ระยะแรกๆ ของพระราชบัญญัติฟาร์มเพาะพันธุ์สัตว์เลี้ยงและร้านค้าสัตว์เลี้ยง หรือ Puppy Farms and Pet Shops Act (PFPS Act) เริ่มใช้เรียบร้อยแล้วในสัปดาห์นี้ โดยเป็นความพยายามที่จะกำจัดการเพาะพันธุ์ลูกสุนัขและลูกแมวอย่างทารุณ
ร่างกฎหมายใหม่ของรัฐวิกตอเรียจะห้ามร้านค้าสัตว์เลี้ยงไม่ให้ขายลูกสุนัขและลูกแมวจากผู้เพาะพันธุ์ ซึ่งร้านค้าต่างๆ ในตอนนี้จะต้องหาสุนัขและแมวมาจากสถานสงเคราะห์สัตว์ที่ได้รับการจดทะเบียน หรือองค์กรรับอุปถัมภ์ดูแลต่างๆ ภายในชุมชน
กฎหมายใหม่เหล่านี้มุ่งที่จะกำจัดสถานการณ์ที่ร้านสัตว์เลี้ยงนั้น เป็นจุดจำหน่ายลูกสุนัขจากแหล่งเพาะพันธุ์ขนาดใหญ่ต่างๆ และสนับสนุนการรับอุปถัมภ์สุนัขและแมวไร้ที่อยู่โดยผู้ที่สนใจจะเป็นเจ้าของ ในขณะนี้ สุนัข 43,900 ตัวเสียชีวิตลงในสถานสงเคราะห์ทุกปี
ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่มีการเปิดโปงการทำทารุณต่อสุนัขและลูกสุนัขซึ่งอยู่ในการเลี้ยงดูของแหล่งเพาะพันธุ์ขนาดใหญ่ โดยโพลความคิดเห็นซึ่ง Animal Welfare League of NSW จัดทำขึ้นเมื่อปี 2013 พบว่า 80% ของผู้คนในรัฐนิวเซาท์เวลส์เชื่อว่า ควรยกเลิกการทำฟาร์มลูกสุนัขไปเสีย
การที่รัฐวิกตอเรียห้ามร้านสัตว์เลี้ยงขายลูกสุนัขและลูกแมวนั้น คล้ายคลึงกับการที่รัฐแคลิฟอร์เนียห้ามการขาย “สุนัขจากโรงงาน” (puppy mill dogs) ในร้านสัตว์เลี้ยงเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว และรัฐแมรีแลนด์ก็นำกฎหมายที่คล้ายคลึงกันมาใช้เมื่อเดือนเมษายนปีนี้ แต่สิ่งที่ทำให้กฎหมายของรัฐวิกตอเรียนั้นไม่เหมือนใครก็คือ มีการจำกัดจำนวนของแม่พันธุ์ (fertile females) ที่จะอนุญาตให้กับเหล่านักเพาะพันธุ์เพื่อการค้า
สิ่งที่ทำให้กฎหมายของรัฐวิกตอเรียนั้นไม่เหมือนใคร
ในปี ค.ศ. 2020 การเริ่มจำกัดจำนวนแม่พันธุ์สำหรับนักเพาะพันธุ์ จะเป็นสิ่งที่กฎหมายของรัฐวิกตอเรียนั้นก้าวล้ำไปอีกขั้น โดยการจำกัดจำนวนดังกล่าวจะทำให้ธุรกิจต่างๆ ซึ่งดำเนินการโดยมีแม่พันธุ์ถึงกว่า 200 ตัวนั้นยุติลง ถึงแม้กลุ่มตัวแทนเพื่อสัตว์ต่างๆ จะยินดีกับการเริ่มต้นจำกัดจำนวนดังกล่าว หลายฝ่ายก็กล่าวหารัฐบาลระดับรัฐของพรรคแรงงานว่า ได้รับอิทธิพลจาก “นักกิจกรรมเพื่อสิทธิสัตว์”
ในระหว่างการไต่สวนโดยรัฐสภาหลายๆ ครั้ง ฝ่ายต่อต้านซึ่งรวมถึงร้านสัตว์เลี้ยงต่างๆ ตัวแทนจากอุตสาหกรรม นักเพาะพันธุ์สุนัขเพื่อการค้า และรัฐมนตรีของพรรคร่วม โต้แย้งว่า ไม่มี “พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์” ใดๆ ต่อการจำกัดจำนวนแม่พันธุ์สุนัขที่ 50 ตัว โดยฝ่ายตรงข้ามแย้งว่า จะเป็นการผลักดันให้การเพาะพันธุ์สัตว์นั้นเกิดขึ้น “ใต้ดิน” และยังทำให้เกิดความยากลำบากต่อชาวรัฐวิกตอเรียที่จะสามารถมีกำลังซื้อสุนัขพันธุ์เฉพาะทาง ซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างมาก รวมไปถึง “สุนัขดีไซเนอร์” ต่างๆ เช่นพันธุ์คาวูเดิล (Cavoodles)
ติดตามรายงานเจาะลึกเรื่อง วิกฤตการณ์พันธุ์แท้: สุนัขผิดรูปผิดร่างในนามของแฟชั่น ได้ที่วิดิโอด้านล่างนี้
เรื่องราวที่น่าสนใจจากเอสบีเอสไทย
โอกาสทางธุรกิจของอาชีพตัดแต่งขนสุนัข