องค์การอนามัยโลกได้กำหนดชื่อใหม่อย่างเป็นทางการให้กับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หลังได้ประกาศให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าวเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา
ดร.เท็ดโรส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ได้ประกาศชื่อใหม่ของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในการแถลงข่าวในวันนี้ (12 ก.พ.) ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
“เรามีชื่อใหม่สำหรับโรคระบาดนี้แล้ว นั่นก็คือ COVID-19” ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกกล่าว
ดร.เท็ดโรส กล่าวว่า อักษร CO ย่อมาจาก โคโรนา (Corona) ส่วนอักษร VI ย่อมาจาก ไวรัส (Virus) และอักษร D หมายถึง โรคระบาด (Disease) ขณะที่หมายเลข 19 นั้น คือเลขท้ายสองหลักของปีที่พบ นั่นคือปี 2019 ที่พบการระบาดในวันที่ 31 ธ.ค.ปีนั้น โดยทั้งหมดรวมกัน อ่านว่า "โควิด-สิบเก้า (COVID-19)"
โดยชื่อดังกล่าวได้ถูกตั้งขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างมลทินให้กับพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ สปีชีส์ของสัตว์ และกลุ่มชาติพันธุ์ ตามคำแนะนำในระดับนานาชาติ เพื่อหลีกเลี่ยงการการประณามหรือสร้างมลทิน
ก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยโลกได้ตั้งชื่อให้กับไวรัสโคโรนาชนิดใหม่นี้เป็นการชั่วคราวว่า โรคระบาดทางระบบหายใจแบบเฉียบพลัง 2019-nCoV (2019-nCoV Acute Respiratory Disease) ส่วนคณะกรรมาธิการสาธารณสุขของจีนกล่าวในสัปดาห์นี้ว่า ได้เรียกไวรัสดังกล่าวเป็นการชั่วคราวว่า โรคปอดบวมโนเวลโคโรนาไวรัส (Novel Coronavirus Pneumonia)
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ไวรัสโคโรนา: มีกลไกการทำงานและแพร่เชื้ออย่างไร?
ภายใต้แนวทางการตั้งชื่อขององค์การอนามัยโลกที่ได้ประกาศใช้เมื่อปี 2015 ได้แนะนำว่า ไม่ควรใช้ชื่อของสถานที่ เช่นเดียวกับชื่อของไวรัสอีโบลา (Ebola) และไวรัสซิกา (Ziga) ซึ่งเป็นสถานที่พบการแพร่ระบาดของไวรัสแต่ละชนิดเป็นครั้งแรกตามลำดับ ซึ่งปัจจุบัน เชื้อไวรัสทั้งสอง กลับถูกผู้คนเชื่อมโยงถึงสถานที่เหล่านั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะเดียวกัน แนวทางนี้ยังได้แนะนำให้หลีกเลี่ยงการใช้ชื่อทั่วไปอื่น ๆ ที่อาจเป็นการประณามภูมิภาคหรือกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ เช่น โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (Middle East Respiratory Syndrome) หรือไข้หวัดใหญ่สเปน (Spanish flu)
นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกระบุเพิ่มเติมว่า การใช้ชื่อสปีชีส์ของสัตว์ในชื่อไวรัสนั้นอาจสร้างความสับสน เช่น กรณีไวรัส H1N1 ซึ่งผู้คนนิยมเรียกว่าไข้หวัดสุกร (swine flu) ชื่อดังกล่าวสร้างผลกระทบให้กับอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรเป็นวงกว้าง แม้เชื้อไวรัสดังกล่าวจะติดต่อจากคนสู่คนมากกว่าจากสุกร
สำหรับสถานการณ์ไวรัสโควิด 19 ซึ่งพบการระบาดครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่น เมืองทางตอนกลางของประเทศจีน ขณะนี้มียอดผู้เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสนี้มากกว่า 1,000 คน และมีผู้ติดเชื้อทั่วโลกอย่างน้อย 42,000 คน
รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์ ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ
ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่
เรื่องราวที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย
ภาพความโกลาหลและการเฉลิมฉลอง กับอากาศที่สุดโต่งใน NSW