หน่วยงานเฝ้าระวังด้านยาของออสเตรเลีย ระบุว่า กำลังมีการนำเข้ายาซึ่งยังเป็นที่ถกเถียง และยังไม่ได้รับการพิสูจน์ เพื่อพยายามใช้ในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19
องค์กรกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพของออสเตรเลีย (TGA) ได้รายงานว่า มีการนำเข้าและการสั่งจ่ายยา ‘ไอเวอร์เม็กติน (Ivermectin)’ เพิ่มมากขึ้นในออสเตรเลีย โดยตัวยาดังกล่าวเป็นยาต้านไวรัส ที่ได้รับการรับรองโดยทีจีเอ ในการรักษาโรคติดเชื้อพยาธิตัวกลม โรคหิด และโรคผิวหนังอักเสบโรซาเชีย (Inflammatory Rosacea) แต่ไม่ได้รับการรับรองเพื่อใช้ในการรักษาโรคโควิด-19
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา รายการเดอะฟีด (The Feed) ของเอสบีเอส ได้ติดต่อสอบถามไปยังหน่วยงานสาธารณสุขออสเตรเลีย หลังพบประกาศที่ระบุว่า ยาชนิดดังกล่าวขาดแคลนในช่วงตั้งแต่วันที่ 2 - 23 ส.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจาก ‘ความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นอย่างกะทันหัน’ โฆษกสาธารณสุขออสเตรเลีย ระบุว่า ปัญหาการขาดแคลนยาไอเวอร์เม็กติน ในชื่อทางการค้า ‘สโตรเม็กตอล (STROMECTOL)’ ชนิดเม็ด 3 มิลลิกรัมบรรจุแผง ได้รับการแก้ไขแล้ว
ทีจีเอ ระบุบนเว็บไซต์ว่า ไม่สนับสนุนการใช้ยาไอเวอร์เม็กตินรักษาด้วยตนเองเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
“มันไม่มีหลักฐานที่เพียงพอในการสนับสนุนเพื่อรับรองใช้ยาไอเวอร์เม็กตินกับผู้ป่วยโรคโควิด-19” ทีจีเอกล่าวเสริม
เมื่อวันศุกร์ที่ 20 ส.ค. ที่ผ่านมา หน่วยงานสาธารณสุขรัฐมิสซิสซิปปีของสหรัฐ ฯ ได้ประกาศ หลังพบสายโทรศัพท์ที่โทรเข้ามายังศูนย์พิษวิทยาของรัฐมิสซิสซิปปีมากกว่าร้อยละ 70 มาจากผู้ที่ซื้อยาไอเวอร์เม็กตินมารับประทานเองจากร้านขายผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์
เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้องค์การอาหารและยาสหรัฐ ฯ (FDA) ต้องออกประกาศเตือนประชาชนเกี่ยวกับยาชนิดดังกล่าวแบบตรงไปตรงมาอย่างไม่เคยทำมาก่อน
“คุณไม่ใช่ม้า คุณไม่ใช่วัว นี่ไม่ได้ล้อเล่นนะ หยุดกินมันเดี๋ยวนี้” องค์การอาหารและยาสหรัฐ ฯ (FDA) โพสต์ลงบนทวิตเตอร์ของหน่วยงาน
ทั้งนี้ องค์การอาหารและยาสหรัฐ ฯ ได้รับรองการใช้ยาไอเวอร์เม็กตินด้วยขนาดเพียงเล็กน้อยเพื่อรักษาโรคพยาธิในคน โดยตัวยาที่มีความรุนแรงเป็นอันตรายต่อมนุษย์ได้ และใช้ฆ่าพยาธิในปศุสัตว์
ขณะเดียวกันในออสเตรเลีย นายเครก เคลลี (Craig Kelly) สมาชิกพรรคอิสระในสภาสหพันธรัฐ ได้ถูกแบนจากเฟซบุ๊กในข้อหา ‘เผยแพร่ข้อมูลบิดเบือน’ หลังแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับยาไอเวอร์เม็กตินบนสื่อสังคมออนไลน์นี้เกือบทุกวัน
แต่ถึงแม้จะถูกแบนจากเฟซบุ๊ก เขาก็ยังคงอวดอ้างถึงสรรพคุณของตัวยาดังกล่าวในการต่อต้านไวรัสโควิด-19 บนทวิตเตอร์ และเทเลแกรม
“จำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น ความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานที่มากขึ้น ทั้งหมดเป็นเพราะพวกเขาไม่อนุมัติการใช้ยาไอเวอร์เม็กติน” นายเคลลี โพสต์บนทวิตเตอร์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา
“ความคลั่งไคล้ในการระงับยาไอเวอร์เม็กติน กำลังปฏิเสธทางเลือกด้านสุขภาพ และกำลังทำให้เกิดความสูญเสีย” นายเคลลี ระบุในอีกโพสต์บนทวิตเตอร์โฆษกหน่วยงานสาธารณสุขออสเตรเลีย กล่าวว่า แม้จะมีการศึกษาวิจัยบางฉบับ ซึ่งเหผยแพร่บนเว็บไซต์ที่ไม่ได้รับการอ้างอิง หรือในวารสารทางการแพทย์รองชั้น แต่หน่วยงานกำกับดูแลและวารสารทางการแพทย์ชั้นนำระหว่างประเทศ มีความเห็นอย่างเป็นเอกฉันท์ ว่าหลักฐานด้านประสิทธิภาพทางคลินิก และความปลอดภัยของยาไอเวอร์เม็กตินในการรักษาโรคโควิด-19 นั้น ยังคงไม่เพียงพอในจุดนี้
Federal member for Hughes Craig Kelly has resigned from the Liberal Party. Source: AAP
นอกจากนี้ โฆษกหน่วยงานสาธารณสุขออสเตรเลียยังระบุอีกว่า คณะทำงานระดับชาติด้านหลักฐานทางคลินิกเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 (National COVID-19 Clinical Evidence Taskforce) ได้แนะนำว่า ไม่ควรใช้ยาไอเวอร์เม็กตินในการรักษาโรคโควิด-19 ภายนอกการทดลองทางคลินิก “โดยไม่ได้รับการรับรองที่เหมาะสม”
ศาสตราจารย์แอนดรูว์ แมคลัคแลน (Prof Andrew McLachlan) คณบดีเภสัชกรรม มหาวิทยาลัยซิดนีย์ กล่าวว่า เขาไม่รู้สึกประหลาดใจที่มีความต้องการยาไอเวอร์เม็กตินเป็นอย่างมาก ในช่วงการแพร่ระบาดใหญ่นี้
เรายังได้พบเห็นยาชนิดอื่น ๆ ที่ได้รับการกล่าวอ้างว่า สามารถใช้รักษาโรคโควิด-19 ได้เช่นกัน เช่น ไฮดร็อกซีคลอโรควิน ศาสตราจารย์แมคลัคแลน กล่าวกับเดอะฟีด
The World Health Organisation has said hydroxychloroquine is ineffective as a treatment for COVID-19 Source: AFP
ศาสตราจารย์แมคลัคแลน กล่าวว่า เขาได้พบกับข้อมูลบิดเบือนเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับยาไอเวอร์เม็กติน รวมถึงการป้องกันและรักษาโรคโควิด-19 ทางออนไลน์
“สิ่งนี้เกี่ยวข้องกับข้อมูลที่บิดเบือนหรือความเข้าใจผิดบ่อยครั้ง ซึ่งอาจรวมถึงเรื่องของความหวังลม ๆ แล้ง ๆ หรือการหาประโยชน์ในภายหลัง” ศาสตราจาย์แมคลัคแลน กล่าว
ศาสตราจารย์แมคลัคแลนยังระบุอีกว่า ตัวยาไอเวอร์เม็กตินนั้น ‘มีประวัติที่คลุมเครือ’ ในส่วนของการรักษาโรคโควิด-19
การศึกษาวิจัยจำนวนมากจนถึงขณะนี้แสดงให้เห็นว่า ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่ระบุได้ว่า ยาไอเวอร์เม็กตินมีประโยชน์ในการรักษาหรือป้องกันโรคโควิด-19 ทั้งการใช้ยาดังกล่าวเพียงชนิดเดียว หรือใช้ร่วมกับยาเสริม หรือยาปฏิชีวนะชนิดใดก็ตาม ศาสตราจารย์แมคลัคแลน กล่าว
ศาสตราจารย์แมคลัคแลน กล่าวอีกว่า ยาไอเวอร์เม็กติน ถูกระบุว่าเป็นยาที่อาจใช้รักษาโรคโควิด-19 ได้ จากพื้นฐานการทดลองในเซลล์ระบบปิดและภายในสัตว์ แต่อย่างไรก็ตาม จากการทดลงในช่วงแรกพบว่า ต้องใช้ตัวยาในความเข้มข้นที่สูงมาก เกินกว่าระดับที่สามารถทำได้ในร่างกายมนุษย์ จึงจะมีผลกับไวรัสโควิด-19
