นักศึกษาต่างชาติและผู้อพยพย้ายถิ่นระยะสั้นหลายคนต้องที่พบเจอการเอารัดเอาเปรียบในสถานประกอบการสามารถเข้าถึงบริการทางด้านกฎหมายแบบใหม่ที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นหน่วยงานในโครงการมูลค่า $1.6 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเปิดตัวที่รัฐนิวเซาท์เวลส์ในวันนี้ (7 พ.ย.)
The Migrant Employment Legal Service (MELS) ศูนย์ให้บริการทางกฎหมาย เป็นตัวแทนและให้ความรู้ด้านกฎหมายในชุมชนสำหรับผู้อพยพย้ายถิ่นที่เป็นเหยื่อของการโกงค่าจ้าง หรือถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม
MELS เป็นโครงการที่ทำงานร่วมกับ Inner City Legal Centre, Redfern Legal Centre, Kingsford Legal Centre และ Marrickville Legal Centre ซึ่งได้ให้บริการคำปรึกษาด้านกฎหมายสำหรับประชาชนในเมืองต่าง ๆ โดยรอบ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
นายชามิลา บาร์กอน (Sharmilla Bargon) ทนายความจาก Redfern Legal Centre กล่าวว่า บริการใหม่นี้มีความสำคัญ โดยเฉพาะกับแรงงานอพยพย้ายถิ่นที่ตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกเอารัดเอาเปรียบในสถานประกอบการ
“ธุรกิจที่ไร้ซึ่งจริยธรรมเอารัดเอาเปรียบผู้อพยพย้ายถิ่นโดยการให้พวกเขาทำงานที่ได้รับค่าตอบแทนในอัตราที่ต่ำกว่ากฎหมายกำหนด ซึ่งสร้างแรงกดดันให้กับแรงงานอพยพย้ายถิ่นจนต้องละเมิดเงื่อนไขของวีซ่า เราพบเห็นผู้ถือวีซ่าบางคนถูกบีบบังคับให้ทำงานเป็นเวลามากกว่าที่กฎหมายอนุญาตไว้ที่ 40 ชั่วโมงต่อสองสัปดาห์ (20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) เพื่อให้มีรายได้เพียงพอที่จะอยู่รอด” นางบาร์กอนกล่าว
“หากแรงงานอพยพย้ายถิ่นเหล่านั้นไปร้องเรียน ก็จะถูกนายจ้างขู่ว่าจะทำให้พวกเขาโดนเนรเทศ สิ่งนี้ทำให้ลูกจ้างที่ถูกโกงปิดปากเงียบ และนั้นก็เป็นการเอารัดเอาเปรียบรูปแบบหนึ่ง”
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ธุรกิจ-ห้างร้านในออสเตรเลียที่จ่ายค่าจ้างตกหล่นในปี 2019
“แคทรีนา (Kateryna)” นักศึกษาต่างชาติคนหนึ่งเล่าว่า เธอได้รับค่าจ้างอยู่ระหว่างชั่วโมงละ $12 - 14 ดอลลาร์ จากสองงานแรกที่เธอทำในคาเฟ่เล็กๆ แห่งหนึ่งที่นครซิดนีย์
“เมื่อฉันได้รับค่าจ้าง พวกเขาจ่ายฉันมาเป็นเงินสด ไม่มีการทำสัญญาหรือข้อตกลงอะไร ฉันไม่ได้บันทึกเวลาทำงานเอาไว้ ซึ่งตอนนั้นฉันควรที่จะทำ แต่อันที่จริงแล้ว นายจ้างของฉันก็ไม่ทำบันทึกชั่วโมงทำงานเหมือนกัน” เธอเล่า“ไม่มีใครบอกฉันเลยว่าที่เป็นอยู่ในตอนนั้นมันดูแปลกๆ ชอบกล หรือมันไม่น่าจะถูกต้อง เพราะฉันถูกรายล้อมไปด้วยผู้คนที่พบเจอในสิ่งเดียวกัน”
