การวิจัยจากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ และมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ได้ทำการสำรวจนักศึกษากว่า 2,400 คน เกี่ยวกับประสบการณ์ที่มีต่อที่พักอาศัย
นักศึกษาที่มีอายุตั้งแต่ 17 ปีขึ้นไป ได้รับการสอบถามเกี่ยวกับประสบการณ์ของพวกเขาในตลาดที่พักอาศัย โดย นางบาสซินา ฟาเบนบลัม (Bassina Farbenblum) ผู้ร่วมเขียนงานวิจัย กล่าวว่าปัญหาความแออัดในที่พักอาศัย คือเรื่องที่ได้รับการร้องเรียนอยู่บ่อยครั้ง เธอยังบอกอีกว่า นักศึกษาหลายคนต้องพบเจอกับพฤติกรรมตักตวงผลประโยชน์หลายรูปแบบจากเจ้าของที่พัก
“ตัวอย่างเช่น การจ่ายค่าที่พักที่ไม่เคยมีอยู่จริง หรือแตกต่างจากที่มีการลงโฆษณาทางออนไลน์ไว้มาก หรือแม้กระทั่งเจ้าของบ้านชิงเอาเงินบอนด์ไป คิดค่าเช่าล่วงหน้าในอัตราที่สูงเกินไป ซึ่งทำให้นักศึกษาเหล่านั้นไม่สามารถย้ายออกไปหาที่พักอาศัยที่ปลอดภัยกว่าได้ เนื่องจากจ่ายเงินให้เจ้าของที่พักไปหมดแล้ว” นางฟาเบนบลัมกล่าว
“เจ้าของที่พักบางคนขึ้นค่าเช่าให้สูงขึ้นในช่วงเวลาที่นักเรียนเหล่านั้นกำลังเช่าอาศัย อย่างเช่น ในช่วงสอบ โดยพูดกับนักศึกษาเหล่านั้นว่า ยอมจ่ายค่าเช่าที่ปรับขึ้นหรือไม่ก็ย้ายออกไป เราเห็นการคุกคามและการละเมิดสิทธิ์ ทั้งการเอาผู้เช่าคนอื่น ๆ มาอยู่ด้วยโดยที่ไม่ได้รับความยินยอมจากนักศึกษา รวมถึงการไล่ที่อย่างไม่เป็นธรรม เช่นเดียวกับการแจ้งล่วงหน้าในระยะเวลาที่สั้นมาก”
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
แออัดยิ่งกว่าปลากระป๋อง: ปัญหาห้องเช่านักเรียนไทยในออสเตรเลีย
นางสเตซีย์ เมียร์ส (Stacey Miers) ประธานกรรมการบริหารของศูนย์ที่พักพิงนิวเซาท์เวลส์ (Shelter New South Wales) กล่าวว่า นักศึกษามักตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก เนื่องจากไม่รู้สิทธิ์ของตนเองที่พึงมี
เธอกล่าวว่า ช่องว่างด้านความรู้เรื่องสิทธิ์นั้น จำเป็นจะต้องได้รับการแก้ไขผ่านการจัดกิจกรรมรณรงค์ต่าง ๆ ในหลายภาษา
“ข้อมูลจำนวนมากที่มหาวิทยาลัยเผยแพร่เกี่ยวกับสิทธิ์ที่ผู้เช่าพึงมีในหลายภาษา ส่วนมากเป็นภาษาจีนกลาง ใครสักคนน่าจะคิดว่านักศึกษาจำนวนมากเป็นชาวจีน ดิฉันคิดว่ามันเป็นบทบาทหน้าที่ของสถานศึกษาในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิ์ของตัวนักศึกษาให้มากกว่านี้ อีกทั้งยังสมควรมีการจัดตั้งบริการให้คำปรึกษาสำหรับผู้เช่าที่ทำงานร่วมกับสถานศึกษา เพื่อให้นักศึกษาสามารถรับการสนับสนุนและข้อมูลต่าง ๆ” นางเมียร์สกล่าว
รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์ ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ
ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่
เรื่องราวที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย
ตอบโจทย์คนกิน: หัวใจสินค้าอาหาร