แม้ว่าตามพื้นที่กลางใจเมืองนครซิดนีย์ ลูกค้าจะพากันกลับมาแล้ว แต่สำหรับธุรกิจด้านการบริการ (hospitality) หลายๆ แห่งนั้น การขาดแคลนลูกจ้างยังคงเป็นปัญหาเรื้อรัง
คุณ ฟิลิป บาร์บาโร เจ้าของร้านกาแฟหลายแห่งในซิดนีย์ กล่าวในเรื่องนี้ว่า
“เราขาดแคลนลูกจ้างในหลายๆ ร้าน มันลำบากเพราะเราผ่านวิกฤตโควิดมาแล้วในตอนนี้ ธุรกิจจึงเริ่มมีการค้าขายมากขึ้น แต่การจะได้ลูกจ้างที่มีทักษะหรือมีความรู้เฉพาะเกี่ยวกับงานบริการนั้นยากมาก แล้วยิ่งตอนนี้ เราต้องก้าวต่อไปโดยที่พรมแดนระหว่างประเทศยังปิดอยู่ ผมรู้ดีว่าเราต้องทำในสิ่งที่ต้องทำ แต่มันจะยากลำบากมาก”
นี่เป็นปัญหาเดียวกันทั่วที่เกิดขึ้นทั่วประเทศออสเตรเลีย
และนางแอนนาสตาเชีย พาลาส์เชค์ (Annastacia Palaszczuk) มุขมนตรีควีนส์แลนด์ กำลังทำทุกอย่างเพื่อดึงดูดการท่องเที่ยวและลูกจ้างด้านการบริการ (hospitality) ให้มายังพื้นที่ทางเหนือสุดของรัฐควีนส์แลนด์
“โครงการเวิร์ก อิน พาราไดซ์ (Work in Paradise) ของเรา หรืออย่างที่ฉันอยากเรียกมันว่างานในพื้นที่ดั่งสวรรค์ เป็นโครงการที่ให้สิ่งจูงใจ ซึ่งจะให้เงิน 1,500 ดอลลาร์แก่คุณ เพื่อให้คุณมาที่นี่และทำงานที่นี่ เราต้องการคุณ เราต้องการให้คุณมาที่นี่และมาทำงานในพื้นที่ดั่งสวรรค์” นาง พาลาส์เชค์ มุขมนตรีควีนส์แลนด์ กล่าว
โครงการรณรงค์ด้วยทุนดำเนินการ 7.5 ล้านดอลลาร์นี้จะเริ่มต้นตั้งแต่ 1 กรกฎาคมนี้ ก่อนฤดูกาลท่องเที่ยวของพื้นที่เหนือสุดของควีนส์แลนด์จะเริ่มขึ้น
นายมาร์ก ออลเซน ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวพื้นที่ร้อนชื้นทางเหนือของควีนส์แลนด์ (Tourism Tropical North Queensland) กล่าวว่า
“ที่นี่เป็นสวรรค์ แต่มันไม่ใช่เพราะสวรรค์ที่ทำให้แตกต่าง แต่มันคือผู้ที่ทำให้เกิดความแตกต่าง มันคือแรงงานที่มีทักษะมีความสามารถ ซึ่งสร้างความทรงจำที่น่าประทับใจเหล่านั้นให้เรา และสิ่งที่เราต้องการทำในฤดูหนาวนี้คือ ช่วยเหลือธุรกิจเหล่านั้นมากมาย ที่กำลังพยายามหารายได้มาอุดช่องโหว่ 2,000 ล้านดอลลาร์ที่เกิดเพราะโควิดในปี 2020”
ควีนส์แลนด์มีนักท่องเที่ยวภายในประเทศไหลบ่าเข้าไปเป็นจำนวนมากนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่ผู้ประกอบการท้องถิ่นในควีนส์แลนด์กลับไม่สามารถฉวยประโยชน์จากการท่องเที่ยวที่เฟื่องฟูขึ้นได้ เนื่องจากการขาดแคลนลูกจ้าง
ผู้ประกอบการบางรายถึงขนาดรับการจองเพียงร้อยละ 80 ของศักยภาพที่รองรับได้เท่านั้น
คุณนาทาสเชีย วีเลอร์ ผู้อำนวยการใหญ่ของ องค์การท่องเที่ยวเกาะวิตซันเดย์ (Tourism Whitsundays) กล่าวว่า
“เราได้เรียกร้องให้รัฐบาลของเราทุกระดับพิจารณาว่าจะช่วยเหลือเรื่องนี้ได้อย่างไร จนถึงขณะนี้พวกเราได้ทำงานกันอย่างดีเยี่ยมในการดึงดูดการท่องเที่ยวและผลักดันความต้องการ ซึ่งเรายินดีกับความก้าวหน้าที่เกิดขึ้น แต่ขณะนี้ เราจำเป็นต้องเติมเต็มความต้องการแรงงาน เพื่อทำให้แน่ใจได้ว่าอุตสาหกรรมของเราสามารถดำเนินธุรกิจอย่างเต็มศักยภาพสูงสุดได้ และสามารถให้บริการหรือให้ในสิ่งที่ผู้บริโภคกำลังมองหาได้”
แต่บางคนกล่าวว่า เงิน 1,500 ดอลลาร์อาจไม่เพียงพอ หากพิจารณาถึงค่าใช้จ่ายในการย้ายไปอาศัยอยู่ในรัฐอื่น
ขณะที่ เจ้าของธุรกิจในพื้นที่อื่นๆ เกรงว่า โครงการนี้อาจทำให้ปัญหาการขาดแคลนลูกจ้างของพวกเขาเลวร้ายยิ่งขึ้น
คุณฟิลิป บาร์บาโร เจ้าของร้านกาแฟ ในซิดนีย์ แสดงความเห็นว่า
“มันไม่ใช่แค่ควีนส์แลนด์ มันเกิดขึ้นทั่วประเทศ พวกเรากำลังประสบการขาดแคลนลูกจ้าง ขาดแคลนลูกจ้างที่มีทักษะ ขาดแคลนเชฟ ขาดบาริสต้า ขาดพนักงานเสิร์ฟ เรากำลังพบว่ามันยากลำบากที่จะจ้างพนักงานใหม่"
"ผมคิดว่าโครงการนี้ฉลาดมาก คุณกลาดิส (มุขมนตรีรัฐนิวเซาท์เวลส์) เราน่าจะทำแบบนี้กันบ้างไหม”
โครงการเวิร์ก อิน พาราไดซ์ (Work in Paradise) ของควีนส์แลนด์ ยังแจกบัตรกำนัลการเดินทาง (travel vouchers) และช่วยเหลือด้านที่พักอาศัยราคาประหยัด
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่