เฮย์มาร์เกต ย่านที่พลุกพล่านในตัวเมืองชั้นในของนครซิดนีย์ เป็นที่ตั้งไชน่าทาวน์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศออสเตรเลีย
ไชน่าทาวน์ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ปัจจุบันนี้นั้นเริ่มจากการกระจุกตัวกันของผู้อพยพย้ายถิ่นฐานชาวจีนในช่วงปีทศวรรษ 1920 ปัจจุบันไชน่าทาวน์เป็นที่รวมตัวกันของชุมชนผู้ย้ายถิ่นฐานชาวเอเชีย โดยมีร้านอาหารและร้านค้ามากมายเรียงรายกัน
แม้ว่าไชน่าทาวน์จะเริ่มขึ้นจากผู้ย้ายถิ่นฐานชาวจีน แต่จากการศึกษาวิจัยล่าสุดของมหาวิทยาลัยแมคควารี พบว่า ภาษาที่พูดกันมากที่สุดในย่านเฮย์มาร์เกต กลับไม่ใช่ภาษาจีนกลาง หรือภาษาจีนกวางตุ้ง แต่เป็นภาษาไทย
ดร.อลิซ ชิก ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาของมหาวิทยาลัยแมคควารี เป็นผู้ร่วมเขียนหนังสือชื่อ Multilingual Sydney ซึ่งแสดงให้เห็นว่านครซิดนีย์เป็นแหล่งรวมของภาษาต่างๆ ที่หลากหลายจากการที่มีผู้คนพูดภาษาไทย จีนกลาง อินโดนีเซีย จีนกวางตุ้ง และภาษาเกาหลี ในย่านเฮย์มาร์เกต ดร.ชิก กล่าวว่าไชน่าทาวน์ในปี 2018 นั้นเป็นเหมือนกับ “เอเชียนทาวน์” มากกว่า
ย่านไชน่าทาวน์ของซิดนีย์ ที่มีคนพูดภาษาไทยมากอันดับหนึ่ง แซงหน้าภาษาจีนกลาง (SBS) Source: SBS
“สิ่งที่เราพบเกี่ยวกับสถิติของย่านเฮย์มาร์เกตคือ มีคนพูดภาษาไทยกันมากเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด มีจำนวนร้อยละ 20.4 ซึ่งมากกว่าคนที่พูดภาษาจีนกลาง ซึ่งมีจำนวนร้อยละ 20” ดร.ชิก บอกกับ เอสบีเอส ภาษาจีนกลาง
"ภาษาอินโดนีเซีย มีอัตราร้อยละ 10 ภาษาจีนกวางตุ้ง มีร้อยละ 5 และภาษาเกาหลีมีร้อยละ 5"
รายงานดังกล่าวยังพบว่า เฮย์มาร์เกตเป็นย่านที่มีความหลากหลายด้านภาษามากที่สุดแห่งหนึ่งของซิดนีย์ด้วย เช่นเดียวกันกับย่านรีเจนส์ พาร์ก ย่านฮาเบอร์ฟิลด์ และย่านพารามัตตา
ดร.ชิก ชี้ว่าผู้คนที่พูดภาษาจีนกลางในซิดนีย์นั้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 71 ระหว่างปี 2011 ถึง 2016
เธอกล่าวว่า ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการที่มีการนับรวมนักเรียนต่างชาติในการสำรวจสำมะโนประชากรของออสเตรเลียด้วย
ชุมชนไทยในซิดนีย์นั้นจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมหลากหลายงานในย่านเฮย์มาร์เกตและบริเวณใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็นงานฉลองวันชาติของไทย งานไทยแลนด์ แกรนด์เฟสติวัล และงานสงกรานต์ หรือปีใหม่ไทยคุณตาบทิพย์ หงสเวส รองประธานกรรมการบริหารโรงเรียนภาษาไทยวัดพุทธรังสี บอกกับ เอสบีเอส ภาษาจีนกลาง ว่า ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีผู้คนพูดกันมากขึ้นในซิดนีย์ ในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา
ป้ายไทยทาวน์ ในย่านเฮย์มาร์เกต ซิดนีย์ (SBS) Source: SBS
มีคนไทยอยู่มากมาย มีร้านอาหารไทย มีการค้าขาย มีองค์กรต่างๆ และมีผู้คนที่ทำงานในตลาดแรงงาน คุณตาบทิพย์ กล่าว
“แล้วยังมีย่านไทยทาวน์ในซิดนีย์ด้วย”
“โดยทั่วไปแล้ว คนไทยให้ความสำคัญกับครอบครัว พวกเขาจะสนับสนุนอย่างมากให้ลูกหลายเรียนภาษาไทย และโดยเฉพาะการเรียนรู้วัฒนธรรมไทย” คุณตาบทิพย์ หงสเวส ระบุดร.ชิก ย้ำถึงความสำคัญของความหลากหลายทางภาษาในนครซิดนีย์
Dr Alice Chik was a co-editor of the book. Source: Macquarie University
“ฉันไม่ได้ตระหนักเรื่องนี้ในตอนนั้น แต่ซิดนีย์เป็นหนึ่งในเมืองใหญ่ที่มีความหลากหลายทางภาษามากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และความหลากหลายนั้นเป็นจุดแข็ง และเป็นลักษณะเด่นของซิดนีย์ทีเดียว” ดร.ชิก เผย
“ความหลากหลายทางภาษาเปิดประตูสู่มุมมองใหม่ๆ และวัฒนธรรมใหม่ๆ มันช่วยให้ซิดนีย์กลายเป็นสังคมที่มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น และมีความสามารถในการฟื้นสภาพได้เป็นอย่างดี การที่มีประชากรพูดได้หลากหลายภาษายังส่งผลดีต่อเศรษฐกิจด้วย”
จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งออสเตรเลีย เผยว่าขณะนี้ในนครซิดนีย์นั้น มีภาษาต่างๆ ที่ผู้คนใช้พูดกันถึงกว่า 300 ภาษา
ชมวิดีโอ เอสบีเอส ไทย พาเที่ยวย่านไทยทาวน์ ในซิดนีย์ ได้ด้านล่าง
ติดตามฟังรายการ เอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี เวลา 22.00 น.
เรื่องราวที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย
ชาวออสฯ 82% สนับสนุนการย้ายถิ่นเข้าประเทศ แต่วิตกเรื่องจำนวนประชากร