สาวซิดนีย์เผยถูกมอมยาในเครื่องดื่มที่บาร์

ซาช่า* เพิ่งดื่มไปแก้วแรก เมื่อเธอเริ่มตาพร่ามัวและรู้สึกว่าศีรษะของเธอหมุนติ้ว เธอบอกกับ The Feed (เดอะ ฟีด) ว่า เธอโชคดีที่รอดตายมาได้ หลังจากเชื่อว่าตนเองถูกมอมยาในเครื่องดื่มที่บาร์แห่งหนึ่งในนครซิดนีย์

sasha

Source: Supplied

ซาช่า กำลังรอเพื่อนคนหนึ่งอยู่ที่บาร์แห่งหนึ่ง เมื่อมีคนที่บาร์ชวนให้เธอไปร่วมดื่มกับกลุ่มของพวกเขา

“พวกเขาดูเป็นมิตรดีและเสนอที่จะซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ฉัน แต่ฉันปฏิเสธ เพราะฉันไม่รับเครื่องดื่มจากคนแปลกหน้า” ซาช่า เล่า

แต่เพื่อนของเธอกลับไม่มาตามนัด เธอจึงซื้อค็อกเทลแก้วเล็กๆ มาดื่มและนั่งคุยกับคนกลุ่มนั้น

แต่เพียง 5 นาทีหลังจากที่เธอดื่มหมดแก้ว เธอจึงรู้สึกว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น

“ฉันรู้สึกไม่สบายเอามากๆ รู้สึกเหมือนห้องหมุนติ้ว และฉันเริ่มสะลึมสะลือ”

“ฉันมีเหงื่อแตก ฉันรู้สึกเหมือนลอยไปมา มันเป็นความรู้สึกที่ประหลาดที่สุด”

ซาช่า ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวแบบสะพายเป้ วัย 20 ปีเศษ กล่าวว่า ไม่ใช่ครั้งแรกที่เธอถูกมอมยาในเครื่องดื่ม ดังนั้น เธอจึงรู้ดีว่า เธอจะต้องหาความช่วยเหลือทันที

“ฉันรู้สึกว่า ฉันจำเป็นต้องออกจากตรงนั้น มันไม่ปลอดภัย ฉันจึงไปเข้าห้องน้ำและพยายามโทรศัพท์หาเพื่อน ฉันโทรไปหาเพื่อนๆ แต่พวกเขาไม่รับโทรศัพท์ เพราะพวกเขาก็กำลังดื่มกันอยู่” เธอบอกกับ เดอะ ฟีด

ซาช่า กล่าวว่า สิ่งสุดท้ายที่เธอจำได้เกี่ยวกับค่ำคืนนั้น คือ เธอกล่าวลาคนกลุ่มนั้น

ความทรงจำที่ขาดหายไปของซาช่า กลับมาปะติดปะต่อจากแม่ของเธอ ที่เธอได้โทรศัพท์ไปหาขณะร่ำไห้ และจากบรรดาแพทย์ที่เธอตื่นขึ้นมาพบในโรงพยาบาล

“ฉันอาเจียนครั้งแล้วครั้งเล่าและเริ่มรู้สึกสะลึมสะลืออย่างมาก”

“ฉันโทรศัพท์ไปหาแม่ แล้วเธอจึงโทรไปหาที่ที่ฉันพักอยู่ ผู้จัดการของที่นั่นจึงได้โทรเรียกรถพยาบาลมาให้” ซาช่า กล่าว

ซาช่า เล่าว่า เจ้าหน้าที่ฉุกเฉินบนรถพยาบาลบอกเธอภายหลังว่า ตอนนั้นเธออยู่ในภาวะที่ “ค่อนข้างอันตราย”

“เมื่อฉันตื่นขึ้นมา (ในโรงพยาบาล) และแพทย์อธิบายว่าเกิดอะไรขึ้น และบอกว่า ‘เรามีเหตุผลที่เชื่อว่าคุณถูกมอมยาและคุณกำลังไม่สบายอย่างมาก’ แต่ฉันจำไม่ได้มากนักเกี่ยวกับคืนนั้น” ซาช่า กล่าว
sasha
Sasha has reported the spiking to the police. Source: Supplied

การมอมยาในเครื่องดื่มพบได้บ่อยแค่ไหน?

คุณเมลินดา ลูคัส จากมูลนิธิแอลกอฮอล์และยาเสพติด บอกกับ เดอะ ฟีด ว่า ยากที่จะรู้ได้ว่าการมอมยาในเครื่องดื่มนั้นเกิดขึ้นแพร่หลายเพียงใด เนื่องจากไม่ค่อยมีการแจ้งความเกี่ยวกับกรณีที่เกิดขึ้นและไม่ค่อยมีการศึกษาวิจัยในเรื่องนี้

“การไม่ค่อยแจ้งความเกี่ยวกับกรณีเหล่านี้โดยมากมาจากความกลัวว่าจะไม่มีใครเชื่อ” คุณลูคัส กล่าว

“เรายังต้องพยายามอีกมากเพื่อจะทำให้ผู้คนมั่นใจว่า จะมีคนเชื่อ หากพวกเขาบอกว่า มีสิ่งผิดปกติ”

คุณลูคัส กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยที่ทำในช่วงปี 2000 เป็นต้นมา สถิติชี้ว่า เหตุการณ์มอมยาในเครื่องดื่มนั้นเกิดขึ้นบ่อยกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

“มีเหตุผลหลากหลายที่ใครคนหนึ่งอาจเลือกวางยาในเครื่องดื่มของคนอื่น เช่น เริ่มจากการทำเล่นๆ ในหมู่เพื่อนฝูง ซึ่งสามารถเลยเถิดไปได้อย่างรวดเร็ว และจำเป็นต้องมีการย้ำเตือนว่า ความจริงแล้ว มันเป็นการทำผิดกฎหมายอาญา” คุณลูคัส ยกตัวอย่าง

