มีการวิจัยล่าสุดที่พบว่า ชาวออสเตรเลียเกือบครึ่งซึ่งทำงานส่งอาหารตามที่พักอาศัย และขับขี่รถให้บริการร่วมโดยสาร (ridesharing) ผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ กล่าวว่า พวกเขาไม่ทราบว่าตนเองไม่ได้รับสิทธิ์การประกันชดเชยสำหรับคนทำงาน (Workers Compensation Insurance)
จากข่าวการเสียชีวิตของคนทำงานส่งอาหารตามบ้าน 5 คนเมื่อปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นที่จับตาของสังคม ผลสำรวจคนทำงานขับขี่พาหนะให้บริการร่วมโดยสาร และคนทำงานส่งอาหารตามบ้านผ่านแอปพลิเคชัน 250 คน พบว่าร้อยละ 45 ของคนทำงาน ซึ่งเป็นผู้อพยพย้ายถิ่นนั้นไม่ทราบถึงสิทธิ์ที่คนทำงานพึงได้รับ เมื่อเทียบกับคนทำงานที่เป็นชาวออสเตรเลียในอัตราร้อยละ 28 ที่ทราบถึงสิทธิ์เหล่านี้
การวิจัยดังกล่าวได้จัดทำโดย บริษัท คันทาร์ ออสเตรเลีย (Kantar Australia) ในนามของบริษัทด้านกฎหมาย สเลเทอร์ แอนด์ กอร์ดอน (Slater and Gordon) ระหว่างวันที่ 6 ม.ค. – 3 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามคิดเป็นคนทำงานส่งอาหารตามบ้าน 170 คน และคนทำงานขับขี่พาหนะแบบให้บริการร่วมโดยสาร (ridesharing) จำนวน 80 คน
นางแจสมินา แม็กโควิก (Jasmina Mackovic) จากสเลเทอร์ แอนด์ กอร์ดอน กล่าวว่า การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นในหมู่คนทำงานแบบกิ๊ก อีโคโนมี (gig economy) เป็นเรื่องที่ถูกเพิกเฉย เนื่องจากผู้คนเหล่านี้ได้รับการกำหนดว่าเป็นเพียงคู่สัญญา (contractor) ไม่ใช่พนักงาน (employee) ซึ่งหมายความว่าพวกเขาจะไม่สามารถเข้าถึงการชดเชยตามที่ผู้มีสถานะเป็นพนักงานพึงได้รับ
“สำหรับคนที่ทำงานเหล่านี้ การไม่สามารถเข้าถึงการชดเชยสำหรับคนทำงานได้ หมายความว่า คุณจะไม่ได้รับการประกันการสูญเสียรายได้ รวมถึงค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาพยาบาล หรือเงินก้อนในการชดเชยกรณีทุพพลภาพที่เกิดขึ้นจากการบาดเจ็บ หรือหากเจ็บป่วยจนไม่สามารถทำงานได้” นางแม็กโควิก กล่าว
“ดิฉันคิดว่ามีความจำเป็นที่จะต้องให้ความรู้ในส่วนนี้มากขึ้น ว่าการเป็นคนทำงานแบบกิ๊ก อีโคโนมี (gig economy) หมายความว่าอย่างไร โดยเฉพาะในหมู่คนทำงานซึ่งเป็นผู้อพยพย้ายถิ่น ซึ่งมักตกอยู่ในความเสี่ยง”