ขณะที่การวิจัยคุณภาพสูงที่มีการศึกษาเมื่อเร็ว ๆ นี้ และได้เผยแพร่ในวารสารทางการแพทย์ พบว่าไม่มีหลักฐานสนับสนุนที่แข็งแรงในการใช้ยาไอเวอร์เม็กติน เพื่อรักษาหรือป้องกันโรคโควิด-19 นอกเหนือจาก ‘การทดลองแบบสุ่มที่ถูกออกแบบขึ้นอย่างระมัดระวัง’
เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดได้ประกาศว่า พวกเขาจะเริ่มการศึกษาวิจัยยาไอเวอร์เม็กตินอีกครั้ง ในโครงการที่ชื่อว่า เพื่อสืบหาการรักษาสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 อย่างรุนแรงกว่ากลุ่มอื่น
ไอเวอร์เม็กติน ยังคงเป็นตัวยาที่น่าสนใจสำหรับการรักษาและป้องกันโรคโควิด-19 แต่คำถามสำคัญที่ยังต้องหาคำตอบนั้นยังคงอยู่ อย่างเช่น จำนวนโดส และระยะเวลาในการใช้ยาที่เหมาะสม และควรใช้ยานี้เมื่อผู้ป่วยโควิด-19 อยู่ในระยะใดของการติดเชื้อหรืออาการเจ็บป่วย ศาสตราจารย์แมคลัคแลน กล่าว
ศาสตราจารย์ จอห์น สเกอริตต์ (John Skerritt ) ประธานองค์กรกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพของออสเตรเลีย Source: AAP
“ทีจีเอไม่สามารถโน้มนาวให้บริษัทใด ๆ ยื่นจดทะเบียน หรือรับรองยาใด ๆ โดยปราศจากแบบคำร้องได้” โฆษกทีจีเอ กล่าวกับเดอะฟีด
โฆษกทีจีเอยังระบุอีกว่า แพทย์ยังสามารถสั่งจ่ายยาที่มีอยู่แล้วแบบไม่ตรงข้อบ่งใช้ได้ (off-label) บนพื้นฐานการตัดสินใจทางคลินิกของแพทย์ และความยินยอมของคนไข้
“มันไม่ผิดกฎหมาย และขึ้นอยู่กับดุลพินิจทางคลินิกของผู้สั่งยา ที่ได้พิจารณาถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นรวมถึงสรรพคุณทางยาแล้ว ภายใต้การตกลงยินยอมด้วยความสมัครใจ” โฆษกทีจีเอ กล่าว
เว็บไซต์ของทีจีเอ ยังได้แนะนำ ไม่ให้นำเข้ายาที่ไม่ได้รับการรับรองมายังออสเตรเลีย ด้วยเหตุผลเพื่อใช้ส่วนตัว
“ผลิตภัณฑ์ปลอม หรือที่รู้จักในฐานะผลิตภัณฑ์ปลอมแปลง ผลิตภัณฑ์ลอกเลียนแบบของแท้ อาจบรรจุส่วนผสมสำคัญที่ไม่ได้สำแดงและมีอันตราย ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ขายโดยร้านค้าออนไลน์ ที่ไม่จำเป็นต้องขอใบสั่งยาในการซื้อขาย อาจทำให้คุณอยู่ในความเสี่ยงที่เลวร้าย ในการได้รับผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ หรือมีความรุนแรง” ทีจีเอระบุบนเว็บไซต์
“ทีจีเอ ไม่ประเมินคุณภาพ ความปลอดภัย และประสิทธิภาพ ของผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้รับการนำเข้า ผ่านโครงการนำเข้าส่วนบุคคล (Personal Importation Scheme)”
หากคุณมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้ติดต่อขอรับการตรวจเชื้อได้ด้วยการโทรศัพท์ไปยังแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลข 1800 020 080
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย
โรคระบาดชะลอแผนตั้งครรภ์ของชาวออสเตรเลีย