ฤดูที่นกแม็กพายบินโฉบลงมาจิกคนมาถึงแล้ว ทำอย่างไรจะปลอดภัย

ฤดูกาลที่นกแม็กพาย (magpie หรือนกสาลิกาปากดำ) บินโฉบลงมาจิกผู้คนมาถึงแล้ว นี่คือคำอธิบายว่าเมื่อไรและทำไมพวกมันจึงบินโฉบลงมาจิกคน และเราจะหลีกเลี่ยงอย่างไร

A magpie swoops on a cyclist.

ในกรณีส่วนใหญ่ การบินโฉบลงมาจิกเกิดขึ้นเมื่อคนหรือสัตว์ที่เดินผ่านถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อลูกนกแม็กพายหรือต่อไข่ของพวกมัน Source: AAP / Supplied

ระวัง ขณะนี้เป็นฤดูทำรังของนกแม็กพาย (magpie หรือสาลิกาปากดำ) และเชื่อกันว่านกแม็กพายที่ ‘ขึ้นชื่อว่าชอบบินโฉบลงมาจิกคน’ นั้น ฉลาดมาก พวกมันสามารถจำหน้าคนได้ด้วย

คุณ คาร์ล ฮิลยาร์ด นักนิเวศวิทยาของกรมสิ่งแวดล้อมและน้ำแห่งรัฐเซาท์ออสเตรเลีย กล่าวว่า คนที่เคยถูกนกแม็กพายโฉบลงมาจิกมาก่อนมีแนวโน้มว่าจะตกเป็นเป้าอีกครั้ง เนื่องจากนกแม็กพายจะกลับไปยังพื้นที่เดิมทุกปีเพื่อผสมพันธุ์

ขณะที่คุณเบ็น แอชตัน นักนิเวศวิทยาเชิงพฤติกรรมแห่งมหาวิทยาลัยแมคควารี กล่าวว่า พฤติกรรมดังกล่าวของนกแม็กพายอาจดูเหมือนจงใจเป็นพิเศษด้วยซ้ำ

“นกแม็กพายขึ้นชื่อที่สุดว่าชอบบินโฉบลงมาจิกคน และอาจพุ่งเป้าไปที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งอย่างต่อเนื่องโดยไม่สนใจคนอื่น” คุณแอชตันกล่าว

แต่นักนิเวศวิทยาทั้งสองเห็นพ้องต้องกันว่าการโจมตีของนกแม็กพายนั้นไม่ใช่เพราะพวกมันประสงค์ร้าย แต่นกเหล่านี้พยายามปกป้องรังหรือลูกของมันอย่างแข็งขัน

“และไม่ใช่แค่มนุษย์เท่านั้นที่โดนนกแม็กพายบินโฉบลงมาจิก” คุณแอชตันกล่าว

"นกสายพันธุ์อื่น ๆ เช่น กา และสัตว์อื่น ๆ เช่น สุนัข ก็โดนพวกมันบินโฉบลงมาจิกเช่นกัน"
A magpie.
นกแม็กพายที่ปกป้องรังของพวกมันเป็นหนึ่งในอันตรายช่วงฤดูใบไม้ผลิในกรุงแคนเบอร์รา Source: AAP / Alan Porritt

เมื่อใดคือฤดูกาลที่นกแม็กพายบินโฉบลงมาจิกคน และเหตุใดพวกมันถึงโจมตี?

ในกรณีส่วนใหญ่ การบินโฉบลงมาจิกเกิดขึ้นเมื่อคนหรือสัตว์ที่เดินผ่านถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อลูกนกแม็กพายหรือต่อไข่ของพวกมัน

นี่เป็นช่วงเวลาที่นกแม็กพายมีความเปราะบางมากที่สุด และเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงมีการชี้ว่า การบินโฉบลงมาจิกเป็นหนึ่งในมาตรการปรับตัวของนกแม็กพายเพื่อรับมือกับสัตว์ที่เป็นผู้ล่า

ฤดูผสมพันธุ์ของนกแม็กพายเริ่มตั้งแต่ประมาณเดือนสิงหาคม-ตุลาคม

โดยปกติแล้วนกแม็กพายตัวเมียจะวางไข่ระหว่าง 3-5 ฟองก่อนจะนั่งกกไข่ประมาณสามสัปดาห์จนกว่าไข่จะฟักเป็นตัว

“ในช่วงเวลานี้ นกแม็กพายตัวผู้จะทำหน้าที่เป็นผู้คุ้มครอง โดยบางตัวใช้การบินโฉบลงมาจิกเพื่อปกป้องรังของพวกมัน” คุณฮิลยาร์ดกล่าว
ในช่วงเวลานี้ นกแม็กพายตัวผู้จะทำหน้าที่เป็นผู้คุ้มครอง โดยบางตัวใช้การบินโฉบลงมาจิกเพื่อปกป้องรังของพวกมัน
คาร์ล ฮิลยาร์ด นักนิเวศวิทยา กรมสิ่งแวดล้อมและน้ำ เซาท์ออสเตรเลีย
“พวกมันจะทำเช่นนี้ตั้งแต่วางไข่จนกระทั่งลูกนกพร้อมที่จะบิน ซึ่งปกติแล้วประมาณ 4-5 สัปดาห์หลังจากไข่ฟักออกมาเป็นตัว”
An eagle gets attacked by a magpie.
นกอินทรีย์ตัวหนึ่งถูกนกแม็กพายพันธุ์พื้นเมืองของออสเตรเลียตัวหนึ่งไล่จิก Source: AAP / Dean Lewins

จะหลีกเลี่ยงการถูกนกแม็กพายโจมตีได้อย่างไร?

