คลิก ▶ ด้านบนเพื่อฟังพอดคาสต์
ย้อนกลับไป 20 ปีที่แล้ว ในช่วงเช้าที่เงียบสงบของวันที่ 26 ธันวาคม ปี พ.ศ 2547 หรือ คริสตศักราช 2004 ไม่มีใครล่วงรู้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ที่ถูกบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์แห่งความสูญเสีย
และเมื่อเข็มนาฬิกา บอกเวลาอีก 1 นาทีจะถึงเวลา 8 โมงเช้า ที่นอกชายฝั่งเกาะสุมาตรา เกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.0 ริกเตอร์ และทำให้เกิดคลื่นยักษ์ที่เรียกว่า สึนามิ ที่ได้ทำความเสียหายมหาศาลใน 14 ประเทศ คร่าชีวิตผู้คนมากกว่า 200,000 รายและมีคนสูญหายจำนวนมาก
Jirawan ‘Wan’ Chaisri, now live in Sydney, who was a survivor from Boxing day Tsunami in Thailand 2004 Credit: Supplied/ Jirawan Chaisri,
เธอเป็นผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์และเป็นผู้รอดชีวิตจากภัยพิบัติครั้งนั้น บอกเล่าเรื่องราวในเช้าวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ในขณะที่กำลังเตรียมตัวทำงานว่า เธอสังเกตเห็นสิ่งผิดปกติในทะเล
“มันยุบลงค่ะเห็นน้ำมันยุบลง เอ๊ะทําไมน้ำทะเลมันแห้งเร็วแบบยุบลงไปเลย ก็ยืนดูกัน ยืนสักประมาณ 10 15 นาที ทีนี้ก็มันเป็นมันเหมือนมืดมาเหมือนเหมือนดินกับแผ่นฟ้ามันจบกัน แล้วมันก็ใกล้เข้ามาหาเรา ใกล้เข้ามาที่เรายืนอยู่”
พวกพวกแท็กซี่หรือซาเล้งเค้าก็บอกอีหนูไป..วิ่ง เค้าบอกคลื่นยักษ์มาคุณ วรรณ จิรวรรณ ไชยศรี ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์สึนามิ
เจ้าของร้านนวดของคุณวรรณรีบขับรถกระบะพาพนักงานหนีไปหลบภัยที่วัดบนภูเขาใกล้ๆ
“ตอนนั้นก็เตรียมตัวกันจะวิ่งพอดีเจ้าของร้านเขาเอารถเอารถกระบะมาขนเอาลูกน้องเอาพนักงานวิ่งขึ้นเขากันค่ะ มันก็เหมือนกับมันไล่ตามตูดนั่นแหละ มันก็ขึ้นมาถึงตีนเขาอ่ะค่ะ”
คุณวรรณเล่าว่า พวกเขาหลบภัยอยู่ที่วัดถ้ำเสือ และเมื่อพวกเขากลับลงมาในอีกวันถัดไป คุณวรรณเล่าว่า ทุกอย่างพังราบเป็นหน้ากลอง
“พอขึ้นมันสงบก็ออกมา ที่บ้านพักที่พี่เช่าอยู่ ตรงคลองแห้งน้ำมันยุบไปแล้ว แต่ก็ต้องระวังอยู่เหมือนเดิม ยังไม่ได้ไปดูตอนในวันนั้นเพราะเจ้าหน้าที่เขาไม่ให้เข้า มีแต่นายหัวเข้าไป ไปดูร้านมันก็มีแต่น้ำมีแต่ทรายก็ช่วยกันเก็บ ช่วยกันล้าง ไม่มีสิ่งก่อสร้าง เรือหางยาวก็ซัดมาถล่มร้านก็พัง”
หลังคลื่นยักษ์พัดผ่าน
หลังจากที่คลื่นยักษ์พัดผ่าน เหลือทิ้งไว้แต่ ซากปรักหักพัง และความสูญเสียอย่างที่ไม่มีใครเคยจินตนาการ ทุกเมืองตกอยู่ในความโกลาหลเพราะสัญญาณไฟฟ้าหรือโทรศัพท์ มือถือ ถูกตัด
คุณ คิม ฐิติวรดา เคมป์ เคยเป็นผู้ประกาศข่าวที่อยู่ในเหตุการณ์สึนามิ Credit: Supplied
คุณ คิม ฐิติวรดา แสนพงษ์ เคมป์ (Kim) จากรัฐควีนสแลนด์ อดีตผู้ประกาศรายการวิทยุในจัหวัดภูเก็ต เล่าถึงความยากลำบากของการติดต่อสื่อสารในเวลานั้นว่า
“ไม่มีสัญญาณมือถือ ต้องใช้โทรศัพท์บ้าน ติดต่อประสานงานกับโรงพยาบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ ติดต่อที่บ้านไม่ได้ ไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ทุกคนตื่นตระหนก”
ไม่นานหลังจากนั้น ความช่วยเหลือก็หลั่งไหลมาไม่ขาดสายจาก องค์กร หน่วยงานต่างๆ เช่น กองทัพเรือไทยและหน่วยงานบริการเหตุฉุกเฉิน ได้เข้ามาในพื้นที่ประสบภัยเพื่อช่วยเหลือประชาชน ผู้บาดเจ็บ และกู้ร่างผู้เสียชีวิตจำนวนมหาศาลที่ติดอยู่ใต้ซากปรักหักพังและจมอยู่ใต้โคลนตม
คุณ ชีชะ ภาวัติ ปล้องคำ (Chicha) ช่างสักในเมลเบิร์น เล่าถึงประสบการณ์ในฐานะอาสาสมัครกับมูลนิธิร่วมกตัญญูในตอนนั้นว่า เมื่อทราบข่าวจากมูลนิธิ เขาและเพื่อนอาสาสมัครจึงขับรถจากกรุงเทพฯ ไปพังงา เพื่อช่วยบรรเทาทุกข์ เขาเล่าเหตุการณ์ที่ลืมไม่ลงนี้ว่า
“น้ำซัดเข้าไปหลายกิโลเมตร มีแต่ซากปรักหักพังฝังร่างคนเยอะมาก เราค้นหาร่างได้แค่ผิวๆ รู้ว่าอีกคนหลายพันถูกฝังอยู่ใต้โคลน”
Pawat ‘Chicha’ Plongkham), reflected on his experience as a young volunteer with the Ruamkatanyu Foundation during 2004 Tsunami in Thailand. Credit: Supplied/ Pawat ‘Chicha’ Plongkham
