หน่วยงานสูงสุดซึ่งเป็นตัวแทนของเหล่าเภสัชกรกำลังกระตุ้นเตือนให้สมาชิกนั้นหยุดขายผลิตภัณฑ์ “ทางเลือก” และโฮมีโอพาธีแก่ผู้ป่วยหากว่าไม่มีพยานหลักฐานทางการแพทย์ที่แสดงให้เห็นว่าสามารถรักษาหรือป้องกันความเจ็บป่วยได้
สมาคมเภสัชกรรมแห่งออสเตรเลีย (Pharmaceutical Society of Australia หรือ PSA) ได้ทำการเรียกร้องดังกล่าว ภายใต้แนวทางปฏิบัติหกข้อใหม่ ซึ่งได้รับการเผยแพร่โดยเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ที่กว้างขวางโดยกลุ่มเอ็นพีเอสเมดิซินไวส์ (NPS Medicine Wise) เพื่อสนับสนุนให้ผู้เชี่ยวชาญทางคลินิกและผู้ป่วยนั้นพูดคุยเกี่ยวกับการตรวจ การรักษา และหัตถการต่างๆ ที่ไม่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ใดๆ
โดยพีเอสเอได้กล่าวว่า หากผู้ป่วยเลือกซื้อการรักษาแบบโฮมีโอพาธีซึ่งไม่มีพยานหลักฐานว่าได้ผล ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพก็ควรจะทำการพูดคุย ถึงการขาดประโยชน์ของการรักษาเหล่านั้นและอาจยังเป็นการที่ผู้ป่วยนำสุขภาพของตนเองเข้าเสี่ยง
แนวทางการปฏิบัติยังได้เร่งกระตุ้นให้เหล่าเภสัชกรนั้นไม่แนะนำยาที่มีลักษณะเสริมการรักษา หรือ “ทางเลือก” เช่นวิตามินต่างๆ ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรและการรักษาด้วยกลิ่น นอกเสียจากว่ามีหลักฐานว่ามีประโยชน์
“เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์โฮมีโอพาธีนั้น ไม่มีพยานหลักฐานที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับประสิทธิผล” ประธานระดับชาติของ PSA ดร. คริส ฟรีแมน กล่าว
“ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพควรจะใช้เวลาเพื่อหารือกับผู้บริโภคทางสุขภาพที่กำลังใช้หรือพิจารณาว่าจะใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ เหล่านี้ถึงการไม่มีประสิทธิผลใดๆ และความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากการปฏิเสธหรือรับการรักษาซึ่งทราบว่าปลอดภัยและได้ผลทว่าเป็นไปโดยล่าช้า”
แนวทางปฏิบัติของพีเอสเอยังได้เร่งให้เภสัชกรนั้นไม่จ่ายยาปฏิชีวนะซ้ำ หากไม่ตรวจสอบเสียก่อนว่าเหมาะสมหรือไม่
โดยแนวทางปฏิบัติกล่าวว่า ถึงแม้ว่ายาปฏิชีวนะซ้ำนั้นอาจเป็นส่วนหนึ่งของแผนการรักษาภาวะเรื้อรังต่างๆ การใช้ยาอย่างไม่เหมาะสมก็อาจส่งผลให้การติดเชื้อนั้นลุกลาม และยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการดื้อยาปฏิชีวนะ
แนวทางปฏิบัติระบุว่า “ในหลายๆ กรณี ผู้ป่วยนั้นมักจะขอให้มีการจ่ายยาปฏิชีวนะซ้ำโดยไม่มีการปรึกษาหารือกับแพทย์ผู้รักษาของพวกเขาเสียก่อน และบางครั้งก็เป็นระยะเวลายาวนานแล้วหลังจากที่เขียนใบสั่งยาใบแรก”
“หากมีการขอให้มีการจ่ายยาปฏิชีวนะซ้ำ ให้พิจารณาถึงความเหมาะสมทางคลินิกของคำขอ”
ข้อแนะนำอื่นๆ ยังครอบคลุมเกี่ยวกับยานอนหลับรวมถึงยากลุ่มเบนโซไดอะซีพีน (benzodiazepines) และคำเตือนเพื่อให้มีการติดตามผู้คนซึ่งใช้ยาเป็นจำนวนตั้งแต่ห้าขนานขึ้นไป
เรื่องราวที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย
การวิจัยชี้กินวิตามินเสริมไร้ประโยชน์