บนถนนที่มีร้านค้าตั้งอยู่มากมายในย่านตะวันตกชั้นในของนครเมลเบิร์น ผู้หญิงกลุ่มหนึ่งกำลังพยายามทำความฝันที่จะมีธุรกิจของตนเองให้เป็นความจริง
ที่ คาซา โบนิตา ศูนย์กลางด้านวัฒนธรรมและการสร้างพลัง ซึ่งตั้งอยู่ท่ามกลางร้านรวงบนถนนในย่านเซดดอน (Seddon) นักธุรกิจหญิง 6 คน กำลังจับกลุ่มกันอยู่รอบโต๊ะที่มีเครื่องประดับสตรี เสื้อผ้าออกกำลังกาย และของแต่งบ้านวางอยู่เต็มไปหมด
พวกเธอกำลังหารือกันอย่างกระตือรือร้นว่า ผลิตภัณฑ์ใดที่จะนำไปจัดตกแต่งในตู้โชว์สินค้าหน้าร้านในช่วงก่อนเทศกาลวันแม่ของออสเตรเลีย และจะจัดวางอย่างไรให้ดึงดูดใจลูกค้า จากนั้น พวกเธอก็แสดงความเห็นกันอย่างมากมายว่า จะจัดผลิตภัณฑ์ลงกล่องหรือใส่ถุงให้ลูกค้าอย่างไรจึงดึงดูดใจได้มากที่สุดในลักษณะของขวัญ
ความร่วมมือกันของผู้หญิงกลุ่มดังกล่าว เป็นจุดประสงค์ที่วิสาหกิจทางสังคมแห่งนี้ก่อตั้งขึ้น รวมทั้ง เพื่อเป็นที่จัดแสดงสินค้าหัตถกรรมและเป็นพื้นที่ให้ผู้คนได้สัมผัสกับวัฒนธรรมลาตินอเมริกา ขณะที่ผู้หญิงผู้ย้ายถิ่นฐานคนอื่นๆ ก็ได้รับเชิญให้ใช้พื้นที่นี้ทำงานและจำหน่ายสินค้าของตนด้วย
คุณ ลิเลียนา บราโว คีรอส รู้ดีว่า ยากลำบากเพียงไรที่จะก่อตั้งธุรกิจขึ้นได้ในประเทศใหม่ที่เพิ่งย้ายไปอยู่เธอมาจากประเทศโคลอมเบีย และมาอยู่ในออสเตรเลียในฐานะนักเรียนต่างชาติ ก่อนจะอยู่ที่นี่ต่อ เนื่องจากอันตรายที่ประเทศบ้านเกิดของเธอ
Social entrepreneur Liliana Bravo Quiroz is supporting other migrant women to realise their business dreams. Source: SBS
คุณคีรอส ที่เป็นทั้งเจ้าของธุรกิจและแม่ผู้นี้ กล่าวว่า เธอต้องฝึกฝนอย่างมากกว่าจะมั่นใจพอที่จะพูดภาษาอังกฤษ พร้อมบอกว่า การสร้างเครือข่ายนั้นใช้เวลา และการไม่มีครอบครัวอยู่ใกล้ๆ ที่จะช่วยดูแลลูกๆ ให้ได้นั้น ท้าทายอย่างมาก เมื่อต้องพยายามทำหลายๆ อย่างในเวลาเดียวกัน
เธอได้ก่อตั้ง โฮลา โบนิตา (Hola Bonita) ซึ่งเป็นแบบจำลองธุรกิจ ซึ่งมีร้านค้าเป็นส่วนหนึ่ง เพื่อช่วยเหลือผู้หญิงผู้ย้ายถิ่นฐานให้มีประสบการณ์ทางธุรกิจ ขณะที่ได้ปรับปรุงทักษะภาษาอังกฤษไปพร้อมกัน
“เราจำเป็นต้องสร้างโอกาสให้กับผู้ที่ไม่มีประสบการณ์เลยในออสเตรเลีย เพราะพวกเธอมีพรสรรค์อย่างมาก” คุณคีรอส บอกกับ เอสบีเอส นิวส์
“พวกเธอสามารถก่อตั้งธุรกิจ ที่สามารถสนับสนุนผู้หญิงคนอื่นๆ ได้ ด้วยการสร้างงาน”
การเป็นพี่เลี้ยงอย่างมีความหมาย
โครงการนำร่องที่ศูนย์ดังกล่าว ได้ช่วยเป็นพี่เลี้ยงและให้คำปรึกษาแก่นักเรียนต่างชาติมาแล้ว 5 คน โดยช่วยให้พวกเธอได้มีประสบการณ์ทางธุรกิจโดยตรง รวมทั้ง การสอนเรื่องการทำธุรกิจออนไลน์ การบริหารจัดการสินค้าคงคลัง การตกแต่งร้าน การจัดวางสินค้าให้ดึงดูดใจ และการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า
สิ่งเหล่านี้ได้ช่วยให้คุณเบรนดา กิล ผู้ร่วมโครงการชาวโคลอมเบีย มีความมั่นใจที่จะพัฒนาธุรกิจขายต้นไม้และกระถางต้นไม้ที่ทำด้วยมือ ในสวนด้านหลังของศูนย์ ซึ่งเรียกว่า เอล บอสเค โบตานิโก (El Boske Botanico)“ฉันได้เรียนรู้ว่าจะก่อตั้งธุรกิจของตนเองได้อย่างไร จะบริหารสินค้าคงคลังได้อย่างไร และเรื่องอื่นๆ ทุกอย่างที่จำเป็นต้องทำสำหรับธุรกิจ” คุณกิล กล่าว “ลิเลียนาสอนฉันในเรื่องเหล่านั้น”
