เพียงสองปีหลังจาก อเล็กซ์ ชาง (Alex Chang) มาถึงออสเตรเลียจากประเทศเกาหลีใต้ ในเวลานั้นเขายังว่ายน้ำแทบไม่ได้ ตอนนี้เขาเป็นอาสาสมัครหน่วยกู้ชีพโต้คลื่นที่ชายหาดทามารามา ในนครซิดนีย์
“ผมไม่เคยคิดว่าจะได้เป็นอาสาสมัคร ผมดูรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ หรืออะไรสักอย่างที่เกี่ยวกับคนดูแลความปลอดภัยบนชายหาด แต่นั่นมันต่างไปจากตัวผมในตอนนี้มาก” นายชาง อายุ 40 ปี กล่าวกับเอสบีเอส นิวส์
“ปกติ ผมเป็นคนทำงานออฟฟิศ อยู่ในเมือง แต่ตอนนี้ผมใช้เวลาอยู่บนชายหาด”
นายชาง ตั้งใจที่จะช่วยผู้อพยพย้ายถิ่นคนอื่นๆ ให้ปลอดภัย ผ่านโครงการที่จัดโดยชมรม Surf Life Saving ซึ่งเขาอยู่ในสังกัดเขาบอกว่าเรื่องง่ายๆ อย่างการว่ายน้ำภายในพื้นที่ซึ่งมีการปักธงสีแดงสลับเหลือง อาจเป็นเรื่องที่สับสนสำหรับผู้ที่เพิ่งมาออสเตรเลียใหม่ๆ
40-year-old Alex Chang volunteers at Sydney's Tamarama Beach. Source: SBS News
“บางครั้ง มันอาจเป็นเรื่องพื้นฐานมากๆ ในออสเตรเลีย แต่สำหรับผู้ที่มาจากประเทศอื่นนั้นคงไม่ทราบว่าธงเหล่านั้นหมายถึงอะไร” นายชางกล่าว
นายชางกล่าวว่า ครั้งแรกที่เขาเห็นธงเหล่านั้นเป็นครั้งแรก เขาคิดว่ามันเป็นสัญญาณที่บอกว่า การโต้คลื่นในบริเวณนั้นอันตราย
With drownings increasing - people are being warned not to become complacent. Source: SBS News
การจมน้ำในออสเตรเลียที่เพิ่มขึ้น
ยอดผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำในออสเตรเลียนั้นเป็นที่น่าตกใจ โดยมีผู้สูงอายุและชาวออสเตรเลียที่มีภูมิหลังจากหลากวัฒนธรรมเป็นหนึ่งในนั้น เรื่องดังกล่าวเป็นสัญญาณที่เตือนให้ผู้คนใช้ความระมัดระวังเมื่อต้องอยู่ในน้ำอย่างจริงจัง รวมถึงเข้าร่วมโครงการอบรมที่อาจช่วยชีวิตคุณได้
จากรายงานการจมน้ำของหน่วยกู้ชีพในพระองค์แห่งออสเตรเลีย (Royal Life Saving’s Society’s National Drowning Report) ที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (16 ก.ย.) ระบุว่า มีชาวออสเตรเลียประสบเหตุจมน้ำ 276 คน ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มขึ้นจากสถิติของเมื่อปีก่อนร้อยละ 10
มีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำในพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเล 122 คน ซึ่งรวมถึงการเสียชีวิตบนชายหาด ตามโขดหิน หน้าผา และพื้นที่นอกชายฝั่ง อีก 101 คนเสียชีวิตบริเวณแม่น้ำลำธาร และอีก 31 คน เสียชีวิตในสระว่ายน้ำ
เจ้าหน้าที่กู้ชีพยังบอกว่า พฤติกรรมเสี่ยงอันตรายบริเวณแหล่งน้ำ และการว่ายน้ำไม่แข็งนั้น ยังคงส่งผลกระทบกับยอดผู้ประสบเหตุจมน้ำ
นางสเตซีย์ พิดเจียนส์ (Stacey Pidgeon) จากหน่วยกู้ชีพในพระองค์แห่งออสเตรเลีย กล่าวว่า ในขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตลดลงในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังคงมีกลุ่มเสี่ยงที่ยังทำให้ตัวเลขในครั้งนี้เพิ่มขึ้น
