นักวิจัยกล่าวว่า อายุขัย (life expectancy) ของเด็กซึ่งเกิดในวันนี้อาจลดลงโดยเฉลี่ย 20 เดือนเนื่องจากอันตรายต่อสุขภาพโดยมลภาวะทางอากาศ
รายงานสถานะของอากาศทั่วโลกประจำปี (annual State of Global Air report) กล่าวว่า อายุขัยของเด็กๆ นั้นอาจลดลงได้มากกว่า 30 เดือนในประเทศทางตอนใต้ของทวีปเอเชีย ซึ่งมีระดับของมลภาวะในอากาศสูงที่สุด
รายงานดังกล่าวถูกเผยแพร่โดย สถาบันเฮลธ์เอฟเฟ็กส์ (Health Effects Institute) กลุ่มทำการวิจัยที่ไม่หวังผลกำไรในสหรัฐฯ โดยรายงานได้กล่าวว่า มลภาวะทางอากาศเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับที่ห้า ที่คร่าชีวิตคนในแต่ละปีมากกว่าอุบัติเหตุบนท้องถนนและโรคมาลาเรีย“อนาคตของเด็กนั้นเป็นเรื่องสำคัญยิ่งต่ออนาคตของสังคมทุกๆ แห่ง และพยานหลักฐานล่าสุดนี้ก็แนะให้เห็นถึงชีวิตที่สั้นลงหากใครก็ตามเกิดในสถานที่ซึ่งมีอากาศพิษ” ประธานของสถาบันเฮลธ์เอฟเฟกส์ นายแดน กรีนบอม กล่าว
ฝุ่นควันในอากาศซึ่งสามารถมองเห็นได้ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย (Image source: FredTC via Wikimedia Commons/CC BY-SA 4.0) Source: FredTC via Wikimedia Commons/CC BY-SA 4.0
การวิเคราะห์พบว่า การได้รับมลภาวะทางอากาศเป็นระยะยาวทั้งภายในอาคารและภายนอกเป็นสาเหตุของการตายจำนวนห้าล้านรายในปี ค.ศ. 2017 โดยการเสียชีวิตเป็นผลที่ตามมาจากโรคหลอดเลือดในสมอง หัวใจวาย เบาหวาน มะเร็งปอด และโรคปอดเรื้อรัง
สำหรับมลภาวะในครัวเรือน งานวิจัยได้ระบุว่าต้นตอหลักๆ นั้นรวมถึงการเผาเชื้อเพลิงซึ่งก่อให้เกิดควันเช่นไม้หรือถ่านหินสำหรับประกอบอาหาร
ด้านที่มาหลักๆ ของมลภาวะภายนอกอาคารได้แก่ยานพาหนะ การปลดปล่อยจากอุตสาหกรรม เช่นเดียวกันกับโรงงานไฟฟ้าซึ่งเผาถ่านหิน
รายงานกล่าวว่าประมาณครึ่งหนึ่งของการตายในปี 2017 เกิดขึ้นในประเทศจีนและอินเดีย โดยมีการตายก่อนวัยอันควรเป็นจำนวนกว่า 1.2 ล้านรายสำหรับแต่ละประเทศทั้งสองแห่งในปีดังกล่าว
และในขณะที่ประเทศจีนได้รุดหน้าในการลดมลภาวะทางอากาศ รายงานพบว่าประเทศซึ่งมีการเพิ่มของมลภาวะมากที่สุดตั้งแต่ปี 2010 ได้แก่ปากีสถาน บังกลาเทศ และอินเดีย
ผลสรุปของรายงานได้แสดงให้เห็นว่า “เรากำลังพบเป็นจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกๆ ปี” ในเรื่องของผลกระทบต่อสุขภาพซึ่งมีสาเหตุมาจากมลภาวะในอากาศ จากคำกล่าวของนายอลาสแตร์ ฮาร์เปอร์ หัวหน้าของหน่วยงานที่ผลักดันเรื่องดังกล่าวขององค์กรยูนิเซฟแห่งสหราชอาณาจักร (Unicef UK) ซึ่งเป็นหน่วยงานตัวแทนเพื่อเด็กของสหประชาชาติสาขาประเทศอังกฤษ
เขากล่าวว่าตัวอย่างของความเสี่ยงต่างๆ ต่อเด็กซึ่งได้รับมลภาวะทางอากาศได้แก่ โอกาสที่จะเกิดอันตรายต่อพัฒนาการของสมอง ความจุของปอดที่ลดลง และการเริ่มเกิดปัญหาอื่นๆ เช่นหอบหืด
“เด็กๆ นั้นบอบบางเป็นพิเศษ เนื่องจากความเป็นจริงที่ว่าพวกเขากำลังเจริญเติบโต และหายใจถี่กว่าผู้ใหญ่” คุณฮาร์เปอร์กล่าว
“เราไม่มีข้ออ้างใดๆ เลยที่จะยืนดูเฉยๆ แล้วก็ไม่ทำอะไร มันเป็นหน้าที่ของรัฐบาลทั่วโลกที่จะต้องทำอะไรก็ตามลงไปในเรื่องนี้”
รายงานดังกล่าวจัดทำขึ้นโดยร่วมกับสถาบันเพื่อมาตรวัดและการประเมินผลด้านสุขภาพ (Institute for Health Metrics and Evaluation) ณ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
ตามหาอากาศบริสุทธิ์ที่สุดในโลก ให้มาที่รัฐแห่งนี้ในออสเตรเลีย
ติดตามฟังรายการ เอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี เวลา 22.00 น.