Kateryna is an international student who experienced underpayment at work. Source: SBS
เดอะ ฟีด ได้พูดคุยกับนักศึกษาต่างชาติคนอื่นๆ ที่ได้รับค่าจ้างในอัตราเดียวกับเธอ ระหว่างที่ทำงานให้กับธุรกิจการบริการแห่งหนึ่งในนครซิดนีย์ ทั้งนี้ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย (ในปี 2019) นั้นอยู่ที่ $19.49 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง ซึ่งไม่รวมอัตราค่าจ้างทำงานในวันหยุด
นายมาร์ก สปีคแมน (Mark Speakman) อัยการสูงสุด ที่มาร่วมการเปิดตัวของศูนย์ให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย MELS ในวันนี้ (7 พ.ย.) กล่าวว่า นี่จะเป็นการเติมเต็มช่องว่างที่สำคัญในบริการทางกฎหมาย
“การขยายตัวของการโกงค่าจ้างในออสเตรเลียเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ ไม่ใช่แค่เพียงในธุรกิจขนาดเล็ก หรืองานเก็บเกี่ยวผลไม้ เรายังสามารถพบเห็นสิ่งนี้ได้ในธุรกิจขนาดใหญ่เช่นกัน” นายสปีคแมนกล่าว
นอกจากนี้ นายสปีคแมนยังได้ประมาณว่า ในเวลา 1 ปี จะมีผู้มารับบริการที่ศูนย์บริการทางกฎหมายแห่งนี้ประมาณ 1,000 คน
“มีผู้คนมากมายในหมู่คนจำนวนมากที่มีปัญหาด้านกฎหมาย และมันจะเป็นเรื่องรุนแรงโดยเฉพาะกับผู้ถือวีซ่าชั่วคราวที่กำลังเผชิญปัญหาด้านวีซ่า ที่ยังต้องพบเจอปัญหาด้านภาษา วัฒนธรรม และไม่ทราบว่าจะสามารถขอความช่วยเหลือทางกฎหมายโดยไม่เสียค่าบริการได้จากที่ไหน” นายสปีคแมนกล่าว
“ลูกจ้างในออสเตรเลียทุกคนควรได้รับค่าจ้างตามที่พวกเขาพึงได้รับ โครงการนี้จะทำงานสืบสาวไปจนถึงนายจ้างที่กระทำการเอารัดเอาเปรียบลูกจ้างเหล่านั้น”
ขณะนี้ แคทรีนา เป็นอาสาสมัครของศูนย์กฎหมายเมืองเรดเฟิร์น (Redfern Legal Centre) และบอกว่า หากเธอตระหนักรู้สิทธิและการสนับสนุนที่มีอยู่นั้น เธอคงจะทำอะไรที่แตกต่างออกไป
“ฉันหวังว่าทุกๆ คน ที่พบเจอสถานการณ์นี้จะลองพยายามทำอะไรสักอย่าง ตั้งคำถาม และอย่ากลัวที่จะขอความช่วยเหลือ” แคทรีนากล่าว
บริการช่วยเหลือด้านกฎหมายลูกจ้างอพยพย้ายถิ่น เปิดให้บริการแล้วตั้งแต่วันนี้ หรือโทรศัพท์ไปที่ 02 8002 1203 เพื่อนัดหมายพูดคุยกับทนายโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
หากคุณต้องการใช้บริการล่ามแปลภาษา โปรดโทรศัพท์ไปที่ 13 14 50 (TIS International) และแจ้งให้เจ้าหน้าที่โทรศัพท์ไปยัง MELS ที่หมายเลขโทรศัพท์ด้านบน
รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์ ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ
เรื่องราวที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย
ลูกจ้างร้านไทยชี้วิธีปลดแอกการถูกกดค่าจ้าง