“ปีนี้เราพบเห็นตัวเลขเหตุจมน้ำที่เพิ่มขึ้นในหมู่ผู้มีภูมิหลังจากหลากวัฒนธรรม ทั้งในบริเวณแหล่งน้ำในประเทศ และบริเวณชายฝั่ง นอกจากนี้เรายังเห็นผู้สูงอายุจำนวนมากประสบเหตุจมน้ำในรอบสิบปีที่ผ่านมานี้เช่นกัน นั่นหมายถึงจำนวนผู้ประสบเหตุจมน้ำเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่” นางพิดเจียนกล่าว
ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้ตัวเลขผู้ประสบเหตุจมน้ำเพิ่มขึ้นในรอบ 10 ปี อย่างเช่น อุณหภูมิช่วงฤดูร้อนเมื่อปีก่อนที่สูงขึ้น มีส่วนทำให้ยอดผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำในฤดูร้อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปี
นอกจากนี้ จำนวนเหตุสลดที่มีผู้จมน้ำเสียชีวิตหลายคนยังเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดถึงร้อยละ 39
นายเชน ดอว (Shane Daw) ผู้จัดการด้านความปลอดภัยของหน่วยกู้ชีพในพระองค์แห่งออสเตรเลีย ได้เตือนให้ผู้คนเรียนรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ก่อนที่จะลงไปในน้ำ
“สิ่งที่เราอยากเห็นก็คือ ผู้คน ไม่ว่าพวกเขาจะไปที่แห่งใด ต่างเข้าใจว่าตรงไหนที่สามารถว่ายน้ำได้ เข้าใจว่าอะไรคือความเสี่ยง เข้าใจขีดจำกัดของตัวเอง และเข้าใจถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากในออสเตรเลียมีชายหาดถึงกว่า 12,000 แห่ง ไม่ว่าใครๆ ก็สามารถไปยังพื้นที่ซึ่งห่างไกล ไม่มีเจ้าหน้าที่คอยลาดตระเวน ดังนั้น มันจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่ทุกคนจะต้องเข้าใจว่า เจ้าหน้าที่กู้ชีพ ตำรวจน้ำ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะไม่สามารถอยู่กับคุณได้ทุกที่ในออสเตรเลีย” นายดอวกล่าว
ผู้อพยพย้ายถิ่นประสบเหตุจมน้ำเกือบ 1 ใน 4
ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ผู้ที่ประสบเหตุจมน้ำร้อยละ 27 เกิดในต่างประเทศ โดยในรายงานฉบับนี้ได้ระบุว่า ผู้ที่เกิดในประเทศอย่างไต้หวัน ซูดาน เกาหลีใต้ เนปาล และไอร์แลนด์นั้นเป็นสมาชิกในชุมชนออสเตรเลียที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
นายริชิ อาชารยา (Rishi Acharya) จากสมาคมชาวเนปาลในออสเตรเลีย กล่าวว่า ควรมีโครงการด้านความปลอดภัยทางน้ำที่มุ่งเน้นไปที่ผู้มีภูมิหลังจากหลากวัฒนธรรม เพื่อป้องกันการเกิดเหตุสลดในอนาคต“ในตอนนี้ โครงการเหล่านี้อยู่ในรูปแบบภาษาอังกฤษ ดังนั้นเนื้อหาในบางส่วนอาจยังไม่เหมาะสม หรืออาจไม่สามารถเข้าใจได้” นายอาชารยากล่าวกับเอสบีเอส นิวส์
Rishi Acharya from the Nepalese Australian Association. Source: SBS News
“มันคงเป็นเรื่องที่ดี หากโครงการเหล่านี้พัฒนาและมุ่งเน้นให้ความรู้ผู้ที่มีภูมิหลังหลากวัฒนธรรมในชุมชนของเรา”
Source: SBS News
รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์ ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ
เรื่องราวที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย
Settlement Guide: สนุกอย่างไรไม่ให้จมน้ำ