“อีกสาเหตุหนึ่งมักจะเป็นเพื่อการขโมยของ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ร้ายแรงเมื่อใครคนหนึ่งอาจมอมยาคนอื่น เพื่อก่ออาชญากรรมกับบุคคลนั้น”

Image

คุณลูคัส กล่าวว่า สัญญาณของการถูกมอมยาในเครื่องดื่ม อาจได้แก่อาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน พูดออกเสียงไม่รู้เรื่องเหมือนคนเมา หรือรู้สึกหน้ามืดตาลาย หรือรู้สึกมึนเมามากกว่าที่ควรจะเป็น

เธอกล่าวต่อไปว่า การมอมยาในเครื่องดื่ม “อาจเกิดขึ้นที่ใดก็ได้” ตั้งแต่ที่งานเลี้ยงที่จัดขึ้นที่บ้าน หรือในการรวมกลุ่มกันกลุ่มเล็กๆ ไปจนถึงในเทศกาลดนตรี

“สิ่งที่เราต้องการคือ ให้ผู้คนระมัดระวังและสามารถรู้ได้ว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น และให้รีบขอความช่วยเหลือ สิ่งที่ดีที่สุดที่ควรทำคือ ให้แจ้งพนักงานบาร์และต้องให้มีคนที่คุณไว้ใจอยู่กับคุณตลอดเวลา”

“มันน่ากลัวที่จะมองย้อนไปว่า มันอาจเกิดอะไรขึ้นได้บ้างในคืนนั้น”

ซาช่า ผู้ซึ่งไม่เคยใช้ยาเสพติดอย่างสมัครใจด้วยตนเอง กล่าวว่า ตอนนี้ เธอรู้สึกหวาดกลัวที่จะออกไปสังสรรค์ และประสบการณ์ที่เกิดขึ้นนำความทรงจำที่เลวร้ายเกี่ยวกับการถูกมอมยาครั้งก่อนกลับมา

“โชคร้ายที่อีกคนหนึ่งที่มอมยาฉันเป็นคนที่ฉันรู้จัก ซึ่งมีความประสงค์ร้ายกับฉัน”

“ฉันถูกมอมยาด้วยปริมาณยาที่อาจทำให้ตายได้เมื่อไม่กี่ปีก่อน และครั้งนั้น ฉันถึงกับน้ำลายฟูมปากและมีอาการชัก ดังนั้น ครั้งนี้ เมื่อฉันเริ่มรู้สึกว่าไม่สบาย มันจึงนำฉันกลับไปสู่สถานการณ์แบบนั้นอีก ฉันรู้สึกว่า ตายแล้ว เหตุการณ์เดิมกำลังจะเกิดกับฉันอีกแล้วหรือนี่ ฉันกลัวมาก ฉันกำลังอยู่ในประเทศที่ฉันไม่มีญาติพี่น้องอยู่เลย”

ซาช่า เชื่อว่า หากเธอไม่ขอความช่วยเหลือในคืนนั้น อาจมีสิ่งเลวร้ายอย่างที่สุดเกิดขึ้นกับเธอ

“ฉันโชคดีมากที่ออกมาจากที่นั่น และฉันพักอยู่ไม่ไกลจากบาร์นั้น เพราะฉันอาจหมดสติข้างถนน ใครจะรู้ว่าอาจเกิดอะไรขึ้นกับฉันบ้าง” ซาช่า กล่าว

“หลังออกจากโรงพยาบาล ฉันยังคงรู้สึกหมดเรี่ยวหมดแรง บางทีที่ฉันเดินไปสุดถนนเพื่อไปรับแสงแดด ฉันก็จะรู้สึกเหมือนอยากจะนอนหลับอยู่ตรงนั้นเลย” ซาช่า เสริม

เธอได้แจ้งความกับตำรวจเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว และขณะนี้กำลังมีการสืบสวนกรณีที่เกิดขึ้น เธอหวังว่าเรื่องราวของเธอจะช่วยคนอื่นๆ

“ฉันเกือบจะไม่ไปแจ้งความกับตำรวจ เพราะฉันคิดว่า ปฏิกิริยาแรกของพวกเขาคงจะบอกว่า ‘คุณอาจจะดื่มมากเกินไป’ แต่สำหรับฉันแล้ว มันไม่ได้มาจากการดื่มมากเกินไป เพราะความจริงแล้ว ฉันดื่มไปแก้วเดียว” ซาช่า กล่าว

“ใช่ ที่คุณต้องรับผิดชอบเองในการดูแลเครื่องดื่มของตนเองให้ปลอดภัย แต่ผู้อื่นที่อยู่รอบตัวคุณต้องรับผิดชอบกับการกระทำของพวกเขาเช่นกัน และคุณไม่สามารถโทษตัวเองได้หากมีอะไรเกิดขึ้น”

*มีการเปลี่ยนชื่อผู้เล่า เพื่อรักษาความเป็นส่วนตัว

หากคุณสงสัยว่าตนอาจตกเป็นเหยื่อของการมอมยา คุณควรแจ้งความกับตำรวจ คุณสามารถติดต่อ  หรือ  เพื่อขอการสนับสนุน

คุณยังสามารถรายงานเหตุการณ์การถูกมอมยาได้อย่างเป็นความลับกับสายด่วนมูลนิธิแอลกอฮอล์และยาเสพติดที่หมายเลขโทรศัพท์ 1300 858 584


รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 



Share
Published 4 September 2020 1:01pm
By Eden Gillespie
Presented by Parisuth Sodsai
Source: The Feed


Share this with family and friends