ด้านสหภาพและผู้ทำงานสนับสนุนได้แสดงความกังวลอย่างต่อเนื่อง ถึงสภาพที่คนทำงานในอุตสาหกรรมดังกล่าวต้องเผชิญ และได้ย้ำถึงเสียงเรียกร้องเพื่อให้มีการกำกับดูแลธุรกิจกิ๊ก อีโคโนมีต่าง ๆ ให้ดีขึ้นกว่านี้ในออสเตรเลีย คนทำงานส่วนมากในธุรกิจแบบกิ๊ก อีโคโนมี จะได้รับการระบุว่าเป็นคู่สัญญาอิสระ ไม่ใช่พนักงาน ซึ่งหมายความว่า พวกเขาจะไม่ได้รับสิทธิ์ในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่คนทำงานทั่วไปพึงได้ อย่างเช่น การประกันค่าแรงขั้นต่ำ การจ่ายเงินสะสมหลังเกษียณ (เงินซูเปอร์) และการชดเชยต่าง ๆ สำหรับคนทำงาน
Around 45 per cent of migrant workers surveyed were in the dark about their lack of insurance rights, compared with 28 per cent of Australian workers. Source: AAP
แม้ว่าจะมีบริษัทบริการรับส่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันบางส่วนที่คุ้มครองคนทำงานในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่มีการกำหนดเป็นข้อบังคับทางกฎหมายเพื่อให้ธุรกิจลักษณะเดียวกันนี้ต้องปฏิบัติ
นางกาเลีย บาเซอร์จี (Garlia Bazerji) อดีตคนขับรถโดยสารร่วมเดินทางกับแอปพลิเคชันอูเบอร์ (Uber) กล่าวกับเอสบีเอส นิวส์ ว่า เธอพบว่าตนเองไม่สามารถทำงานได้ และต้องเผชิญกับค่ารักษาพยาบาลหลังจากที่เธอประสบอุบัติเหตุถูกรถอีกคันหนึ่งชนระหว่างกำลังไปรับผู้โดยสาร เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2018 โดยเธอต้องออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด
คุณแม่พร้อมลูก 4 คนรายนี้กระดูกนิ้วกลางหัก เธอมีอาการบาดเจ็บที่มือทั้งสองข้าง คอ หน้าอก และบริเวณหลัง และมีอาการปวดเต้านม ช่องท้อง และกระดูกเชิงกราน หลังผู้ขับขี่คนหนึ่งขับรถฝ่าไฟแดงพุ่งชนเธอเมื่อกว่า 2 ปีที่ผ่านมา
“มันเป็นอุบัติเหตุที่เลวร้าย และในตอนนั้นฉันตกใจมาก” นางบาเซอร์จีกล่าว
“ดิฉันไม่ทราบเลยเกี่ยวกับการคุ้มครองต่าง ๆ ซึ่งดิฉันไม่ได้รับสิทธิในการเข้าถึงมัน”
“ฉันทำประกันไว้สำหรับรถที่ฉันขับ แต่ฉันไม่เคยคิดถึงการทำประกันสำหรับตัวฉันเลย เพราะฉันเพิ่งมาถึงที่นี่และไม่เคยรู้มาก่อนเลย”
นางบาร์เซอร์จี ซึ่งอพยพย้ายถิ่นมาจากประเทศซีเรียเมื่อปี 2014 กล่าวว่า เธอพยายาม ทำงานกับอูเบอร์ในอีก 5 เดือนต่อมา แต่เนื่องจากสภาพจิตใจถูกกระทบกระเทือนจากอุบัติเหตุในครั้งนั้น ทำให้เธอไม่สามารถทำงานกับอูเบอร์ได้อีก ต่อมาเธอได้พบกับงานใหม่ ซึ่งทำให้เธอสามารถจัดการกับอาการบาดเจ็บที่เธอมีอยู่ได้
นางแม็กโควิก จากสเลเทอร์ แอนด์ กอร์ดอน กล่าวว่า ขณะที่นางบาเซอร์จีได้รับสิทธิประโยชน์บางส่วนจากการประกันภัยบุคคลที่สาม (Compulsory Third Party Insurance หรือ CTP) เนื่องด้วยอาการบาดเจ็บของเธอซึ่งมีความรุนแรง แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะโชคดีอย่างเธอ