Mentoring gave international student Brenda Gil the confidence to pursue her business idea. Source: SBS
“นั่นทำให้ฉันพร้อม เมื่อมีโอกาสให้ที่นี้ ให้ฉันได้ก่อตั้งธุรกิจของตนเอง”
คุณกิลกำลังเรียนการนวดเพื่อรักษา และหวังความในอนาคตจะสามารถนำทักษะด้านนี้ของเธอและความรักในธรรมชาติมารวมเป็นธุรกิจได้
การเช่าพื้นที่เล็กๆ ที่ค่าเช่าไม่แพงในศูนย์แห่งนี้ ยังได้ช่วยให้ ริดทิมา ซาชเดวา ที่เกิดในอินเดีย สามารถทดสอบตลาดเกี่ยวกับสินค้าของเธอได้ และช่วยให้เธอสามารถปรับธุรกิจให้เข้ากับตลาดในออสเตรเลีย ก่อนตัดสินใจหาพื้นที่ทำธุรกิจอย่างถาวร
“คุณจำเป็นต้องเข้าใจตลาด มันแตกต่างอย่างมากจากที่ที่คุณจากมา” คุณซาชเดวา เจ้าของธุรกิจ เฮเมรา แล็บ (Hemera Labs) ที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์งานปักผ้าทำมือ กล่าวคุณซาชเดวา เรียนการปักผ้ามาจากสถาบัน โรยัล สกูล ออฟ นีดเดิลเวิร์ก (Royal School of Needlework) ในกรุงลอนดอน และได้เคยก่อตั้งธุรกิจออกแบบรองเท้าในประเทศอังกฤษ เธอจึงเข้าใจดีถึงกระแสความนิยมของตลาดในยุโรปและเอเชีย แต่เมื่อย้ายมาอยู่ในออสเตรเลียเมื่อสองปีก่อน เธอตั้งเริ่มใหม่หมด
Ridhima Sachdeva has business experience in Europe and India, but says she had to start from scratch in Australia. Source: SBS
“ฉันไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับเรื่องพื้นฐาน ระบบบัญชีเป็นอย่างไร ซึ่งความจริงมันแตกต่างอย่างมาก สุนทรียภาพด้านการออกแบบที่นี่ในออสเตรเลียเป็นอย่างไร”
“นั่นจึงเป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญที่ฉันต้องค้นหาข้อมูล เมื่อฉันย้ายมาอยู่ที่นี่”
ผ่านการกิจกรรมและการสร้างเครือข่ายต่างๆ ที่ศูนย์แห่งนี้ เธอจึงได้เรียนรู้ว่า ผู้บริโภคชื่นชอบผ้าพันคอที่ทำจากผ้าไหมอย่างมาก ดังนั้น เธอจึงค่อยๆ เพิ่มผ้าพันคอผ้าไหมลงในคลังสินค้าเพื่อจำหน่ายของเธอ
อุปสรรคในการเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneurship)
ไม่แปลกที่ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ย้ายถิ่นฐานและผู้ลี้ภัยจะเผชิญกับความท้าทายต่างๆ อุปสรรคด้านภาษาและการขาดเครือข่ายมักเป็นปัจจัยที่สำคัญ
นอกจากนี้ การขาดการยอมรับด้านคุณวุฒิจากต่างประเทศ รวมทั้ง มีประสบการณ์จำกัดด้านระบบการจัดเก็บภาษีและระบบบัญชีของออสเตรเลีย อีกทั้ง ระเบียบกฎเกณฑ์ของอุตสาหกรรม ทั้งหมดนี้สามารถส่งผลกระทบได้
การถูกเลือกปฏิบัติเพราะเชื้อชาติและศาสนา ยังสามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน
แต่เจ้าของธุรกิจที่เป็นผู้ย้ายถิ่นฐานมักก่อตั้งธุรกิจของตนเอง เพราะพวกเขาไม่สามารถหางานอื่นทั่วๆ ไปได้ จากรายงานด้านธุรกิจขนาดเล็กของผู้ย้ายถิ่นฐาน ของซีจียู (CGU's Migrant Small Business Report)
รศ.อะฟรีน ฮัค (Afreen Huq) จากโครงการปริญญาตรีด้านผู้ประกอบการทางธุรกิจ ของมหาวิทยาลัย อาร์เอ็มไอที กล่าวว่า “ความท้าทายที่ผู้ประกอบการที่เป็นหญิงผู้ย้ายถิ่นฐานและผู้ลี้ภัยต้องเผชิญนั้น แตกต่าง หรืออาจจะมากกว่าผู้ประกอบการผู้ย้ายที่มีภูมิหลังเดียวกัน”“ผู้หญิงต้องรับสองบทบาทควบคู่กันไป เหมือนกับการยืนสองขาบนโลกสองใบ”
