้างเต็มจำนวน จนกว่าระบบจะทำงานได้ดีตามที่ตกลงกันไว้ก่อนหน้านี้ ผู้รับเหมาและเจ้าของธุรกิจตกลงกันล่วงหน้าถึงระยะเวลาการจ่ายค่าจ้าง เช่น 7 วัน หรือ 10-14 วันหลังการวางบิล”
หากเจ้าของธุรกิจทำผิดโดยปฏิบัติกับลูกจ้างเหมือนเป็นผู้รับเหมา โดยไม่ปฏิบัติอย่างถูกต้องเกี่ยวกับการนำส่งภาษีให้เอทีโอ และการจ่ายเงินซูเปอร์ให้ลูกจ้างอย่างที่ควรทำ ก็อาจส่งผลเสียต่อธุรกิจ
“เรื่องนี้อาจทำให้ธุรกิจเสียหายได้ โดยเจ้าของธุรกิจต้องจ่ายภาษีและเงินซูเปอร์ทั้งหมดที่ท่านควรต้องจ่ายก่อนหน้านั้น รวมถึงค่าปรับที่ตามมาด้วย” คุณชัชรวี รัตนสมบูรณ์ เจ้าหน้าที่ของเอทีโอ กล่าวทิ้งท้าย
กดปุ่ม 🔊 ที่ภาพด้านบนเพื่อฟังฟังสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่คนไทยของเอทีโอ
รายการวิทยุ เอสบีเอส ไทย ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์ ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ
เรื่องราวที่น่าสนใจ
เล่าประสบการณ์ตรงถูกตรวจเชื้อโคโรนาในออสเตรเลีย