“เนื่องจากคนทำงานเหล่านี้ได้รับการกำหนดว่าเป็นคู่สัญญา พวกเขาจะไม่ได้รับการจ่ายค่าชดเชยสำหรับเวลาในการรักษาตัวจากอาการบาดเจ็บ หรือภาวะเจ็บไข้ได้ป่วยโดยอัตโนมัติ และพวกเขายังไม่ได้รับการจ่ายเงินซูเปอร์โดยอัตโนมัติจากนายจ้างอีกด้วย” นางแม็กโควิก กล่าว
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐบาลรัฐนิวเซาท์เวลส์ ได้เปิดเผยร่างกฎหมายเพื่อกำหนดแนวทางที่ดีขึ้นในการคุ้มครองคนทำงานส่งอาหารตามบ้านให้แอปพลิเคชันต่าง ๆ โดยร่างกฎหมายนี้จัดทำขึ้นโดยคณะทำงานร่วมด้านธุรกิจกิ๊ก อีโคโนมี (Gig Economy Joint Taskforce) ซึ่งได้รับการจัดตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา ในการสอบสวนกรณีการบาดเจ็บและเสียชีวิตในหมู่คนทำงานส่งอาหาร
ด้านโฆษก ‘อูเบอร์ อีทส์ (Uber Eats)’ แอปพลิเคชันบริการส่งอาหารตามบ้านรายใหญ่ กล่าวว่า “อูเบอร์ อีทส์ ได้มอบแพ็คเกจสนับสนุนสำหรับคนทำงานส่งอาหาร และพาร์ทเนอร์ขับขี่ในออสเตรเลีย ซึ่งรวมถึงประกันกรณีเกิดอุบัติเหตุหรือได้รับการบาดเจ็บระหว่างกำลังปฏิบัติงาน”
“นอกจากนี้ เรายังได้แนะนำไปยังรัฐบาล เพื่อให้พิจารณากำหนดข้อบังคับทางกฎหมายสำหรับธุรกิจแพลตฟอร์มทั้งหมด ในการมอบการประกันขั้นต่ำสำหรับคนทำงานซึ่งเป็นคู่สัญญาอิสระ เพื่อให้คนทำงานเหล่านั้นได้รับการคุ้มครอง ไม่ว่าพวกเขาจะทำงานให้กับแอปพลิเคชันใดก็ตาม” โฆษกอูเบอร์ กล่าว
ขณะที่โฆษก ‘เดลิเวอร์รู (Deliveroo)’ แอปพลิเคชันส่งอาหารตามบ้านอีกราย กล่าวว่า “เดลิเวอร์รู ได้มอบประกันการบาดเจ็บ และการปกป้องรายได้ส่วนบุคคลสำหรับผู้ขับขี่ทุกคนโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม และสิ่งนี้ได้รับการสื่อสารอย่างชัดเจนในวันเริ่มต้นของสัญญาระหว่างคู่สัญญากับเดลิเวอร์รู”
“เรายังให้ข้อมูลเหล่านี้บนเว็บไซต์สำหรับผู้ขับขี่กับเดลิเวอร์รูในภาษาอังกฤษ ภาษาฮินดี ภาษาโปรตุเกส และภาษาสเปนอีกด้วย” โฆษกเดลิเวอร์รู กล่าว
“ผู้ขับขี่กับเดลิเวอร์รู กล่าวย้ำกับเราว่า นอกเหนือจากที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น พวกเขาต้องการที่จะกำหนดรูปแบบการทำงานด้วยตนเอง และตัดสินใจเองว่าพวกเขาจะทำงานหรือไม่ ทำงานที่ไหน และเมื่อไหร่ ความยืดหยุ่นในระดับนี้เข้ากันได้เฉพาะการประกอบอาชีพด้วยตนเองเท่านั้น ดังนั้น ผู้ขับขี่จึงสามารถทำงานนี้ร่วมกับสิ่งอื่น ๆ ในชีวิตที่ต้องรับผิดชอบได้ เช่น การศึกษา หรือการมอบการดูแล”
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย
โครงการช่วยหญิงผู้ย้ายถิ่นก้าวสู่งานช่าง