RMIT Associate Professor Afreen Huq says female migrants starting businesses face different barriers to their male counterparts. Source: SBS
“พวกเธอนำความคาดหวังทางวัฒนธรรมและบรรทัดฐานเกี่ยวกับเพศชายและหญิงติดตัวมาด้วยตั้งแต่เกิดและเติบโตขึ้นมา และถูกคาดหวังให้ต้องปฏิบัติตาม”
สำหรับผู้หญิงบางคน “พวกเธอมีภาระของการเป็นผู้ดูแลหลักสำหรับลูกๆ และผู้สูงอายุ และขณะเดียวกัน ยังต้องช่วยเหลือครอบครัวด้วยการหารายได้เสริมด้วย”
การช่วยโอบอุ้มผู้มีความสามารถ
คุณลุซ เรสเทรโป ผู้ย้ายถิ่นฐานชาวโคลอมเบีย กำลังช่วยแก้ไขปัญหานี้ ระหว่างการล็อกดาวน์ช่วยการระบาดอย่างหนักของเชื้อโควิด-19 ในรัฐวิกตอเรียเมื่อปีที่แล้ว เธอได้ร่วมก่อตั้งวิสาหกิจทางสังคม ที่ใช้ชื่อโครงการว่า ไมแกรนต์ วีแมน อิน บิซิเนส (สตรีผู้ย้ายถิ่นในธุรกิจ )
“มีช่องว่างในตลาดสำหรับการสนับสนุนหญิงผู้ประกอบการที่เป็นผู้ย้ายถิ่นฐานให้ก้าวหน้าและขยายธุรกิจของพวกเธอได้” คุณเรสเทรโป กล่าว
โครงการนี้เป็นกระบอกเสียงให้มีโอกาสมากขึ้นสำหรับหญิงผู้ย้ายถิ่นฐานในการก่อตั้งธุรกิจของตนเอง และช่วยให้พวกเธอสามารถทำความคิดริเริ่มที่มีให้เป็นจริงขึ้นมาได้หนึ่งในความพยายามแรกๆ ของโครงการคือ การก่อตั้งตลาดออนไลน์ ที่ใช้ชื่อว่า เมด บาย แมนี แฮนด์ (Made by Many Hands) ซึ่งเป็นพื้นที่ขายสินค้าออนไลน์จากธุรกิจที่ดำเนินการโดยผู้หญิงผู้ย้ายถิ่นฐานโดยเฉพาะ
Co-founder of Migrant Women in Business Luz Restrepo at the family run business Trio Syrian Cuisine with refugees Joumana Charaf and Akram Abou Hamdan. Source: SBS
“มันได้รับการออกแบบมาให้ใช้ง่ายสำหรับผู้มีทักษะด้านดิจิทัลและทักษะด้านการอ่านเขียนจำกัด เพื่อให้พวกเธอสามารถจัดแสดงสินค้าและบริการของตนได้” คุณเรสเทรโป กล่าว
“เรายังได้มีบริการเฮล์ปเดสก์ (Helpdesk คือบริการตอบคำถามและแก้ไขปัญหาสำหรับผู้ใช้งานระบบ) เพื่อช่วยให้ผู้หญิงเหล่านั้นสามารถดูแลร้านค้าออนไลน์ของตนเองได้”
ร้อยละ 85 ของรายได้จากการขายสินค้าจะไปยังผู้ขายทันที ส่วนที่เหลือร้อยละ 15 จะไปยังโครงการ ไมแกรนต์ วีแมน อิน บิซิเนส (สตรีผู้ย้ายถิ่นในธุรกิจ ) สำหรับการปรับปรุงแพลตฟอร์มออนไลน์
เมื่อตลาดออนไลน์แห่งนี้ตั้งตัวได้อย่างมั่นคงแล้ว กำไรจากแพลตฟอร์มจะถูกนำไปใช้เพื่อเป็นทุนสำหรับโครงการพัฒนาทักษะต่างๆ และพัฒนาความสามารถในการอ่านเขียนและคิดเลข เพื่อช่วยให้ผู้หญิงผู้ย้ายถิ่นฐาน สามารถกลายเป็นผู้ประกอบการที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาใครได้
“พวกเราไม่ใช่ผู้ที่เปราะบาง” คุณเรสเทรโป กล่าว “พวกเราสามารถฟื้นตัวจากวิกฤตได้ดี พวกเรากล้าหาญ มีไหวพริบ และชาญฉลาด ซึ่งพวกเราเพียงต้องการโอกาสเรียนรู้ เพื่อหาหนทางในสภาพแวดล้อมใหม่เท่านั้น”
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
โครงการช่วยหญิงผู้ย้ายถิ่นก้าวสู่งานช่าง
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจจากเอสบีเอส ไทย
ถอดรหัสออสซีสแลง