การเปลี่ยนเส้นทางถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการหลีกเลี่ยงการถูกนกแม็กพายบินโฉบลงมาจิก โดยนกแม็กพายจะปกป้องพื้นที่ภายในระยะ 100 เมตรจากรังของมันเท่านั้น

แต่ก็ยังมีกลยุทธ์อื่น ๆ ด้วย

ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้เดินหนีมากกว่าวิ่งหนี หรือสวมแว่นกันแดดที่ด้านหลังศีรษะหรือสวมหมวกที่ติดรูปดวงตาหนึ่งคู่ไว้ด้านหลังของหมวก

อีกวิธีคือสวมหมวกกันน็อกสำหรับจักรยานหรือถือร่มที่กางออก

คุณฮิลยาร์ดกล่าวว่าเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องไม่แสดงท่าทางก้าวร้าว

“ถ้าคุณโบกมือหรือตะโกน นกแม็กพายจะมองว่าคุณเป็นภัยคุกคามต่อรังของพวกมัน ไม่ใช่แค่ปีนี้เท่านั้น แต่อาจเป็นแบบนี้ไปอีกหลายปีทีเดียว” คุณฮิลยาร์ดกล่าว
ถ้าคุณโบกมือหรือตะโกน นกแม็กพายจะมองว่าคุณเป็นภัยคุกคามต่อรังของพวกมัน ไม่ใช่แค่ปีนี้เท่านั้น แต่อาจจะหลายปี
คาร์ล ฮิลยาร์ด นักนิเวศวิทยา กรมสิ่งแวดล้อมและน้ำ เซาท์ออสเตรเลีย
ในขณะที่ดูเหมือนว่าเราทุกคนกำลังถูกนกแม็กพายโจมตี แต่ในความเป็นจริงแล้วคุณแอชตันกล่าวว่า มีนกแม็กพาย 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่บินโฉบลงมาจิกผู้คน

เขากล่าวว่า ใน 10 ปีของการวิจัยนกแม็กพาย เขาไม่เคยตกเป็นเป้าถูกพวกมันโจมตีเลย
A man extends his hand toward a magpie.
คุณเบ็น แอชตัน นักนิเวศวิทยาจากมหาวิทยาลัยแมคควารี กำลังศึกษาพฤติกรรมของนกแม็กพาย Credit: Supplied

นกแม็กพายฉลาดแค่ไหน?

ในโครงการวิจัยของเขานั้น คุณแอชตันใช้นกแม็กพาย หรือนกสาลิกาปากดำ เป็นสายพันธุ์ที่เขาศึกษาเพื่อตอบคำถามที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับความรู้ความเข้าใจเรื่องวิวัฒนาการทางความคิด

"หนึ่งในสมมติฐานหลักสำหรับวิวัฒนาการด้านสติปัญญาคาดการณ์ว่า ความท้าทายในการใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ซับซ้อนนั้น คัดสรรให้เกิดความฉลาดที่มากขึ้น" คุณแอชตันกล่าว

"สอดคล้องกับประเด็นนี้ เพื่อนร่วมงานของผมและผมพบความสัมพันธ์กันระหว่างขนาดกลุ่มกับความสามารถทางสติปัญญาของนกแม็กพาย”

"เราพบว่านกแม็กพายที่อาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ทำผลงานได้ดีกว่าในการทดสอบด้านความสามารถทางสติปัญญา"
ขณะนี้พวกเขากำลังดำเนินการทดลองเพิ่มเติมเพื่อพิจารณาว่าอะไรที่ขับเคลื่อนความสัมพันธ์กันระหว่างขนาดกลุ่มกับความสามารถทางสติปัญญาที่ว่านี้

"ตัวอย่างเช่น เรากำลังใช้การวิเคราะห์เครือข่ายทางสังคมเพื่อดูว่าจำนวนและความแข็งแกร่งของความสัมพันธ์ทางสังคมเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนการพัฒนาทางความคิดหรือไม่" คุณแอชตันกล่าว

"นอกจากนี้ เรากำลังศึกษาด้านการชราภาพทางปัญญา หรือการเสื่อมถอยด้านความสามารถทางสติปัญญาอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามอายุ"

การชราภาพทางปัญญามีการศึกษาไว้เป็นอย่างดีในมนุษย์ แต่ส่วนใหญ่ไม่มีการศึกษาวิจัยในสัตว์ป่า

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Published 21 August 2023 1:42pm
Updated 1 September 2023 12:27pm
By SBS News
Presented by Parisuth Sodsai
Source: AAP


Share this with family and friends