นอกจากอาสาสมัครจากหน่วยงานต่างๆ ในประเทศ ที่เร่งรุดให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากสึนามิครั้งประวัติศาสตร์แล้ว ยังมีความช่วยเหลือจากนานาชาติในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการส่งทีมค้นหาผู้รอดชีวิต และการพิสูจน์บุคคล
คุณ ปีเตอร์ เบนส์ (Peter Baines) ผู้ก่อตั้งองค์กร Hands Across the Water ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อดูแลเด็กกำพร้า 32 คนที่สูญเสียพ่อแม่จากสึนามิในปี 2004
เป็นส่วนหนึ่งของทีมทางนิติเวชจากออสเตรเลียที่ถูกส่งไปยังประเทศไทยในช่วงหลังเหตุการณ์สึนามิ และยังเป็นเจ้าของรางวัลเหรียญเกียรติยศแห่งออสเตรเลียในปี 2014
คุณ เบนส์ และได้เล่าความท้าทายในกระบวนการระบุตัวตนของผู้เสียชีวิตว่า
“ไม่กี่วันหลังจากที่เกิดสึนามิ เราทราบข่าวว่าว่ามีคนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติด้วย งานของเราคือเดินทางไปให้ความช่วยเหลือในกระบวนการพิสูจน์ตัวตน เพื่อให้ผู้ที่เสียชีวิตสามารถกลับไปบ้านและประกอบพิธีตามความเชื่อของพวกเขา คุณ ปีเตอร์กล่าวว่า
จากเหตุการณ์สึนามิในประเทศไทย เราได้ทำการพิสูจน์ตัวตนรวม 5,395 ราย ถือเป็นการดำเนินการระบุตัวผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์คุณ ปีเตอร์ เบนส์ อดีตทีมนิติเวชจากออสเตรเลีย
Peter Baines a formal Australian forensic team deployed to Thailand in the aftermath of the disaster.
หลังจากเหตุการณ์สึนามิในปี 2004 ประเทศไทยตระหนักว่าประเทศขาดการเตรียมพร้อมในการรับมือกับสีนามิในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยีและระบบเตือนภัย
แต่ในปัจจุบัน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ได้ลงทุนในระบบเตือนภัยหลายภัยพิบัติ ดำเนินการฝึกซ้อมสึนามิเป็นประจำ และมีพัฒนาแผนการจัดการภัยพิบัติระดับชาติ
และในส่วนของออสเตรเลีย โฆษกจากกรมอุตุนิยมวิทยาออสเตรเลียแจ้งกับ SBS Thai ว่าสึนามิครั้งนั้นทำให้เกิดการกระชับความร่วมมือการป้องกันภัยระหว่างประเทศ
“ก่อนปี 2004 ระบบเตือนภัยสึนามิของเรายังไม่ครอบคลุมเท่าไหร่นัก หลักๆ จะมุ่งเน้นไปที่การเตือนภัยในมหาสมุทรแปซิฟิก โดยใช้ข้อมูลจากศูนย์เตือนภัยสึนามิในฮาวาย แต่หลังจากเหตุการณ์สึนามิปี 2004 เราได้ร่วมมือกับนานาชาติเพื่อสร้างระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยสึนามิในมหาสมุทรอินเดียด้วย
ในปัจจุบัน เราสามารถออกคำเตือนได้ภายใน 30 นาทีหลังจากเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่” โฆษกของกรมอุตุนิยมวิทยา แห่งออสเตรเลียกล่าว
จากเหตุการณ์สึนามิในประเทศไทย ถือเป็นการดำเนินการระบุตัวผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ Credit: EPA/AAPImage
แม้ว่าออสเตรเลียจะไม่ด้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิที่ซัดชายฝั่งที่ทำให้เกิดความสูญเสียเหมือนเช่นที่เกิดในมหาสมุทรอินเดียปี 2004
แต่บทเรียนจากเหตุการณ์สึนามิในมหาสมุทรอินเดีย เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ทำให้ตระหนักว่าการเตรียมพร้อมและความร่วมมือระหว่างประเทศมีความสำคัญเพียงใด
ความทรงจำที่ลืมไม่ลง
แม้ว่าปีนี้ จะครบรอบ 2 ทศวรรษหลังจากเหตุการณ์สึนามิที่เกิดขึ้นในไทย แต่สำหรับคุณ คิม เหตุการณ์วันนั้นยังคงชัดเจนอยู่ในความทรงจำ
“ทุกวันที่ 26 ธันวาคม พี่หวังว่าวันนี้จะผ่านไปเร็วๆ ถึงแม้ว่าตัวเองจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่มันยังรู้สึกอยู่ตลอด ”
และสำหรับ คุณ วรรณ ผู้ที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งนั้น อย่างฉิวเฉียด เปิดเผยว่า สิ่งที่สวยงามอาจจะกลายเป็นน่ากลัวได้ เพียงเสี้ยวนาที
“ ในความรู้สึกที่เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่าง อะไรก็เกิดขึ้นได้”
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่